คนใช้มอเตอร์เวย์ “บางปะอิน – โคราช, บางใหญ่ – เมืองกาญฯ” เตรียมเฮ! “ศักดิ์สยาม” ลั่น! ให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี 3 เดือน ก่อนเปิดบริการจริงในปี 66 มั่นใจ! ด่านแบบไร้ไม้กั้น ช่วยอำนวความสะดวกผู้ใช้ทางด่วน ระบบ ai สามารถรองรับรถวิ่งความเร็วมากกว่า 120 กม./ชม. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ว่า การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาและเก็บค่าผ่านทาง Operation and Maintenance (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งทั้ง 2โครงการจะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการทางด่วนได้ในปี 66 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะให้เปิดทดลองใช้ฟรี 3 เดือน ก่อนเปิดเป็นทางการ และหากส่วนใดแล้วเสร็จก่อนหากในช่วงเทศกาล ก็จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้งานก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการจะมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนโครงการทางด่วนอื่นๆ คือ ด่านเก็บค่าผ่านทางจะไม่มีไม้กั้น เพื่อเพิ่มความสะดวกผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐได้อย่างมาก และระบบนี้ก็จะนำไปใช้มอเตอร์เวย์ สาย 9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ด้วยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญระหว่างกรมทางหลวงและกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งเป็นการรวมตัวของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) โดยรายละเอียดของสัญญาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M - Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ และระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี หลังเปิดให้บริการ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบ และค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ 1ใน กลุ่ม BGSR ที่ได้เข้ามาดำดำเนินการ O&M ในมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทาง เผยว่า รูปแบบงาน O&M ทั้ง 2 สายทาง จะเป็นรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ประเภท Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี โดยเอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบ รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าผ่านทาง โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบ ค่าบำรุง รักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจไม่ได้มีความเสี่ยงเรื่องรายได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องจำนวนผู้sใช้บริการ เพราะหากมีผู้ใช้บริการมากกว่าที่ ทล. คาดการณ์ เอกชนก็ต้องลงทุนเรื่องการบำรุงรักษามากขึ้นด้วย