“พี่ศรี” ร้อง ป.ป.ช. สอบคดีเก่าผู้ว่า รฟม. แอบเหินฟ้าไป ตปท. เตือน ครม. ไฟเขียวต่อสัญญาอีกวาระทั้งที่ยังมีชนักติดหลังอื้อ
“พี่ศรี” มาแล้ว ดอดร้อง ป.ป.ช. สอบเอาผิดผู้ว่าการ รฟม. กรณีแอบเหินฟ้าไปต่างประเทศพร้อมครอบครัวโดยไม่แจ้งขออนุมัติบอร์ด ก่อนเรื่องแดงเพราะสื่อเอาไปตีแผ่ แถมยังมีกรณีถูกร้องสอบถาราคาซังเป็นพรวน จับตา ครม. เตรียมไฟเขียวต่ออายุให้อีกวาระ
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 234 (2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (2) เพื่อไต่สวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีผู้ว่าการ รฟม. เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัวกับครอบครัว โดยไม่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ
ในรายละเอียดหนังสือร้องเรียนระบุว่า การแต่งตั้งนายภคพงษ์ เป็นผู้ว่าการ รฟม.ในอดีตนั้น ยังคงมีปัญหาข้อกฎหมาย เพราะบอร์ด รฟม. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไป ทั้งที่นายภคพงษ์ ยังถูกร้องให้มีการตรวจสอบ 2 กรณี คือ 1) กรณีให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย เพื่อเปลี่ยนแปลงงาน จนเป็นเหตุทำให้ รฟม. ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 290 ล้าน ทั้งที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง รฟม. ถึง 2 ครั้ง ให้มีการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับ 2) กรณีการแก้ไขสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ในลักษณะเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมากลุ่ม ช.การช่าง ให้เรียกร้องเงินเพิ่มกรณี รฟม. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนดสัญญา ซึ่งขัดกับเอกสารประกวดราคาที่กำหนดให้ผู้รับเหมาขยายเวลาก่อสร้างได้เท่านั้นแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ นายภคพงษ์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม. จงใจ หรือเจตนาฝ่าฝืนข้อบังคับขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร ฉบับที่ 8 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ลงวันที่ 18 มี.ค. 2536 โดยชัดแจ้ง กรณีเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัวพร้อมครอบครัว อันมิใช่ภารกิจของ รฟม. โดยมิได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการตามข้อ 4 ของข้อบังคับองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ฉบับที่ 8 ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ลงวันที่ 18 มี.ค. 2536 โดยมีบันทึกตอบโต้ระหว่างผู้ว่าการ รฟม. ที่มีไปยังสื่อมวลชนชี้แจงกรณีการเดินทางไปดูงานต่างประเทศชัดแจ้ง และชี้ให้เห็นว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการส่วนตัวพร้อมครอบครัว อันมิใช่ภารกิจของ รฟม. โดยมิได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ว่าการ รฟม. เป็นการกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่
ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ ยังได้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนผู้ว่าการการ รฟม. และวินิจฉัยกรณีการจัดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และสายสีม่วงใต้ ที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ทั้งๆ ที่ทั้งสองสายนี้มีเส้นทางลอดใต้เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน จึงอาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยมิชอบ มีลักษณะกีดกันผู้ประมูลจากต่างชาติ แม้จะกำหนดว่าเป็นการเปิดประมูลนานาชาติ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์หรือรถไฟฟ้าบนดิน หรือลอยฟ้ากับรัฐบาลไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ผลงานในต่างประเทศห้ามนำมาใช้ ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้เอื้อต่อผู้รับเหมาไทยเพียง 4-5 เท่านั้น ที่อยู่ในเกณฑ์ส่อเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อฮั้วประมูล เนื่องจาก รฟม. แบ่งงานประมูลงานโยธาออกเป็น 6 สัญญาไว้ให้แล้ว
ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 มี.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้ต่อสัญญาจ้างนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ออกไปอีกวาระ หลังจากครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน เม.ย. 65 นี้ด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวแหล่งข่าวระบุว่า หากในอนาคตผลสอบออกมาว่า ผิดจริง ครม. ที่มีส่วนในการไฟเขียวแต่งตั้งและต่อสัญญา จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยทั้งคณะ
ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ ที่ต้องย้ำ คือ ใครจ่ายเงินให้ผู้ว่าฯ รฟม. เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ชัด เพราะหากมีผู้รับเหมาจ่ายให้วงเงินค่าใช้จ่ายจะเกิน 3,000 บาทแน่นอน เป็นการรับสินบน แล้วยังพาใครไปด้วย เพราะการไปเที่ยว ตปท. นอกภารกิจของ รฟม. โดยไม่ขออนุมัติจากบอร์ด รฟม.