เหลืออีก 2 เดือนกว่าๆ ภาระกิจหลักของ “รพี สุจริตกุล”ในฐานะผู้กำหนดนโยบายแนวทาง การปฎิบัติงานและการวางยุทธศาสตร์ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. ก็หมดลง ด้วยคำว่า “MISSION COMPLETE”
ตลอดระยะเวลาของการทำงาน “รพี” พยายามปรับโครงสร้างองค์กรภายในของก.ล.ต.ให้สอดรับกับสถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทุกวัน ทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่มีความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน คนของก.ล.ต. จะต้องรู้สถานการณ์ของภาคเอกชนที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว การทำงานจึงต้องสอดประสานกัน
ที่สำคัญการทำงานจะต้องได้รับการยอมรับจากองค์กรภายนอก โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน รายย่อยและต่างชาติรวมถึงกองทุน ทุกอย่างจะต้องได้รับการปฎิบัติกันอย่างเท่าเทียม การรับฟังความคิดเห็นหรือ HEARING จึงเป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.ทำบ่อยมากเพื่อเปิดโอกาสให้ข่าวสารถูกแพร่กระจาย ความเห็นขัดแย้งหรือ เห็นด้วยจะได้ถูกสรุปเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อทำให้ทุกกระบวนการเกิดการวิเคราะห์ และตัดสินใจวางกฎกติการ่วมกัน
นอกเหนือจากการพยายามปรับองค์กรภายในให้มีความทันสมัยแล้ว จะเห็นได้ว่า ในช่วง “รพี” กระบวนการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นถูกปรับมาใช้ หลายครั้ง เจ้าของกิจการ นักลงทุน ทั้งรายย่อย รายใหญ่ ผู้แนะนำการลงทุน จะถูกลงโทษที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
เคส ใหญ่ๆ สมัย”รพี”มีตั้งแต่ “มิลค์ คอน/เอเจ/แม็คโคร/ไอแฟค”และที่อื้อฉาวมากที่สุดคือกรณีของ นายแพทย์ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” และบุตรสาว ที่สร้างราคาหุ้นของบางกอกแอร์เวย์หรือบีเอ เหตุเกิดในช่วงปี 58-59
คนระดับ “หมอเสริฐ”เศรษฐีหุ้นติดอันดับต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 3 ปี และลูกสาว ต้องถูกปรับเกือบ 500 ล้านบาทหลายคนคิดว่าจะสู้ แต่แล้วก็ยอมเสียค่าปรับเป็นเงิน และถูกติดแบล็คลิสต์ เรียกว่า “เสียคนตอนแก่”
เรื่องมันเกิดชัดมาก เห็นได้ว่า มีการซื้อขายระหว่างบุคคลทั้งสองในเวลาเดียวกัน มันทำให้คิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่า “ปั่นหุ้น” ทาง ก.ล.ต.ก็ให้บุคคลทั้งสองชี้แจง เป็นลายลักษณ์อักษร ให้แก้ข้อกล่าวหาทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็จำนนด้วยหลักฐานและยอมเสียค่าปรับ
นอกจากการสร้างองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว การเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น การยกระดับมาตรฐานะของก.ล.ต.ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกทางการเงิน
“รพี”ยังเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด และสม่ำเสมอ เค้าใช้เงิน 20 % ของเงินเดือนลงทุนในกองทุนโดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นคนดำเนินการ เพราะเห็นว่า เป็นแนวทางในการสะสมเงินที่มั่นคงและมั่งคั่งให้กับอนาคต ยามต้องใช้เงิน
ด้วยวัย 58 ในขณะนี้ ยังเหลือเวลาอีก 2 ปีในการทำงานก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ตัดสินใจว่า จะทำอะไรต่อไป เพราะตำแหน่งเลขา ก.ล.ต.ถูกกำหนดว่า จะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีคำตอบในใจว่า “อนาคต” จะเป็นเช่นไร.
โดย..คนข้างนอก