“ค่าคอมมิชชั่น การจัดซื้อเครื่องบินคืออะไร ผมไม่รู้ เพราะผมไม่เคยมีความรู้เรื่องธุรกิจการบิน ชีวิตของผมที่ผ่านมาคือ เรื่องการจัดการด้านการเงิน และที่รู้ตอนนี้คือ การบินไทยไม่มีเครื่องบินที่จะสามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ ได้อีก ซึ่งธุรกิจนี้กำลังไปได้สวย“
คำตอกย้ำของ “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” กรรมการผู้อำนวยการบริษัทการบินไทย หรือดีดีการบินไทย ที่ตัดสินใจเข้ามาแก้ปัญหาของการบินไทย ได้ 5 เดือนกว่าๆ
58 ปีของการบินไทย ประสบปัญหามาโดยตลอด แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง และปัญหาหลักในระยะหลังๆ คือการขาดทุน ที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันที่ขึ้นๆ ลงๆ และอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่ธุรกิจการบินนั้น พบว่า เคบินแฟกเตอร์ หรือการใช้เครื่องบินอยู่ในระดับ 80% เท่ากับสายการบินอื่น ต้นทุนการบินก็ไม่แตกต่างกัน และยังมีเครื่องบินเก่าที่ใช้บินประจำฝูงบินที่มีอายุการใช้งานเกินกำลังไปแล้วเกือบ 30 ลำ จึงจำเป็นต้องซื้อทดแทนเครื่องบินเดิม และขอซื้อเพิ่มอีก 7-9 ลำ
จึงกลายเป็นข้อสงสัยว่า ทำไมการบินไทยถึงต้องเร่งแผนการจัดซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ขนาดนี้ และยังถูกสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ตั้งข้อสังเกตุว่า มากจนเกินไป จาก 23 ลำก่อนหน้ากลายเป็น 38 ลำ หนำซ้ำยังเป็นช่วงปลายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใกล้กับช่วงเทศกาลเลือกตั้ง
จึงมีคำถามว่า “มัดมือชก” เพื่อไม่ให้รัฐบาลหน้าจัดการ เพราะมีคำนิยมกันว่า เมื่อมีการจัดซื้อเครื่องบิน มักจะมี ”เงินทอน” จากนายหน้า ให้กับผู้มีอำนาจได้ติดกระเป๋ากันคราวละมากๆ การซื้อบินใหม่ 38 ลำ จำนวนค่า ”เงินทอน” จึงย่อมสูงตามไปด้วย
ภาระกิจของ ”สุเมธ” นอกเหนือจากการจัดหาเครื่องบิน เพื่อรองรับการเติบโตของการบินไทย ผลัดเปลี่ยนเครื่องบินที่เริ่มล้าสมัย เพิ่มเส้นทางการบินให้กับบริษัทเพื่อให้คงตำแหน่งสายการบินแห่งชาติ ของคนไทยแล้ว
การทำกำไรเก็บเล็กผสมน้อยก็ต้องทำด้วย การปรับปรุงคุณภาพอาหาร เพื่อให้อาหารไทยของสายการบินไทยสายการบินแห่งชาติ ก็เป็นภาระกิจอีกอย่างที่ต้องดำเนินการ อาหารไทยจะต้องอร่อยเมื่อขึ้นเครื่องการบินไทยตามรสนิยมของคนไทยที่ใช้การบินไทยเป็นสายการบินหลัก อาหารไทยต้องขึ้นชื่อ พร้อมกับทำรายได้จากการทำอาหารไทย ทั้งเพิ่มปริมาณและคุณภาพของครัวการบินไทย ที่ปัจจุบันต้องผลิตอาหารถึง 8 หมี่นยูนิต รองรับการบินไทยและสายการบินอื่นด้วย
แต่ต่อไปนี้ ครัวการบินไทย จะต้องพร้อมเสิรฟ์อาหารไทยรสชาดไทยๆ ให้กับสายการบินอื่น นอกเหนือจากที่ต้องแวะมาจอดเครื่องที่การบินไทย นั่นคือใช้โรงครัวในต่างประเทศ รับผลิตอาหารไทยให้สายการบินอื่นๆ หารายได้จากการขายสินค้าออน์ไลน์
ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะนี้ในเรื่องของเครื่องบินคือนำเครื่องบินของสายการบินไทยสมายล์ จัดกรุ๊ปปิ้งใหม่ ทำให้การบินไทยและไทยสมายล์ มีเครื่องบินรวมกัน 100 ลำ ให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่
“คอมมิชชั่น ค่าเครื่องบินคืออะไร ผมไม่รู้ เพราะจนถึงทุกวันนี้ผมยังแยกไม่ออกเลยว่า เครื่องบินแต่ละเครื่องเป็นยี่ห้ออะไร“
รู้เพียงแต่ว่า จะต้องจัดหาเครื่องบินมาเพิ่มการบินเพื่อทำกำไรให้การบินไทย เพราะแม้ขนาดไม่ลดค่าตั๋วโดยสาร การใช้เครื่องบินก็ยังใช้ถึง 80% แล้ว
และถึงแม้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อนุมัติหลักการผ่าน ครม. กว่ากระบวนการจะเกิดขึ้นเพื่อตัดสินใจ ต้องผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่เดือนเมษายนนี้ และกว่าจะทำกระบวนการจัดหา เปรียบเทียบราคา ว่าจ้าง ก็อีก 5 เดือน
ตอนนั้นใครมาเป็นรัฐบาล ก็ยังคาดเดาไม่ได้ แต่ที่เห็นแน่ๆ คือการบินไทย จะต้องทำให้กลับมาล้างขาดทุนสะสม และกลับมาอีกกำไรอีกครั้งโดยพนักงานทั้งกว่า 2 หมื่นคน จะต้องอยู่ด้วยกัน
โดย..คนข้างนอก