นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวที่ลดต่ำลงในช่วงนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งด้านความต้องการส่งออกข้าวไปต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่ลดลง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาพายุดีเปรสชั่นเข้าสู่ประเทศไทยส่งผลให้มีฝนตกชุก และหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมส่งผลต่อคุณภาพข้าว โดยราคาข้าวจะขึ้นอยู่กับความชื้นและคุณภาพ ปัจจุบันเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวและจำหน่ายให้กับโรงสีทันที ซึ่งมีความชื้นสูงประมาณ 30% เรียกข้าวสดไม่สามารถนำไปสีได้ทันที ต้องลดให้เหลือที่ความชื้นมาตรฐานไม่เกิน 15% กรณีที่เกษตรกรจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิที่ความชื้น 30% ที่ กก.ละ 8.10 บาท หรือตันละ 8,100 บาท เมื่อคำนวณเป็นข้าวแห้ง มีราคาตันละ 10,500 บาท หรือกรณีจำหน่ายข้าวเปลือกเหนียวที่ความชื้น 30% ในราคา กก.ละ 5.6 บาท หรือตันละ 5,600 บาท เมื่อคำนวณเป็นข้าวแห้ง มีราคาตันละ 7,300 บาท อย่างไรก็ตามราคาที่เกษตรกรได้รับขึ้นอยู่กับคุณภาพและสิ่งเจือปนด้วย ทั้งนี้ในการซื้อขายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับราคาข้าวตามโครงการของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาจะใช้ราคา ณ ความชื้น 15% เป็นเกณฑ์มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาข้าวจะลดต่ำลงแต่เกษตรกรยังได้รับการดูแลภายใต้โครงการประกันรายได้ ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงิน 18,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว โดยราคาเป้าหมายประกันรายได้ ปี 2564/65 กำหนดราคาข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้ 1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 3) ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน 4) ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 5) ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน สำหรับมาตรการคู่ขนานก็ยังคงหลักการเช่นเดียวกับปีก่อนโดยให้เกษตรกรรวบรวมจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง โดยได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท และเพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกแก่สหกรณ์และโรงสีโดยชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลา 2-6 เดือน สำหรับโรงสี และ 1 ปี สำหรับสหกรณ์
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่กำลังออกสู่ตลาดและชะลอตัวในขณะนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งกรมการค้าภายในได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการนอกพื้นที่เข้าไปช่วยรับซื้อข้าวเหนียวในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 13 จุด ใน 7 จังหวัด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และอนุมัติโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกให้มีผู้รับซื้อเข้าไปแข่งขันรับซื้อในพื้นที่ที่มีผู้รับซื้อไม่เพียงพอต่อผลผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันและราคา จำนวน 30 จุด ใน 19 จังหวัด
จากสถานการณ์การส่งออกข้าวในขณะนี้มีทิศทางที่ดีจากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่มีมากขึ้น ในช่วง 6 เดือนหลัง ค่าเงินปัจจุบันที่อ่อนตัวลง ราคาข้าวในประเทศที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งคาดว่าปริมาณการส่งออกทั้งปีจะใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 ล้านตันที่ตั้งไว้ ประกอบกับได้สถานการณ์การข้าวในประเทศในขณะนี้มีสัญญานดีขึ้นเช่นกันจากการผ่อนคลายเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภค มีมากขึ้น สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลายลง รวมทั้งมาตรการคู่ขนานและมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปแก้ไขปัญหาจึงคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในตลาดดีขึ้นเป็นลำดับ