ไม่ว่าสถานการณ์ไหน “ธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน” ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง ตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสู่โลกดิจิทัลนิยมการซื้อขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ ยิ่งผสมแรงบวกสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเป็นแรงส่งให้ปริมาณพัสดุมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นไปจากสถานการณ์ปกติกว่า 20 – 30% สอดรับการเติบโตมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 64 ที่ผ่านมา จากตัวเลขการสำรวจสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบมีอัตราโตพุ่งสูงแตะ 4.01 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 6.11% จากปี 2563 มีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจากออฟไลน์สู่ออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
และหากเอ่ยชื่อ Kerry Express ในสมรภูมิขนส่งพัสดุด่วนเมืองไทยคงรู้กิตติศัพท์เป็นอย่างดี เพราะนี่คือบริษัทขนส่งแบรนด์สีส้มขวัญใจของมหาชน ที่ผงาดเป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนเอกชนในไทย กับศักยภาพที่มีจุดบริการส่งพัสดุมากกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,300 แห่งครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในไทย สามารถรองรับพัสดุได้กว่า 2 ล้านชิ้นต่อวัน พนักงานส่งพัสดุกว่า 30,000 คน มีฟลีทรถส่งพัสดุกว่า 25,000 คันเพื่อให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว
“เนตรทิพย์ ออนไลน์” ขอพาทุกคนไปผ่ายุทธวิธีการรับมือสถานการณ์วิกฤติโควิดระลอกล่าสุด การบริหารจัดการกองพัสดุมหาศาลวันละกว่า 2 ล้านชิ้นได้อย่างน่าทึ่งได้อย่างไร แนวทางการผูกมิตรด้วยคาถามัดใจกับคู่ค้าแบบฉบับบริษัทขนส่งเอกชนไทยอันดับ 1 พร้อมทั้งส่อง 4 บริการใหม่ที่ช่วยเติมเต็มศักยภาพในปี 65 และบทบาทสำคัญในการมีส่วนยืนเคียงข้างสังคมไทย ผ่านบทสัมภาษณ์ คุณวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX
ไม่ทิ้งยุทธวิธีเก่า เสริมกลยุทธ์ใหม่ฝ่าวิกฤติโควิดระลอกใหม่
หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาสเมื่อปีที่แล้ว ไตรมาส 3/64 มีปริมาณจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้นกว่า 50 % และฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 7.5 ล้านคน ณ ปัจจุบันเรามีการจัดส่งพัสดุเฉลี่ยวันละกว่า 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว มีช่วงที่พีคสุด มีวันที่ทะลุสูงเป็นสถิติถึง 3 ล้านชิ้นต่อวัน สืบจากปัจจัยที่เรามีฐานลูกค้าใหม่ได้ลุยเจาะกลุ่มฐานลูกค้าตลาดขนส่งพัสดุราคาประหยัด หนุนให้เรามีปริมาณจัดส่งพัสดุเพิ่มมากขึ้น บวกกับช่วงโควิดระบาดบ้าง ขณะที่คู่แข่งในตลาดประสบปัญหาหยุดชะงักไม่สามารถให้บริการได้บ้าง
จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกล่าสุด หลังเปิดศักราชใหม่ปี 65 หากเทียบไตรมาสแรกปีที่แล้วก็เริ่มเห็นทิศทางบวก เพราะว่ามีปริมาณพัสดุที่มากขึ้น แม้ไม่อาจเทียบได้กับช่วงเวลาต้นปีของปีที่แล้วก็ตาม เพราะปีนี้มีความแตกต่างกันไป มีการออกมาทำงานและใช้ชีวิตได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ขณะที่พฤติกรรมหลักการสั่งซื้อของออนไลน์ประเภทสินค้าจำเป็นเพื่อสต็อคไว้ในบ้าน มองได้เลยว่า ตลาดไม่ได้ลดลงเลย แต่ก็ไม่ได้พีคมากๆ เหมือนช่วงที่มีการล็อกดาวน์
นโยบายที่นำมาขับเคลื่อนช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่กลางปีของปีที่แล้วจนมาถึงปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากครั้งก่อนหน้านี้ ไม่ว่าดูแลด้านความปลอดภัย การใส้หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เราตั้งไว้ตามจุดให้บริการ แต่ครั้งนี้เรามีนโยบายใหม่เพิ่มเข้ามา ก็คือ การขยายฮับขนาดใหญ่มีพื้นที่เกิน 1 หมื่น ตร.ม.ขึ้นไป จากเดิมที่มีอยู่ 9 แห่งขยายเพิ่มเป็น 12 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์ฯสำรองหากเกิดเหตุฉุกเฉินจากคลังใหญ่ ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ในทุกหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ บางนา ปทุมธานี สมุทรสาคร และนนทบุรี
ส่วนคลังหลักก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้วในแง่ความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการ Bubble and Seal เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า พนักงานของเราไม่มีการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเล็กๆ หากเกิดอะไรขึ้นเราก็จะดูแลเป็นจุดๆ แต่ที่ผ่านมาในคลังใหญ่ไม่เคยเจอปัญหา เราต้องมองไปข้างหน้าหากมีการหยุดชะงักขึ้นจากสถานการณ์โควิดที่แรงขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจบ้าง แต่ต้องดำเนินอยู่และต้องไปต่อได้ ด้วยเหตุผลที่เราเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ถ้าไม่มีการขนส่งอย่างเรา ก็อาจส่งกระทบกับคนที่กักตัวอยู่บ้านไม่มีอะไรดำรงชีพได้กินได้ใช้
จริงๆ แล้ว นโยบายภาครัฐอาจดูผ่อนคลายมากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ แต่สิ่งที่ Kerry มองไปข้างหน้า คือ พนักงานเราต้องปลอดภัยไว้ก่อน จึงมีนโยบายไม่ให้พนักงานเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานส่งพัสดุของเราปลอดภัย ไม่ได้นำพัสดุที่มีความเสี่ยงไปมอบให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
เคลียร์กองพัสดุ 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวันอย่างน่าทึ่งได้อย่างไร?
เราต้องการให้ลูกค้าได้รับการบริการพึงพอใจในระดับที่สูง แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ต้องทำกันอย่างมีระบบภายใต้การมอนิเตอร์รายวัน หากนับตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำต้องดูตั้งแต่ด้านหน้า กลาง และหลัง ในมิติกลยุทธ์ของเราหากมองด้านหน้าต้องดูแลเหมือนรักษาระดับปริมาณพัสดุที่เข้ามาต้องบาลานซ์กับคนอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่า ในแต่ละวันอาจมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ดังนั้น ทีมงานด้านหน้าจึงต้องมีการคาดการณ์และทำงานร่วมกับคู่ค้าหน้าร้านใกล้ชิดรายวัน การจำกัดปริมาณพัสดุในแต่ละวันที่ต้องรู้ว่าจะจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร แน่นอนบางครั้งปริมาณพัสดุที่เข้ามาด้านหน้าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราบริหารจัดการได้โดยเข้าไปอัพตามจุดต่างๆ แต่พัสดุที่เข้ามาตรงคลังอาจมีความจุหนึ่งครั้งที่มีลิมิต เช่น ขนอยู่วันละ 3 ล้านชิ้น แต่คลังได้แค่ 5 แสนชิ้น ก็เต็มคลังซึ่งจะระบายพัสดุไม่ได้ ดังนั้น จึงมีนโยบายขยายคลังสำรองเอาไว้เพื่อนำไปใช้ใน 2 กิจกรรม คือ ภาวะฉุกเฉิน และรับพัสดุเกินปริมาณ จริงๆ แล้ว ก็เหมือนการดูระดับน้ำในเขื่อนเพื่อระบายออกไปตามแม่น้ำลำคลองสาขาต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่หมู่บ้านและชุมชน ดังนั้น เราต้องรักษาจุดสมดุลของแต่ละจุดอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่งานด้านข้อมูลต้องมีประสิทธิภาพอยู่เสมอเช่นกันที่จะเข้ามาประมวลผล ซึ่งหลังบ้านต้องมีข้อมูลเข้าไปประเมินผลด้วยการใช้ระบบ AI ซึ่งลงลึกถึงรายละเอียดว่าผู้ส่งเป็นผู้ส่งไปที่ไหนบ่อย พัสดุประเภทอะไร ขนาด น้ำหนัก เพื่อประเมินได้ว่าผู้ส่งแต่ละคนที่เข้ามาในโครงข่ายมีปริมาณเท่าไหร่ ที่ร้านเยอะที่ร้านไหนน้อย ส่งไปที่คลังไหนมาก-น้อย และระบายไปที่ปลายทางที่ไหนมาก-น้อย
เหล่านี้เป็นการดูรายละเอียดผ่านระบบ AI ทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์การบริหารจัดการหลังบ้านเราได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เรารู้ว่า เราจะรักษาระดับในแต่ละจุดอย่างไรให้บาลานซ์ หากเปรียบเป็นเขื่อนก็เหมือน “คลังใหญ่” หากนับเป็นแม่น้ำ-คลองเล็กๆ ก็เหมือน “DC” ดังนั้น จึงต้องดูว่าปริมาณพัสดุที่จะเข้าไปในแต่ละจุดแต่ละที่มันมีมากน้อยแค่ไหน ภายใต้การมอนิเตอร์ให้อยู่ในการรักษาระดับทุกวันทุกที่ตลอดเวลา เราไม่ได้มีการผลักดันไปโดยที่ไม่ได้ระวังในเรื่องปริมาณพัสดุที่จะเข้าไปต้องบาลานซ์กับปริมาณกำลังพล
ปีที่แล้วเรามีพนักงานจัดส่งพัสดุอยู่ประมาณ 2 หมื่นคน มาถึงเวลานี้เราเติมทัพเข้าไปอีก 1 หมื่นคน รวมเป็น 3 หมื่นคน เราก็ยังใช้กลยุทธ์นี้เป็นหลักในการมอนิเตอร์รายวัน ที่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์และลูกค้าปลายทางในแต่ละที่อีกด้วย กรณีที่มีการล่าช้าไปบ้างแน่นอนสิ่งสำคัญต้องมีการสื่อสารหากเกิดปัญหาขึ้นในแต่ละพื้นที่ ต้องมีการสื่อสารที่ดีกับคู่ค้าว่าช่วงนี้ของอาจจะดูล้นไปบ้าง เราก็อาศัยศูนย์ฯ ใกล้เคียงในการะบายบ้าง หรืออาจจะคุยกับทางลูกค้าว่า จะมีความล่าช้าไปบ้าง โดยมากแล้วเราจะมีระบบแจ้งเตือนไปล่วงหน้า
หากไม่ได้จริงๆ ก็สามารถโทรเข้ามาที่ Call Center หรือระบบแชทไลน์ ที่เรามีพนักงานในการตอบข้อสงสัยหลังบ้าน ที่เป็นส่วนหนึ่งบริการหลังการขาย ที่เราเติมเข้าไปอย่างน้อยกว่า 200 ชีวิต แต่เราก็มีระบบ Robot ในการตอบกลับประมาณหนึ่ง เช่น หากลูกค้าหย่อนเลขพัสดุเข้ามาซึ่งเขาจะเซิร์สหาคำตอบให้ลูกค้าได้ หรือหากที่ต้องใช้คนตอบจริงๆระบบ AI มันก็จะส่งมาให้แล้วว่าคนจะต้องเข้าไปจัดการในเรื่องนี้
คู่ค้าหน้า-หลังบ้านมีบทบาทสำคัญดัน Kerry ยืนบนจุดสูงสุด
คู่ค้าของเรามีหลากหลาย ตั้งแต่ด้านหน้าทั้งในส่วนบริหารจัดการรวบรวมของขายพัสดุเพื่อให้เข้ามาที่ร้าน นอกนั้นก็มีคู่ค้าเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นกลุ่มผู้ลงทุน เช่น BTS, BTI เป็นต้น ขณะที่คู่เชิงไฟแนนซ์เชียลก็มีทั้งธนาคารต่างๆซึ่งเป็นลูกค้าหลักอยู่กับเรามานาน
คู่ค้าด้านหน้าปีที่แล้วเรามีจุดส่งพัสดุ 16,000 จุด จากปลายปีที่แล้วมาถึงเวลานี้เราขยายเพิ่มถึง 20,000 จุดด้วยกัน ซึ่งดูจากทิศทางการเติบโตที่เป็นบวกแล้วจะเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 จุด แน่นอนในปีนี้ ซึ่งทั้งหมด 20,000 จุด มีทั้งในส่วนที่เป็นร้านของเรามีทั้งที่เป็นร้านค้าพาร์ทเนอร์ ที่เป็นรีเทลเชนใหญ่ๆ มีแบรนด์ใหญ่ๆ ประมาณ 60-70 แบรนด์ เช่น เซนทรัล กรุ๊ป, แฟมิลี่มาร์ท, Tops, B2S, officemate เป็นต้น
หรือจะเป็นแบรนด์ไทยเบฟ บิ๊กซีมินิ และบิ๊กซีซูเปอร์สโตร์ทุกสาขา สามารถส่ง Kerry ได้หมด หรือจะเป็น ปตท. ในส่วนร้านค้า Jiffy แม้แต่ปั้มเชลล์ก็ส่งได้ หรือจะเป็น ดูโฮม, บุญถาวร รวมถึงร้านค้าพัสดุฮาร์ดแวร์ต่างๆ รวมแล้ว 3,500-4,000 จุด ขณะที่ร้านที่เป็นโชห่วย ร้านกาแฟ ร้านเครื่องเขียนต่างๆ ก็มีถึง 9,000-10,000 จุด และกลุ่มสุดท้ายก็คือร้านไปรษณีย์เอกชน
ขณะที่คู่ค้าหลังบ้านที่เราเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มทุนใหญ่ เช่น กลุ่ม SABUY ที่ลงทุนในธุรกิจที่เป็นไปรษณีย์เอกชนชื่อ ชิปป์สไมล์ ซึ่งมีเกือบประมาณ 5,000 สาขา และร้านอื่นในเครือ SABUY ก็มีอีกประมาณ 3-4 แบรนด์ อีกประมาณกว่า 1,000 สาขา ซึ่งเป็นจุดที่ Kerry สามารถเข้าไปรับพัสดุต่อได้ และมีแนวโน้มที่จะขยายขึ้นไปอีกหลายจุด
win win Solusion คาถามัดใจคู่ค้าเติบโตไปด้วยกัน
จริงๆ แล้ว ตลอดระยะเวลา 15-16 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เราทำธุรกิจนี้ Kerry เป็นผู้ให้บริการที่ทำงานหนักและเรารักที่จะทำงานหนักอย่างจริงจัง และมั่นใจกับลูกค้าเราจะทำธุรกิจโดยมีหลักธรรมาภิบาลมีความตรงไปตรงมา เรามีการเชื่อมโยงกับคู่ค้าจำนวนมากในหลากหลาย เรามั่นใจว่าคู่ค้าของเราพอใจกับการเป็นพาร์ทเนอร์กับ Kerry ถามว่าทำไมก็เพราะว่าเราให้แต่ความจริงใจให้ความเชื่อมั่นกับคู่ค้าว่าทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันในการร่วมธุรกิจ เราไม่เคยที่จะไปทำให้คู่ค้ารู้สึกว่าเราเข้าไปแย่งธุรกิจ หรือเข้าไปแข่งขันกับเขา เราไม่เคยทำให้ใครกังวลกับการทำธุรกิจกับ Kerry แน่นอนว่าในการสร้างเครือข่ายส่งพัสดุที่อาจมีปริมาณมาก อาจจะมีทั้งรูปแบบแฟรนไชส์ หรืออาจจะมีในรูปแบบพาร์ทเนอร์ต่างๆ เราเองก็ไม่เคยที่จะทำให้พาร์ทเนอร์เหล่านั้นรู้สึกว่าเข้าไปแย่งงานของเขา เราถือว่าเราวางและออกแบบมาตรฐานและกติกาชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มการทำธุรกิจร่วมกัน และเราไม่เคยบิดพลิ้วในเรื่องวิธีการทำงานร่วมกัน
เราขับเคลี่อนธุรกิจแบบให้เกียรติซึ่งกันและกันตลอดเวลา ดังนั้น การร่วมธุรกิจกับคู่แบบ win win Solusion ที่เราวางนโยบายการทำงานร่วมกันกับคู่ค้า คือ สิ่งที่เราเชื่อมั่นตั้งแต่แรก และคงเชื่อต่อไปว่าเราจะยึดมั่นในวิธีการทำงานแบบนี้ นั่นคือ “จุดยืนของเรา”
เปิด 4 บริการใหม่ เติมเต็มศักยภาพแบรนด์สีส้มขวัญใจมหาชน
เราได้มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์รายสำคัญของตลาด Food Delivery รายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งจะเปิดตัวในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ บริการนี้เป็นการเพิ่มช่องทางการจัดส่งให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยที่ลูกค้ากดเข้ามาใช้บริการผ่านแอปฯ ของ Kerry ซึ่งเป็นแอปฯ ใหม่เพื่อโปรโมทบริการนี้ ปัจจุบันมีคนดาวน์โหลดอยู่ประมาณกว่า 2 ล้านคน เราจะต่อยอดแอปฯเพื่ออัพเกรด เพื่อให้คนสามารถกดเพื่อรับพัสดุถึงบ้านด้วยบริการใหม่ “รับทันที”
ปัจจุบันในตลาดการแข่งขันประเภทนี้เร็วที่สุดที่เคยมีการยอมรับกัน คือ รับทันทีภายใน 1 ชม. นั่นหมายความว่าต้องทำให้คนต้องรอ แต่เราพบว่า ตลาดมีความต้องการเร็วขึ้น คนใจร้อนมากขึ้น และไม่อยากรอแล้ว ซึ่งกลุ่มลูกนี้ก็จะกดเข้าในแอปฯ ซึ่งจากนั้นทาง Food Delivery แอปฯ พาร์ทเนอร์ของเราก็จะเข้าไปรับจัดส่งให้ตามศูนย์ฯ ของเรา ซึ่งตรงนี้ตอบโจทย์คนที่ใจร้อนแต่พร้อมจ่ายค่าบริการที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งกลุ่มลูกค้านี้มีอยู่เยอะพอสมควรโดยเฉพาะในเขตเมือง โดยจะเปิดบริการในเดือนก.พ.ในพื้นที่กทม.เป็นหัวใจหลักก่อน
บริการตัวที่ 2 เป็นการต่อยอด KERRY COOL เจาะกลุ่ม Key Account ขยายสู่ C2C เมื่อปลายปีที่แล้วเราได้ลงนามในสัญญาการร่วมทุนกับเครือเบทาโกร หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพที่ใหญ่ที่สุดในไทย ผลักดันบริการ KERRY COOL เพื่อเข้าสู่ตลาดขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ด้วยคุณภาพและเทคโนโลยีระดับโลก ทว่า ปีนี้เราจะเห็นโฉมหน้า Kerry Cool ด้วยการขยายไปในส่วนของลูกค้า Key Account ที่เป็นกลุ่มธุรกิจใช้บริการส่งไปยังปลายทางเริ่มที่ภาคใต้ในไตรมาสแรก ต้นไตรมาสสองขยายไปยังภาคอื่นๆด้วย และกลางปีจะเริ่มขยายครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายบริการให้กับ C2C อีกด้วย
ตัวที่สามจะขยายร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ใหญ่ๆ ในลักษณะโมเดลเดียวกับ Kerry Cool โดยจะเป็นการร่วมมือให้บริการส่งของชิ้นใหญ่ซึ่งผู้เข้าร่วมลงทุนจะเป็นบิ๊กรีเทลของไทย และตัวสุดท้ายก็จะมีคู่ค้าประเภทไฟแนนซ์เชียลเซอร์วิส ที่เราเปิดบริการไปเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ ระบบ e-Wallet ภายใต้ชื่อ KERRY Wallet ต้องบอกว่า ช่วงหลังมาตั้งแต่โควิดระบาดพฤติกรรมการใช้เงินสดลดลง มีการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นกว่า 90% แต่ปริมาณบริการ COD เราเพิ่มขึ่นกว่า 50% เราเห็นดีมานด์ของผู้บริโภคตรงนี้เปลี่ยนไปจึงนำการบริการ kerry Wallet เข้ามารองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในสังคม E- Payment ที่จะเข้ามาช่วย Ecosystem ของเงินเข้ามาอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเรา ทำให้ E-Payment เป็นไฮไลท์จึงอยากให้เป็นบริการตัวที่ 4 ในปีนี้ที่ถูกขับเคลื่อน ซึ่งได้มีพัฒนาไปแล้วและจะมีการ Soft Launch ในไตรมาส 1 และ Full Launch ในไตรมาส 2
หากมองอย่างนี้แล้ว Kerry สามารถตอบโจทย์อะไรลูกค้าได้บ้าง? หากส่งพัสดุด่วนก็ Kerry express ของเย็น Kerry Cool ชิ้นใหญ่ก็อีกหนึ่ง Kerry ที่กำลังจะเปิดตัว เท่ากับว่าไม่ว่าจะส่งอะไรก็นึกถึง Kerry และใช้บริการ E-Payment ผ่าน คือ kerry Wallet ถือว่าเป็น Ecosystem ครบเครื่องในธุรกิจที่เรากำลังจะต่อยอดเติมเติมให้ธุรกิจของเรา
พร้อมยืนเคียงข้างคู่ค้าทุกระดับด้วยเกียรติสูงระดับเดียวกัน
ต่อไป หากจะส่งอะไรส่งทุกอย่างก็ให้นึกถึง Kerry เราพัฒนาผู้ขายเพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ เราสร้างงานให้กับคนเพิ่มขึ้นในธุรกิจของเรา สร้างธุรกิจให้คนมีโอกาสขายสินค้ามากขึ้นผ่านช่องทางบริการของเรา เราให้ความเชื่อมั่นลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เชื่อว่าบริษัทอาจมีปัญหาแต่มีปัญหาน้อยที่สุดแล้วในประเทศไทยที่พ่อค้าแม่ค้าให้ความไว้วางใจ สุดท้ายเราไม่เคยหักหลังใครและให้เกียรติคู่ค้า และเราสร้าง win win Solusion กับคู่ค้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ๆ หรือจะเป็นเถ้าแก่เจ้าของร้านเล็กๆ หรือแม้แต่ร้านโชห่วยเราก็ให้เกียรติทุกคนในระดับเดียวกัน
ทุกคนต้องโตไปกับเรา พัสดุเพิ่มขึ้นที่ไหนทุกคนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นที่นั่น ถือเป็นเหตุที่ทำให้เราได้รับการตอบรับดี แม้กระทั่งร้านโชห่วยทั่วไทยกว่าหมื่นแห่ง เท่ากับว่ามีหมี่นคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจที่ให้ความไว้วางใจและอยู่กับเราตลอดหลายๆ ปี ที่มีการพัฒนาบริการ C2C ถือเป็นความเชื่อมั่นและเราไม่คิดที่จะไปขายของหรือเข้าไปแย่งลูกค้าของเขา เราเป็น Sharing Economy เป็นบริษัทที่กินแบ่งเพื่อแชร์ออกไปให้กับพาร์ทเนอร์ทุกคน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คู่ค้ารักเราและอยู่กับเรามาอย่างยาวนาน
ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจหอมหวนอย่าง “ขนส่งพัสดุด่วน” ชวนให้ผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งไทยและเทศเข้ามาชิมลางไม่ขาดสาย ทำให้สมรภูมิสู้รบในช่วงที่ผ่านมาแข่งขันดุเดือดในทุกมิติบริการ หวังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนโต ทว่ากับศักยภาพบนจุดยืนสูงสุดในฐานะเบอร์ 1 ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนเอกชนใน Kerry Express เหนือกว่าคู่แข่งในทุกๆ ด้าน ย่อมหอมชวนให้คู่แข่งมุ่งมั่นหวังโค่นล้มบัลลังก์เจ้าตลาดเช่นกัน
ถึงกระนั้น Kerry Express ก็ไม่เคยยอมหยุดนิ่งในการพัฒนาและเติมเต็มศักยภาพในทุกด้าน เพื่อยกระดับการบริการที่เหนือระดับขึ้นไปอีก พุ่งชนเป้าหมายยึดแท่นเบอร์ 1 ในฐานะผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนขวัญใจมหาชนตลอดไป