มีข่าวว่ากองทัพบก ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. อนุมัติซื้อรถรถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER (สไตรเกอร์) จากอัตราสำรองคลังของกองทัพสหรัฐอเมริกา 37 คัน คันละประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อบรรจุในกองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา ตามแผนการเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยทหารราบ
วันก่อน “นักร้อง” อย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตามขุดคุ้ยเรื่องนี้ว่า การอนุมัติซื้อรถเกราะล้อยางดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะเกิดขึ้นช่วงที่ฝ่ายการเมืองยังไม่ได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่แท้จริง ถือว่าอาศัยสถานการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่มุ่งสนใจไปในการจับขั้วทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพื่อลดข้อครหาหรือจับผิดในกรณีดังกล่าวอย่างน่าละอาย
ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนต่างมีนโยบายลดการแข่งขันสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์กันแล้ว ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจการกินดีอยู่ดีของประชาชน ขณะนี้คนไทยเผชิญชะตากรรมข้าวยากหมากแพง พืชผลการเกษตรตกต่ำ แต่กองทัพกลับมีนโยบายถอยหลังลงคลองไปในยุคสงครามเย็น มุ่งแต่การซื้ออาวุธ
นายศรีสุวรรณ ย้ำด้วยว่า เป็นการซื้อแพงกว่าปกติ เพราะในเว็บไซด์ประกาศขายแค่คันละ 47 ล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากไม่ได้เป็นรถเกราะรุ่นใหม่ แต่มีการผลิตและใช้งานมาเกือบ 20 ปี เป็นรถที่อยู่ในคลังสำรองของสหรัฐฯ ดังนั้นจึงขอให้กองทัพบกยึดหลักธรรมาภิบาลในการจัดซื้อ ส่วน สตง. ควรตรวจสอบด้วย เนื่องจากเป็นการซื้อรถมือสองในราคาที่แพงลิบลิ่ว และมีส่วนต่างมากมาย
“เสือออนไลน์” เคยเรียน รด. ปี 1-5 ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปราจีนบุรี จึงพอทราบว่ากองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ใช่ “กองพลรบ” หลักของประเทศไทย แต่มีภารกิจเป็นกองพลสนับสนุนมากว่า
ดังนั้นการจัดรูปแบบอัตรากำลังในระดับกองพัน-กรม และส่วนสนับสนุนการรบของกองพลทหารราบที่ 11 จึงไม่เต็มรูปแบบ เหมือนกองพลรบมาตรฐานในประเทศไทย ที่มีอยู่ 8 กองพล
โดย 8 กองพลที่ว่านี้ จัดกำลังเต็มรูปแบบ มีทั้งทหารราบ ทหารม้า (รถถัง) ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารเสนารักษ์ ทหารพราน กองร้อยบิน (ฮ.) กองร้อยลาดตระเวนระยะไกล (หมวกแดง) และบางกองพลมีกองร้อยต่อสู้รถถัง รวมอยู่ด้วย
8 กองพลรบมาตรฐาน ประกอบด้วย กองพลที่ 1 (กองกำลังเพชราวุธ) ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เราคุ้นหูกันว่า “วงศ์เทวัญ” คือ นายทหารที่เติบโตมาในกองพลนี้แหล่ะ มีหน่วยทหารขึ้นตรงกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ ลพบุรี และเพชรบุรี
กองพลทหารราบที่ 2 (กองกำลังบูรพา) จ.ปราจีนบุรี ที่เราคุ้นๆกันว่า “บูรพาพยัคฆ์” คือ นายทหารที่เติบโตมากับกองพล 2 นั่นเอง มีหน่วยทหารขึ้นตรงกระจายอยู่ในปราจีนบุรี ชลบุรี และสระแก้ว มีภารกิจเฝ้าชายแดนทางด้านตะวันออกติดกับกัมพูชา
กองพลทหารราบที่ 3 (กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี) จ.นครราชสีมา ดูแลพื้นที่ชายแดนภาคอีสานตอนบน มีหน่วยทหารขึ้นตรงกระจายอยู่ในนครราชสีมา ขอนแก่น เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม
กองพลทหารราบที่ 6 (กองกำลังสุรนารี) จ.ร้อยเอ็ด รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคอีสานตอนล่าง มีหน่วยทหารขึ้นตรงกระจายอยู่ในบุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
กองพลทหารม้าที่ 1 (กองกำลังผาเมือง) จ.เพชรบูรณ์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วยพิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย
กองพลทหารราบที่ 4 (กองกำลังนเรศวร) จ.พิษณุโลก เฝ้าพื้นที่ชายแดน จ.ตาก และแม่ฮ่องสอน
กองพลทหารราบที่ 9 (กองกำลังสุรสีห์) จ.กาญจนบุรี ดูแลพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา
กองพลทหารราบที่ 5 (กองกำลังเทพสตรี) จ.นครศรีธรรมราช รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด
นอกจาก 8 กองพลมาตรฐาน ที่มีหน้าที่เฝ้าชายแดนแล้ว ยังมีกองพลอื่นๆเช่น กองพลทหารม้าที่ 2 (สนามเป้า) กองพลทหารม้าที่ 3 จ.ขอนแก่น และหน่วยบัญชาการ ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี
ต้องบอกว่ากองทัพบกมีกำลังรบหลักเหลือเฝือ จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องรีบซื้อรถเกราะล้อยางมาประจำการในกองพลทหารราบที่ 11 ซึ่งไม่ใช่กองพลมาตรฐาน ไม่ใช่กำลังรบหลักของประเทศ
หรือว่าเป็นการจัดซื้อ เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ติดยศนายพลครั้งแรกที่กองพลนี้ และเป็นผู้บัญชาการครั้งแรกที่กองพลทหารราบที่ 11 หรือไม่
ขณะเดียวกันในสถานการณ์ปัจจุบัน โอกาสในการเกิดสงครามขนาดใหญ่ระดับประเทศ จะเกิดได้ยาก เพราะมีประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก คอยกำกับดูแลและช่วยไกล่เกลี่ยในกรณีเกิดการกระทบกระทั่งกันตามแนวชายแดน พูดง่ายๆ ว่าถ้ารบกัน ยิงกัน คงกินเวลาไม่เกินสัปดาห์ก็ต้องหยุดยิง
แต่ภัยในปัจจุบันจะมาในรูปแบบการก่อการร้าย ค้ามนุษย์ ลักลอบเข้าเมือง สินค้าหนีภาษี และยาเสพติด โอกาสที่จะใช้กำลังทหารระดับกองพัน-กรม ไปจนถึงระดับกองพล เข้ารบกันนั้นเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นจึงมองไม่เห็นความจำเป็นของกองทัพบก ที่จะเร่งจัดซื้อรถเกาะล้อยางมือสองที่แพงลิ่วในครั้งนี้ มาบรรจุในหน่วยทหารที่ไม่ใช่กองพลมาตรฐาน แต่ควรค่อยๆ ลดอัตรากำลังพลลงไปด้วยซ้ำ ใครเกษียณก็ไม่ต้องบรรจุคนเข้าไปแทนที่ จนเหลือกำลังพลในระดับที่เหมาะสมแล้ว จึงยุบไปรวมกับกองพลอื่น
เป็นการยุบ “กองพล” ที่ไม่มีภารกิจสำคัญออกไปบ้าง เพื่อลดไขมันส่วนเกิน ลดขนาดความอุ้ยอ้ายของกองทัพ ที่ว่ากันว่ามีจำนวนนายพัน และนายพลมากมายที่สุดในโลก
เสือออนไลน์