ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรบ้างเลยหรือ?กับการเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า สายสีเขียวครบรูฟ 59 สถานี รวมระยะทางกว่า 68 กม. เพื่อเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ของ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 16 ธันวาคม 63 นี้ แม้จะเป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” ของรัฐบาลชุดนี้ ในการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ทั้ง 14 สาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการไปแล้วถึง 9 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 553 กม. ซึ่งถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคนี้แล้ว และในปีหน้ายังจะเปิดให้บริการตามมาอีก 3 สาย คือ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) รวมทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่จะเปิดให้บริการในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถไฟฟ้า สายสีเขียวที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่เชื่อต่อการเดินทางของผู้คนถึง 3 จังหวัด ที่คาดว่าจะสามารถให้บริการผู้คนได้มากกว่าวันละ 1.5 ล้านคนนั้น กลับกำลังสร้างรอย “ปริแยก” ขึ้นภายในพรรคร่วมรัฐบาล หลังเจ้ากระทรวงคมนาคมนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ออกมาคัดง้างการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC จากที่สิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 เป็น ปี 2602 จนทำเอาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ล้มกลางครัน!แม้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเรียก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าหารือเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อหวังเคลียร์หน้าเสื่อ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีข้อยุติ กระทรวงคมนาคมยังคงยืนยัน ไม่เห็นด้วยใน 3-4 ประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว ตลอดสายที่เห็นว่า ราคาที่เหมาะสมน่าจะไม่เกิน 50 บาท ไม่ใช่ 65 บาท ตามที่กรุงเทพฯ เสนอมา และมองว่าการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี ทั้งๆ สัมปทานปัจจุบันยังเหลืออายุอีก 9 ปี มีความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งในเรื่องของความครบถ้วนในการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วยทำเอาที่ประชุมร่วม ”วงแตก” จนนายกฯ ต้องตัดบทให้สองหน่วยงานกลับไปหารือข้อยุติกันเอง เพื่อนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง แต่ก็ดูเหมือนสองหน่วยงานจะพายเรือคนละลำและไปคนละทางเสียแล้ว !แม้ก่อนหน้านี้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่า กทม. ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้า จะออกมา “ตีแสกหน้า” คมนาคม กรณีการคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวของ BTS และนำเอาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาเกทับบลั๊ฟแหลก ทั้งที่รถไฟฟ้าสองสายทางนั้นมีพื้นฐานที่แตกต่างกันลิบลับและหากคำนวณค่าโดยสารตามสูตรที่กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้ คือ ค่าแรกเข้า 15 บาท บวกค่าโดยสาร กม.ละ 3 บาทแล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้จะสูงถึง 158 บาทเสียด้วยซ้ำ แต่ในการเจรจาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานที่จะมีขึ้นนั้น กทม.ได้เจรจาปรับลดค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย (ผู้คนโดยสารใหญ่จะเดินทางและเสียค่าโดยสารอยู่ในช่วง 40-55 บาทเท่านั้น) และอัตราดังกล่าวเมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ รฟม.ที่จัดเก็บอยู่ 44 บาทต่อการให้บริการระยะทาง 26 กม.นั้น จะเห็นได้ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวยังต่ำกว่ามาก ทั้งที่เอกชนเป็นผู้แบกรับภาระลงทุนเองทั้งหมด ภาครัฐเพียงลงทุนเฉพาะส่วนต่อขยายเท่านั้น ขณะที่รถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินนั้น รฟม. เป็นผู้ลงทุนงาน Civil work ทั้งหมด เอกชนเพียงลงทุนเฉพาะระบบรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงเท่านั้น แต่กลับเรียกเก็บค่าโดยสารเทียบเท่าและใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า สายสีเขียว ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ออกมาขย่มซ้ำกับหนังสือด่วนที่สุดที่คค (ปคร) 0202/401 ที่ลงนามโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่แทงความเห็นว่าการต่อสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว จำเป็นต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย โดยเฉพาะ “...ในกรณีที่การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับเสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย...”แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทาน ”ดิวตี้ฟรี” และสัมปทานการบริหาร “พื้นที่เชิงพาณิชย์” ในสนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของนายศักดิ์สยามเอง กลับไม่พบว่า รมว.คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามนัยมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แต่อย่างใดทั้งที่กรณี ทอท. อนุมัติให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเอกชนผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่บอร์ด ทอท.ดำเนินการไปนั้น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ที่ ทอท.จะได้รับมหาศาล รวมทั้งกระทบสถานะของ ทอท. ในระยะยาวด้วย แต่บอร์ด ทอท. และกระทรวงคมนาคมกลับไม่เคยจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อนำเสนอให้ ครม. อนุมัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ใด ๆ เลยแต่กับกรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวของ กทม.ให้กับ BTS ที่ทุกฝ่ายต่างเห็นว่า เป็นความจำเป็น เพราะรัฐบาลและกระทรวงการคลังเองมีข้อจำกัด ด้านการเงินที่จะเข้าไปชดเชยให้ความช่วยเหลือ กทม. ที่ต้องแบกรับภาระลงทุนส่วนต่อขยาย และภาระดอกเบี้ย จากที่ที่รับโอนมาจาก รฟม. รวมทั้งค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าอีกปีละกว่า 5-6 พันล้านบาท ทำให้ กทม.ไม่มีหนทางเลือกอื่น นอกจากพิจารณาต่อขยายสัญญาสัมปทานเดิมให้แก่ BTSC ออกไป เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามาแบกรับภาระแทนรัฐ ขณะที่ กทม.เองยังได้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งรายได้ในครั้งนี้อีกกว่า 200,000 ล้านบาทพิจารณาตามนัยแห่งมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ พ.ศ.2561 แล้ว ยังนึกไม่ออกเลยว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ไปมหาศาล จนกระทบต่อสถานะของหน่วยงานรัฐอย่างไร ผิดกับกรณีที่บอร์ด ทอท.ทุบหม้อข้าวตัวเองไปก่อนหน้า จนนักลงทุนขวัญกระเจิงพากันเทหุ้น ทอท.กันขนานใหญ่นั้นกลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก กระทรวงคมนาคมกลับจับเอารถไฟฟ้า สายสีเขียวมาเป็นตัวประกันและทำตัวเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” แต่กับผลงานของตนเองก่อนหน้ากลับ “ซุกเอาไว้ใต้พรม”!!! โดย แก่ง หินเพิง