นอกจากความวุ่นวาย จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะปรับขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง โดยจะปรับลดขบวนรถไฟเหลืออยู่เพียง 22 ขบวน และตัดขบวนรถไฟทางไกลไปใช้สถานีกลางบางซื่อแทน ที่กำลังถูกประชาชนผู้ใช้บริการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า จะทำให้ประชนต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อขบวนรถไฟสายสีแดงแพงขึ้นหรือไม่นั้นล่าสุด ยังมีข่าวด้วยว่า สหภาพการรถไฟฯ ได้ลุกฮือให้ฝ่ายบริหารได้ทบทวนการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดย นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธาน สร.รฟท. ได้เข้ายื่นหนังสือด่วนที่สุดต่อนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนชะลอแผนงานการเปิดให้บริการรถไฟทางไกล (LD) ไปที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.64 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีความพร้อม เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในการใช้บริการที่ไม่สะดวก และปกป้องภาพลักษณ์ในการให้บริการของ รฟท. ต่อไปนายสราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน และเกิดความสับสนต่อการใช้บริการเดินทาง ซึ่งมีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการให้บริการกับประชาชน และเชื่อว่า หากดำเนินการในวันที่ 23 ธ.ค.64 จะเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย และ รฟท. ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี ซึ่งมีข้อมูลข้อเท็จจริงหลายประการที่พบว่า รฟท. ยังไม่พร้อมในการดำเนินการ อาทิ 1. การกำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกลเชิงสังคม รถไฟชานเมือง 14 ขบวน มีต้นทาง – ปลายทาง ที่สถานีรถไฟดอนเมือง มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เหมือนบีบบังคับให้ประชาชนที่เคยเดินทางต้องไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มีราคาบริการแพงกว่า 2.การย้ายต้นทางมาที่สถานีกลางบางซื่อ และเดินรถในเส้นทางของรถไฟฟ้าสีแดง มีประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากยังไม่ทราบว่า ขบวนรถไม่สามารถหยุดรับ – ส่ง ผู้โดยสารในสถานีรายทางของสายสีแดงได้ เนื่องจากระบบไม่ได้รองรับให้รถไฟจอดหยุดรับ - ส่ง ที่สถานีดังกล่าว ซึ่งแตกต่างกับเส้นทางเดิมที่สามารถหยุดรับ – ส่งผู้โดยสารได้ที่สถานีบางเขน และสถานีหลักสี่ โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมากในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และ 3. การย้ายต้นทางมาที่สถานีกลางบางซื่อ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นสมาชิกของ สร.รฟท. ในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานของผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นสภาพการจ้าง นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นทราบว่าสถานที่ทำงาน และพื้นที่ในการเตรียมความพร้อมในการตั้งริ้วขบวนรถ พื้นที่การเตรียมการดูแลซ่อมบำรุงขบวนรถยังไม่มีความพร้อมสมบูรณ์ และที่สำคัญยังไม่ได้มีการเจรจาตกลงกับสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ขัดกับ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2543 มาตรา 29 สร.รฟท.ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 40 (3) (4) เพื่อคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างของลูกจ้าง และปกป้องรักษาผลประโยชน์ของ รฟท.นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ทางประธานบอร์ด และผู้ว่าฯ รฟท. รับไปพิจารณาและจะให้ได้ข้อยุติก่อนวันที่ 23 ธ.ค.นี้