เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ เด่นนภาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหาร กคช. และการเคหะแห่งชาติ โดยมี พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีหล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก บริษัทและ กคช. ได้ทําสัญญาร่วมทุนดําเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร “เทพารักษ์ 4” จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตามสัญญากําหนดให้บริษัทจัดหาที่ดิน เงินทุนและดําเนินการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน 125 อาคาร รวม 5,830 หน่วย บนเนื้อที่รวม 125 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 2,448 ล้านบาท แต่ในระหว่างการดำเนินการบริษัทได้รับแรงกดดันจากการแสวงหาประโยชน์ของบอร์ด กคช.และกลุ่มบุคคลภายในการเคหะฯ ในหลายรูปแบบ
อาทิ การบีบบังคับให้บริษัทฯ ซื้อที่ดินที่ไม่มีทางออกที่อยู่ติดกับโครงการ ซึ่งคณะกรรมการได้ติดต่อประสานกันไว้แล้ว หรือการบีบบังคับให้แก้ผัง แก้แบบแปลนจากผังทิศใต้ เป็นผังทิศเหนือ หรือนำเอากลุ่มบุคคลรับเหมาจากภายนอกเข้ามาร่วมแสวงหาประโยชน์จากโครงการ โดยเฉพาะการนำเอา หจก.ศรีเอี่ยมการโยธา เข้ามาเป็นคู่สัญญารับเงินจากโครงการแทนบริษัท เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯจำใจต้องยอมรับเงื่อนไขนอกสัญญาดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะถูกกลั่นแกล้ง
ต่อมาคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้ใช้อํานาจโดยมิชอบ กลั่นแกล้งบริษัทโดยอ้างสิทธิตามสัญญา และบีบบังคับให้บริษัทฯ ปรับลดหน่วยการก่อสร้างโครงการลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของสัญญาเดิม (125 อาคาร) ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างต่อหน่วยที่สูงขึ้นมาก จนยังผลให้บริษัทได้รับความเสียหายและได้รับผปลกระทบอย่างหนัก จนไม่สามารถก่อสร้างโครงการได้ตามสัญญา
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงไม่มีหนทางเลือกอื่นนอกจากดำเนินการยื่นฟ้อง หจก.ศรีเอี่ยมการโยธา และการเคหะแห่งชาติ เป็นจําเลยในคดีแพ่ง และนําเสนอเอกสารหลักฐานเพื่อให้ศาลพิจารณาว่า มีการทุจริตในระหว่างการดำเนินโครงการโดยการเคหะแห่งชาติและกลุ่มุบคคลที่เกี้ยวข้องจริง ซึ่งศาลแพ่งได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) แพ้คดีตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 5988/2552 โดยให้เหตุผลว่า การเคหะแห่งชาติได้บีบบังคับให้บริษัทฯ นํา หจก.ศรีเอี่ยมการโยธา เข้ามาเป็นผู้รับเงินจากโครงการแทนบริษัทจริง อันเป็นการกระทำตามที่บอร์ด กคช. บางคนต้องการแสวงหาประโยชน์จากโครงการ จนเกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างบริษัทฯ และการเคหะแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง จนโครงการไม่สามารถดําเนินการต่อไปได้นับแต่ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมา และกลายเป็นคดีพิพาทที่ยังคงอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการฟ้องเรียกคืนที่ดินจำนวน 125 ไร่ จาก กคช. ตามสัญญาและตามสัญญาร่วมลงทุน ดังนั้น บริษัทยังคงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ เนื่องจากยังมีคดีความฟ้องร้องระหว่างกันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2564 ที่ผ่านมา การเคหะฯ ได้กระทําการโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อบริษัทฯ โดยการขอเข้าใช้พื้นที่โครงการบางส่วน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าการเคหะฯ เป็นผู้ครอบครองพื้นที่โครงการ แต่บริษัทไม่อนุญาต หลังจากนั้น การเคหะฯโดยคณะกรรมการบริหาร และเจ้าหน้าที่บางคน ได้ส่งเจ้าหน้าที่และกลุ่มบุคคลเข้ายึดพื้นที่บางส่วนของโครงการ เพื่อดำเนินการปรับปรุงอาคาร แม้บริษัทจะทักท้วงและยืนยันไม่อนุญาตก็ตาม จึงทำให้บริษัทจำเป็นต้องร้องทุกข์ดําเนินคดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกเข้าพื้นที่ทั้งหมด ในข้อหาร่วมกันบุกรุกฯ และทําให้เสียทรัพย์ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวนของ สภ.บางพลี แต่กระนั้น การเคหะฯ ก็ยังไม่หยุดพฤติกรรมการบุกรุก โดยยังคงให้บุคคลซึ่งแสดงตัวอย่างเปิดเผย เข้าครอบครองพื้นที่อาคารบางส่วนของโครงการเพื่อดำเนินการปรับปรุงอาหาร หวังจะเปิดจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยบริษัทไม่สามารถขัดขวางได้เลย แม้บริษัทฯ จะนําป้ายไปปิดประกาศในพื้นที่เพื่อสงวนสิทธิตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็กลุ่มบุคคลทุบทําลาย โดยบริษัทรับทราบมาว่าหากการเคหะฯ มีแผนจะดำเนินการปรับปรุงอาคารบางส่วนให้แล้วเสร็จ และจะนำเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการและอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่หลงเชื่อเข้ามาซื้อโครงการไม่รู้เรื่องราวด้วย
ด้วนเหตุนี้ บริษัทฯ จึงไม่มีหนทางใดที่จะช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากต้องขอความเป็นธรรมต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีต่อการเคหะแห่งชาติ, คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ และกลุ่มบุคคลอื่นใดที่สมคบกันในการกระทําความผิดในครั้งนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อดํารงไว้ซึ่งหลักการนิติรัฐ นิติธรรม และนําตัวพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ทุจริต รวมทั้งผู้สมคบ ตัวการและผู้ร่วมกระทําความผิดทั้งหมด มาลงโทษตามกฎหมายให้ถึงที่สุดต่อไป