จ่อเรียกแขกให้งานเข้าของจริง..
กรณีนักลงทุนต่างชาติเทหุ้น AOT บมจ.ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) 3 วัน ทำ Market -cap วูบหายไปกว่า 80,000 ล้านบาท หลังมีกระแสสะพัดบอร์ด AOT มุบมิบๆ ปรับแผนช่วยเหลือกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีใต้ชายคาจากเดิมที่เคยอนุมัติมาตรการเยียวยาให้เลื่อนจ่ายค่าเช่าและผลตอบแทนให้ 6 เดือนมาหนแล้ว
ล่าสุด ยังมุบมิบๆ ประเคนมาตรการข่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่เอกชนรายดังกล่าวอีกระลอก ด้วยการปรับวงเงินการันตีขั้นต่ำให้แก่คู่สัญญา โดยอิงจากจำนวนผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิช่วงที่จำนวนผู้โดยสารยังต่ำกว่าประมาณการเป็นหลัก รวมทั้งให้ขยายวันเร่ิมต้นสัญญาจากเดิมไปอีกร่วม 2 ปี จาก 28 กันยายน 2563 ไปเป็นเมษายน 2565
ทั้งที่ตัว AOT เอง ก็หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จากผลพวงของการท่องเที่ยวทั่วโลกชะงักงัน ต้องปิดสนามบินไปนานนับเดือน จนส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส2/2563 ขาดทุนเฉียด 3,000 ล้านบาท และแม้เปิดสนามบินได้ ก็แทบร้างวังเวงไม่รู้จะฟื้นกลับมาดังเดิมได้เมื่อไหร่
ล่าสุด ก็ไหนว่า AOT ถึงกับเตรียมวิ่งรอก หาแหล่งเงินกู้ฉุกเฉินเข้ามาเสริมสภาพคล่องของบริษัทแล้ว จึง ทำให้ บล.กสิกรไทยออกมาชี้เปรี้ยง! ว่าเป็นการอุ้มบริษัทเอกชนมากเกินควร โดยไม่ขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงปรับลดราคาเป้าหมายของหุ้น AOT ทรุดฮวบลงจาก 75.5 บาท เหลืออยู่เพียง 45.5 บาทเท่านั้น เพราะประเมินว่ามาตรการที่ AOT ดำเนินการไปจะส่งผลกระทบต่อสถานะของ AOT มากกว่า 133,800 ล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุน ต่างชาติถล่มขายหุ้น AOTอย่างหนักภายใน 3 วันทรุดฮวบลงเฉียด 10% ฉุด "มาร์เก็ตแคป" วูบหายไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท แม้ล่าสุดบล.กสิกรจะปรับมูลค่าหุ้น AOT เพิ่มขึ้น หลังเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหารAOT ก็ตาม
ผลกระทบที่ AOT ได้รับนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลพวงมาจากธุรกิจดิวตี้ฟรีของกลุ่มคิงเพาเวอร์ เจ้าพ่อดิวตี้ฟรีเมืองไทย ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่หดหายไปตลอดช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาเพราะพิษไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปิดการให้บริการร้านปลอดภาษีเกือบทุกสาขาทั้งในและนอกสนามบิน และคาดว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศคงจะทอดยาวต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5-6 เดือนจากนี้
เห็นมาตรการเยียวยาที่หน่วยงานรัฐอย่าง AOT ประเคนให้กับสัมปทานใต้ชายคาแล้ว ก็ให้นึกย้อนมาถึงมาตรการเยียวยาที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.และรัฐบาลให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและกิจการโทรคมนาคมก่อนหน้า ที่กล่าวได้ว่า แตกต่างกันราว "ฟ้ากับดิน"
เพราะมาตรการเยียวยาที่ กสทช. และรัฐให้ไปนั้น ก็แค่ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคมออกไปแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น อย่างมาตรการที่ให้ไปล่าสุด ที่ขยายเมื่อ 27 พฤษภาคม 2563 นั้น ก็ให้สิทธิ์บริษัทที่มีรายได้เกินพันล้านบาทขึ้นไป จะได้สิทธิ์ยืดจ่ายค่าใบอนุญาตจากที่ต้องจ่ายในเดือนพฤษภาคม ออกไปเป็นเดือนมิถุนายน 50% ส่วนอีก 50% ก็ขยายให้ไปแค่เดือนสิงหาคม 63 หรือขยายไปแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับที่ AOT จัดให้กับเอกชนคู่สัญญาสัมปทานใต้ชายคา
แต่กระนั้นมาตรการที่ได้ไปนั้น ผู้ประกอบการมือถือก็ต้องแลกมาด้วยการจัดโปรโมทให้โทรฟรี 100 นาที หรือจัดโปรโมทต่างๆเยียวยาลูกค้าผู้ใช้บริการตอบแทนอีกกระบุงโกย
มาตรการที่เคยได้รับก่อนหน้าให้ขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีออกไปจาก 5 ปี เป็น 8-10 ปีนั่น ก็ต้องอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ใช้ ม. 44 ยืดเวลายืดการจ่ายค่าธรรมเนียมมือถือให้ แต่กระนั้นก็ถูกนักวิชาการ ด่าหน้าโจมตีว่าเอื้อประโยชร์ให้ค่ายมือถือ ทำให้รัฐเสียหายกันเป็นหมื่นล้าน
แต่กลับกรณี AOT ที่ประเคนมาตรการเยียวยาให้แก่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ที่ต้องเซ่นพิษไวรัส โควิด-19 กลับไม่เห็นนักวิชาการหน้าไหนจะออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่า ทำให้รัฐเสียหายแม้แต่น้อย จะมีก็แต่นักลงทุนที่เทหุ้น AOT ประจาน
อะไรมันจะ "ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด" ราวกับคดี "บอส-เฟอร์รารี่" กันได้ขนาดนี้ !!!!
โดย...แก่งหินเพิง