กำลังเป็น Talk of the Town กับ "ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2561 ก่อนนำเสนอสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) ให้ความเห็นชอบในวาระแรกไปแบบ "ม้วนเดียวจบ" ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการ 17 คนขึ้นพิจารณาในวาระที่ 2-3 ทีโดยมี นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นประธานโดยมีเป้าหมายที่จะทำคลอดร่างกฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้
แต่ล่าสุดนัยว่า กำลังมีความพยายามเดินเกม เพื่อนำร่างกฎหมายฉบับนี้ซิ่งปาดหน้ากฎหมายฉบับอื่น ๆ เพื่อเร่งทำคลอดออกมาให้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จนก่อให้เกิดคำถาม ร่างกฎหมายจัดตั้งสภาดิจิทัลน้ัน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดประการใดหรือถึงต้องซิ่งปาดหน้า จะต้องเร่งทำคลอดกันให้ได้ถึงขนาดนี้
ย้อนรอยที่มาของสภาดิจิทัลฯ
ในร่างกฎหมายที่ ครม.ให้ความเห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2561 ก่อนนำเสนอขึ้นไปยัง สนช.นั้น ระบุว่าเพื่อให้องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมไอทีที่เกี่ยวข้อง ที่จะเข้ามาพลิกโฉมหน้าประเทศไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ กรุยทางให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และน่าจะทำให้สภาดิจิทัลฯ มีบทบาททัดเทียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
แต่เมื่อสาวลึกถึงที่มาของการผลักดันสภาดิจิทัลฯนี้ ที่มาจากการผลักดันอย่างสุดลิ่มของกลุ่มทุนยักษ์ที่กำลังรุกคืบยึดหัวหาด ผูกขาดธุรกิจต่างๆของประเทศตั้งแต่ปศุสัตว์ไปยันรถไฟความเร็วสูง! ทำให้หลายฝ่ายเริ่มไม่แน่ใจสภาดิจิทัลฯแห่งนี้กำลังจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสภาอะไรกันแน่?
เมื่อย้อนรอยถึงที่มาของ ร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับนี้ที่ถูกยกร่างขึ้นมาโดย “สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย” (TFIT) ซึ่งมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ อดีตประธานสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเป็นประธาน โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มิถุยายน 61 สมาพันธ์ฯ ได้จัดพิธีลงนามในปฏิญญาจัดตั้งสภาดิจิทัลฯตามร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วมกับรมว.กระทรวงดิจิทัลฯ โดย รมว.ดีอีได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามดังกล่าวยังสำนักงานสมาพันธ์ฯ อาคาร AIA ถนน รัชดาภิเษกพร้อมทำการส่งมอบร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อที่กระทรวงดีอีจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี( ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอสู่ที่ประชุม สนช.
ยิ่งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ก็ยิ่งเห็นความไม่ชอบมาพากล เพราะนอกเหนือจากประธานกรรมาธิการฯคือนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ และผู้แทนรัฐบาล (ผู้เสนอร่าง)จากกระทรวงดิจิทัลฯ คือ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ นายพัชโรดม ลิมปิษเฐียร เป็นกรรมการแล้ว ยังมีผู้แทนจากสมาพันธ์ฯ คือ ลักษมณ์ เตชะวันชัย (รองประธานสมาพันธ์ TFIT จากสมาคม TDEC) ขณะที่กรรมการที่ถูกดึงเข้าไปร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการที่มาจากสมาชิกสมาพันธ์น้ัน ก็ใช่ใครที่ไหน ล้วน "กากี่นั้ง" นั่งอยู่ในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่แทบจะกินรวบประเทศไทย จนแทบจะเรียกได้ว่ามีตัวแทนจากสมาพันธ์และจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เข้าไปนั่งอยู่ในกรรมาธิการฯชุดนี้แทบจะยึดหัวหาด
คลี่เนื้อหาร่าง กม.สภาดิจิทัลฯ
ขณะที่เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่มีเป้าหมายให้จัดตั้งสภาดิจิทัลฯและคณะกรรมการสภาดิจิทัลฯจำนวน 21 คนแต่ไม่เกิน 33 คน เพื่อเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่รวมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิทัลทุกประเภทนั้น เมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงนิยาม “ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล” ที่ถือเป็นรากเหง้าสำคัญของการกำหนดสัดส่วนตัวแทนที่จะเข้าไปนั่งในสภาดิจิทัลนั้น
ก็พบว่า สมาพันธ์ฯ มีการกำหนดกลุ่มหรือแยกย่อยประเภทธุรกิจกันขึ้นมา 6-7 กลุ่มย่อย โดยใช้วิธีนำสมาชิกทั้ง 22 สมาคมมาจัดประเภทให้ลงตัว คือ 1)อุปกรณ์อัจฉริยะหรือสมาร์ท ดีไว (Smart Devices) 2)ฮาร์ดแวร์ ชิ้นส่วนดิจิทัล 3)ซอฟต์แวร์ 4)บริการดิจิทัล 5)โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 6)ดิจิทัลคอนเทนต์ และ 7)อื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ
ซึ่งทั้ง 6-7 กลุ่มนี้กลับไม่มีเอกสารระดับสากลรองรับการจัดประเภทอุตสาหกรรมดิจิทัลดังกล่าวนี้เลย การจัดและแบ่งประเภท/กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร เป็นการแบ่งแยกประเภทกลุ่มธุรกิจที่มีใครหรือองค์กรใดให้การรับรองหรือไม่ เพราะแทบจะเป็นการแยกย่อยแผนต่างๆภายในบริษัทแตกแขนงออกมาเป็นกลุ่ม โดยไม่ได้มีความหลากหลายแม้แต่น้อย
ก็ให้น่าแปลกกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ที่ควรจะถูกดึงเข้ามาเป็นอีกกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนสภาดิจิทัลแห่งนี้กลับไม่ได้เข้าร่วม แล้วสภาดิจิทัลฯจะทิ้งกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯไทยเอาไว้เบื้องหลังกระนั้นหรือ?
ลับ ลวง พราง ทุนใหญ่หาเวทีให้ตนเอง
ที่ประหลาดเข้าไปอีก ในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 42,43,44 และมาตรา 45 เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ยกฐานะของคณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ6 คนเป็นคณะกรรมการคณะแรกของสภาดิจิทัลญ โดยมีวาระ ไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่กฎหมายใช้บังคับ และสามารถขยายอายุได้หากจำเป็นแต่ไม่เกิน 120 วัน โดยให้ยกเลิกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้ของสมาคม ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ทั้งมวลไป เป็นของสภาดิจิทัลฯแทน โดยให้ถือว่าเป็นการทำงานต่อเนื่อง จึงตั้งข้อสังเกตุวาา งานนี้เป็นการยกร่างเพื่ออุปโลกน์ตั้งกรรมการสมาพันธ์ขึ้นเป็นสภาดิจิทัลเอาดื้อๆ หรือไม่
มีรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯว่า ในการประชุมคณะกรรมธิการฯในช่วงที่ผ่านมากลุ่มทุนสื่อสารรายนี้ได้ส่งคนเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 10 คน โดยไม่มีการบันทึกรายชื่อไว้ในรายงานการประชุมด้วย และไม่รู้ว่าเข้าร่วมประชุมในฐานะอะไร
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการฯ พบว่า มีสมาชิก สนช.แปรญัตติให้ตัดบทเฉพาะกาลทั้ง 4 มาตราออกทั้งหมดเพราะเห็นว่า กฎหมายไม่ควรรอนสิทธิเอกชนโดยการออกกฎหมายไปยุบสมาคมเอกชน แล้วโอนทุกอย่างไปสู่นิติบุคคลใหม่ ที่ยากจะอรรถาธิบายหรือตอบสังคมได้ แต่ดูเหมือนข้อเสนอเหล่านี้จะไม่ได้รับการตอบสนอง กรรมาธิการฯยังคงร่างเดิมเอาไว้และหวังจะรวบรัดให้ที่ประชุม สนช.ผ่านวาระ 2-3 แบบม้วนเดียว
มีการตั้งข้อสังเกตุว่า การจัดตั้งสภาดิจิทัลนั้น เพื่อประโยชน์ของคนไทย หวังยกระดับการพัฒนาประเทศไทยหรือสภาดิจิทัลทุนที่หวังจะรวบรัดและหาเวทีให้กับตัวเองหรือไม่ สาธุชนพิจารณากันเอาเอง!!!