จากการที่โลกโซเขียลพากันแห่แขร์รายงานการก่อสร้างสนามบินเบตง กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ใช้งบลงก่อสร้างไปกว่า 1,900 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ กลับไม่มีเครื่องบินใช้บริการ
เนื่องจากสนามบินดังกล่าว ออกแบบมาเพื่อให้เครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์แบบใบพัดอย่าง ATR บินไปลงได้เท่านั้น เพราะขนาดรันเวย์ที่ออกแบบไว้มีความยาวเพียง 1,800 เมตร เท่านั้นไม่สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ได้ ขณะที่หากจะใช้เครื่องบินแบบใบพัดทำการบินระยะไกลจากสนามบินไป-กลับจากสนามบินดอนเมือง-เบตง ก็ไม่สามารถทำได้เพราะระยะทำการบินรวมกว่า 2,000 กิโลเมตร เกินวิสัยทำการบิน จำเป็นต้องแวะเติมน้ำมันเชื้อเพลิงยังสนามบินใกล้เคียง ทำให้มีต้นทุนทำการบินสูง จึงยังไม่ทีสายการบินใดขอทำการบินตรงจนกบายเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจนั้น
ล่าสุด กรมท่าอากาศยานได้ออกมาชี้แจง โดยระบุว่า ตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงกรณีการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงที่มีข้อติดขัดไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้น กรมท่าอากาศยานขอชี้แจงข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้
กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก่อนการดำเนินการก่อสร้างกรมท่าอากาศยาน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและทางเศรษฐศาสตร์ จึงได้ข้อสรุปในการก่อสร้างที่วางไว้ คือ ทางวิ่ง (Runway) ขนาด 30x 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ซึ่งตามหลักการดำเนินงานท่าอากาศยานจะมีการติดตามตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานต่างๆ โดยจะต้องมีระยะของการพัฒนาตามขนาดและความต้องการเดินทางของประชาชน
สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด ขณะนี้ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1. หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2. ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานนั้น กรมท่าอากาศยานได้มีการหารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการวางแผนการลงทุนและแนวทางในการให้บริการในอนาคต
กรมท่าอากาศยานขอเรียนให้ทราบว่าจากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ในความต้องการพัฒนาท่าอากาศยาน ให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึงต่อไป