ยังคงเป็น Talk of the Town
กับอนาคตของ บมจ.การบินไทย หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคาะโต๊ะให้บริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และดำเนินการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ปี 2541 จากเดิมที่รัฐบาลเตรียมให้คลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้กว่า 54,000 ล้านบาท แต่ถูกกระแสสังคมถล่มเสียจนยับเยิน จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางฟื้นกิจการกันเอานาทีสุดท้าย
เพราะในขณะที่ประชาชนคนไทยยังคงเดือดร้อนแสนสาหัสจากผลกระทบของไวรัสสูบนรก "โควิด-19" มาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ปูพรมออกไปยัง "ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" ประชาชนอีกนับล้าน หรือหลายล้านโดยเฉพาะแรงงานในระบบประกันตนยังคงรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ กลับจะเอาเม็ดเงินภาษีไปอุ้มชูการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่ยังไม่รู้อนาคตได้อย่างไร?
สุดท้าย ครม. ต้องตัดสินใจ ”ลอยแพ” การบินไทย ด้วยการให้บริษัทดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนับจากนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศาล ตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการของหลายบริษัทที่เคยผ่านเวทีนี้มาแล้ว อย่างบริษัททีพีไอ หรือ ไออาร์พีซี ในปัจจุบันนั่น
ล่าสุด กระทรวงการคลังเริ่มดีเดย์แผนฟื้นฟูการบินไทยด้วยการขายหุ้นที่คลังถืออยู่ 51% ออกไปให้กองทุนวายุภักษ์ ในสัดส่วน 3.17% เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้คลังเหลือหุ้นอยู่ในมือเพียง 48% ทำให้การบินไทยต้องพ้นสภาพจากความเป็นอภิมหารัฐวิสาหกิจไปแล้วในเวลานี้
ในส่วนของการฟื้นฟูกิจการ ที่กระทรวงการคลังและคมนาคมกำลังโม่แป้งร่วมกันอย่างขะมักเขม้น มีการกำหนดโควตาตัวบุคคลที่จะเข้าไปนั่งในคณะกรรมการกำกับดูแลแผนฟื้นฟู ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นั่งแป้นแร้นเป็นประธานอยู่แล้ว และช่วงชิงโควตาบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ที่จะขับเคลื่อนองค์กรในช่วงแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งที่ บมจ.การบินไทยได้หลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว
มีการเปิดเผยรายชื่อบรรดา “มืออาชีพ” ที่จะเข้ามาเป็นว่าที่กรรมการบอร์ดการบินไทยชุดใหม่ ทั้งโควตาของกระทรวงการคลังและคมนาคม ทั้งที่ยังไม่มีหลักประกันใดรับรองได้เลยว่า ที่สุดแล้วการบินไทยจะทะยานพ้นปากเหวได้หรือไม่
จะว่าไปหากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาเส้นทางการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้ทุกฝ่ายได้ประจักษ์อยู่แล้วว่า แม้การบินไทยจะมีนักบริหารมืออาชีพ และกอปรด้วยกรรมการที่ปราศจากการชี้นำหรือแทรกแซงจากนักการเมืองใดๆ แต่การบินไทยก็ยังไม่สามารถจะขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ก็คงจะด้วยเหตุนี้ เมื่อแกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยออกมาตัดพ้อและแฉโพยว่า ต้นตอที่ทำให้การบินไทยตกอยู่ในสภาพนี้ เพราะนักการเมืองเข้ามากอบโกย ตักตวงผลประโยชน์กันไม่ขาดสาย และถึงขั้นไปขุดเอา "ผีทักษิณ" ที่บริหารประเทศอยู่ในช่วงปี 2547-2549 หรือเมื่อกว่า 15 ปีก่อน ว่าเป็นต้นตอที่ทำให้การบินไทยตกต่ำมาจนทุกวันนี้ โดยไม่ดูเงาตัวเองเลยว่า ข้อมูลที่ขุดออกมานั้นย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง จึงทำให้กระแสยี้ที่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปแทรกแซงโอบอุ้มการบินไทยปะทุขึ้นมาอย่างไม่ได้นัดหมาย
ถ้าหากแค่จัดซื้อเครื่องบิน Airbus A-340-500 จำนวน 3 ลำมูลค่า 14,000 ล้าน ตั้งแต่ปี 53 คือต้นตอที่ทำให้การบินไทยตกต่ำมาจนวันนี้ แล้วที่ไปตั้งแท่นจัดซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท ที่ได้รับการไฟเขียวจากรัฐบาลไปก่อนหน้านั้น มันจะไม่ทำให้การบินไทยขาดทุนบักโกรกไปชั่วลูกชั่วหลานหรอกหรือ?
กับกระแสเรียกร้องให้คลัง-คมนาคม และรัฐบาล ส่ง "มืออาชีพ" เข้ามาบริหารในช่วงการฟื้นฟูกิจการอย่างแท้จริงที่หลายฝ่ายกำลังตีปี๊บกันกระหึ่มเมืองนั้น สำหรับ "แก่งหินเพิง" แล้ว ก็คงต้องย้อนถามกลับไปว่า แล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาที่ฝ่ายการเมืองและนักการเมืองทั้งหลายถูกบล็อกกันออกไปนอกวงจรการเมือง และทุกอณูของประเทศตกอยู่ใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีรัฐบาล คสช.นั้น การบินไทยไม่ได้ใช้ "มืออาชีพ" บริหารองค์กรหรอกหรือ?
ทั้งบอร์ดและฝ่ายบริหารการบินไทย ที่นายกฯ และรัฐบาล คสช. ใช้อำนาจพิเศษแต่งตั้งกันเข้าไปเต็มลำเรือนั้น ไม่ได้มีความเป็น ”มืออาชีพ” อย่างที่ทุกฝ่ายเพรียกหากันหรอกหรือ?
ที่สำคัญตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น บอร์ดและฝ่ายบริหารบินไทย ยังต้องบริหารตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และกระทรวงการคลังทุกกระเบียดนิ้ว
หากการบริหารขับเคลื่อนองค์กรการบินไทยตลอดช่วง 5 ปีเศษที่ผ่านมา ไม่ถือว่าใช้ "มืออาชีพ" บริหารจัดการแล้ว กระทรวงการคลังตั้ง "คนสติแตก” ที่ไหนเข้าไปบริหารการบินไทยหรือ ถึงได้ลากเอาการบินไทยลงเหวเละตุ้มเป๊ะได้ถึงเพียงนี้
บอกตามตรง ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าที่กำลังเพรียกหา “มืออาชีพ” อยู่นั้น "มืออาชีพ" ที่ว่าคืออาชีพอะไรกันหรือ?
โดย..แก่ง หินเพิง