ช่วงปลายปี 61 นายประสิทธิ์ เดชศิริ รองผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับสื่อฯ เกี่ยวกับรายได้และผลกำไรของ กทพ.ในปี 61 จากปริมาณผู้ใช้ทางด่วนทุกสายเติบโตขึ้น รายได้ของกทพ.อยู่ที่ 1.62 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 8% คิดเป็นกำไรสุทธิกว่า 9 พันล้านบาท
ถือว่า กทพ. มีสภาพคล่องทางการเงินดีมาก เพราะมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางมากกว่าวันละ 71.12 ล้านบาท เป็นอัตราการขยายตัว 1% เมื่อเทียบกับปี 60 ที่เก็บค่าผ่านทางได้วันละ 69.96 ล้านบาท ทำกำไรปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ใครก็จ้องมอง กทพ.กันอย่างตาเป็นมันวาว!
แต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ 24 มี.ค. 62 ส่วนที่ กทพ.กลับมีกระแสข่าวหนาหู จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ออกมาดักคอไว้ก่อนที่อาจมีการ “ทิ้งทวน” ในรัฐบาลนี้
กรณีคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. มีมติเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาทางเลือกให้ต่อสัญญาสัมปทานโครงการทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ระหว่าง กทพ. กับบริษัทเอกชนชื่อดังในตลาดหลักทรัพย์ฯออกไปอีกยาวนานถึง 37 ปี เนื่องจากสัญญาสัมปทานฉบับเก่า กำลังจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ.63
ทั้งที่รายละเอียดสัญญา ข้อ 21 ที่ กทพ.ทำไว้กับเอกชนรายดังกล่าว ในเรื่องของการต่อสัญญา สามารถทำได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี (รวม 20 ปี) ตามเงื่อนไขที่ กทพ.และเอกชนตกลงกัน ดังนั้น ถ้าจะให้กันถึง 37 ปี อาจเข้าข่ายสัมปทานใหม่ และต้องเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นๆ เข้ามาร่วมแข่งขันด้วย
คนใน กทพ.จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุสัมปทานให้เอกชนอีก 37 ปี แม้ผู้ใหญ่บางคนใน กทพ.จะอ้างเรื่องคดีความ ระหว่าง กทพ.กับเอกชนรายนี้ก็ตาม เรื่องคดีความก็ต้องต่อสู้กันไป ไม่น่านำเข้ามาเกี่ยวข้องหรือผูกมัดกับการต่ออายุสัมปทานให้เอกชน
แม้ว่า กทพ. จะมีคดีความกับเอกชนรายนี้หลายคดี เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายและผิดสัญญา แต่ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด ยังไม่มีการบังคับคดี ต่อให้กทพ.แพ้ทุกคดี ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินขีดความสามารถของ กทพ.ที่จะชำระหนี้ได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี เมื่อดูจากผลกำไร
ที่สำคัญทางด่วนขั้นที่ 2 จะหมดอายุสัมปทานในเดือน ก.พ. 63 มีปริมาณรถยนต์ใช้บริการประมาณ 513,349 คัน/วัน ปัจจุบัน กทพ.ต้องแบ่งรายได้ให้เอกชนดังกล่าวในอัตรา 60 : 40 โดยตัวเลขรายได้ต่อปีที่เอกชนได้รับ (40%) ตกอยู่ประมาณ 3,300 ล้านบาท
ถ้า กทพ.ไม่ต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชน แล้ว กทพ.เอามาบริหารจัดการเองซึ่งทำได้อยู่แล้ว จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 3,300 ล้านบาท/ปี และรายได้จะยิ่งเพิ่มขึ้น ตามจำนวนรถยนต์ใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นทุกปี
งานนี้จึงต้องฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม รับทราบไว้ล่วงหน้า เพราะอาจมีรายการ “คุณขอมา” นำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้น 2 เร่งรีบเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
แว่วๆ ว่างานนี้ผู้มีส่วนได้เสีย! มีก็อก 2 สำรองไว้! หากการต่ออายุสัมปทานให้เอกชน 37 ปี ถูกต่อต้านมากๆ ก็พร้อมที่จะยอมลดสัมปทานจาก 37 ปี ลงมาเหลือ 30 ปี
เรียกว่า “เล่นละครตบตา” กันกลางวันแสกๆ แบบนี้แหล่ะ เพราะไม่ว่าจะ 37 ปี หรือ 30 ปี เอกชนรายนี้ก็เฮลั่นอยู่ดี เพราะแค่ “ขาดทุนกำไร” จากที่ควรได้ไม่เกิน 20 ปี กลับถ่างให้ถึง 30 ปี
ถ้าไม่มีคนออกมาเอะอะโวยวาย อาจจะได้สัมปทานถึง 37 ปี เสียด้วยซ้ำ! กะรวยกันพุงปลิ้นเลย!!
โดย..เสือออนไลน์