เมื่อยักษ์ใหญ่ 2 ธนาคารคือ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับสังคมรุ่นใหม่ไร้เงินสด ดิจิทัลแบงก์กิ้ง
กสิกรไทยประกาศแผน 3 ปี ดันให้กลายเป็นธนาคารที่ใช้ดาต้า เป็นกลไกหลักในการบริหารธนาคารทำสินเชื่อให้ตรงใจผู้กู้หรือเทเลอร์เมด กันเลยทีเดียว เน้นให้ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อยมากขึ้น ตอบโจทย์ให้ตรงใจ สร้างทีม กรรมการผู้จัดการใหญ่ 5 คน คุมกันคนละหัวเรือ
“ปรีดี ดาวฉาย” คุมภาพรวมทั้งหมด
“ขัตติยา อินทรวิชัย” คุมแผนเทคโนโลยีทั้งหมด นำเทคโนโลยีผสมกับดาต้า
“พิพิธ เอนกนิธิ” คุมการให้บริการขยายไปยังซีแอลเอ็มอีรวมถึงจีน คิดการณ์ใหญ่ไปนอกประเทศ
“พัชร สมะลาภา” คุมสินเชื่อเอสเอ็มอี ผ่านแพลตฟอร์ม เค-พลัส ที่คุยว่าทันสมัยมีผู้เข้าร่วมใช้บริการมากที่สุดในระบบธนาคารด้วยกัน
“เรืองโรจน์ พูนผล” หรือ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ คุมภารกิจของเคบีทีจี
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ภาระกิจของทั้ง 5 คน จะไม่ประสบความสำเร็จได้เลย หากไม่มี “บัณฑูร ล่ำซำ” ที่ยังคุมบังเหียนและชี้เป็นชี้ตายกับธนาคารนี้
ฉะนั้น การจะมีกรรมการผู้จัดการถึง 5 คนของ กสิกรไทย ก็ไม่สำคัญเท่ากับมี “บัณฑูร ล่ำซำ” มันสมองอันปราชญ์เปรื่องเพียงคนเดียวที่คุมพนักงานกว่า 3 หมื่นชีวิตได้ทั้งหมด
ขณะที่ ไทยพาณิชย์ ประกาศเดือนนี้เช่นกัน ตั้ง “อารักษ์ สุธีวงศ์, สารัชต์ รัตนาภรณ์, อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ และ อรพงศ์ เทียนเงิน” นั่งแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ 4 บวก 1 คือ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตำแหน่งเดียวและสละเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ให้ทั้ง 4 คน เพื่อทลายกำแพงงานระหว่างกัน
ทำให้องค์กรเป็นหนึ่งเดียว ไซโลในการบริหารงานที่มีอยู่ต้องหมด หวังจะเพิ่มบริการด้านดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้น ตอบโจทย์ให้ตรงใจลูกค้ากับคนรุ่นใหม่ แต่ “อาทิตย์” ยังมีโจทย์ของคณะกรรมการธนาคารและวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการ จูน ความเห็นไปในทางเดียวกัน
องค์กรที่มีคนรุ่นใหม่แต่วัฒนธรรมแบบเก่าๆ คณะกรรมการที่ต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับกันได้อย่างรวดเร็วและเดินไปพร้อมกัน แม้จะมีเป้าหมายเดียวคือ แย่งชิงลูกค้า เปลี่ยนรูปแบบบริการเป็นดิจิทัลใช้ดาต้าเป็นข้อมูลในการให้บริการ
ขณะที่แบงก์ใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ กลายเป็นแบงก์ที่แทบไม่ขยับตัว ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับ “ชาติศิริ โสภณพนิช” ตัดสินใจเพียงคนเดียว เสียงที่ยังคงค่อยๆเปลี่ยนแปลงและเชื่อในวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องกระชับความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับลูกค้า
ขณะที่สังคมไทยแม้คนรุ่นใหม่ จะมีบทบาทสำคัญ แต่ต้องคำนึงว่าคนรุ่นใหม่ หาง่ายใช้ง่าย ไม่คำนึงถึงระยะยาว ความมั่นคงทางชีวิตน้อย หลงใหลชีวิตไปกับความฟุ้งเฟ้อ
เห็นได้จากสินเชื่อบุคคล ของระบบที่เติบโตขึ้นร้อยละ 8.4 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 12.34 ล้านล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2561 (ข้อมูลจาก สศช.)
แค่คิดตาม แล้ว น่าจะเสีย มากกว่าได้!
โดย..คนข้างนอก