ในช่วง 2-3 ปีมานี้ จะเห็นว่า มีรถบรรทุกดินวิ่งกัน เกลื่อนเมืองไปทั่ว หลังจากมีพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เกิดขึ้นมา บรรดาเจ้าของที่ดินทั้งหลายก็แปลงร่างที่ดินรกร้างว่างเปล่าของตัวเองเป็นที่ปลูกมะนาว มะม่วง กล้วย กันไปตามอัธยาศัย เพื่อให้เสียภาษีในอัตราทำการเกษตร ซึ่งน้อยลงกว่าการเสียภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์มาก
การปรับปรุงพื้นที่มีหลายรูปแบบขึ้นกับสภาพพื้นที่ หนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยมกันมากและธุรกิจเฟื่องฟูขึ้นมาทันตา ก็คือ “การถมที่” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แล้วปลูกพืชเกษตร รอเวลามีโครงการอสังหาริมทรัพย์มาลง ติดต่อเข้ามาซื้อที่ดินก็จะขายได้ราคาดี เพราะที่ดินสวยถมเสร็จแล้ว
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ผลพวงที่ตามมาก็คือ ถนนหนทางพังพินาศไปตามๆ กัน ซึ่งในแต่ละปีรัฐต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อซ่อมแซมถนนเป็นจำนวนมหาศาล สาเหตุหลักที่ถนนพังเร็วก็มาจากพวกบรรดาผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้ บรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรถบรรทุกดิน แต่เกิดในทุกวงการ ยิ่งในช่วงน้ำมันราคาแพง ก็ต้องอัดสินค้าให้ได้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนและได้กำไรมากขึ้น
รถบรรทุกดินเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนว่าถ้ามีการถมที่เกิดขึ้นที่ไหน ที่นั่นจะเห็นถนนพังในทันที สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และเพิ่มความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น รวมถึงการเสียเวลาในการสัญจร ทั้งช่วงที่ถนนพังและช่วงที่ต้องซ่อมแซมถนน
คำถามก็คือ จะแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินกันด้วยวิธีไหน?
เรื่องนี้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ได้เคยเสนอแนะ 6 แนวทาง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ ครม.รับทราบ และครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการ
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกระทรวงคมนาคม ได้ระบุว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินและได้ประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 พิจารณาใน 6 ประเด็น มีผลสรุปออกมาดังนี้คือ..
ประเด็นแรก เรื่อง การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนนี้กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า การจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะสิ้นสุดเมื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในท้องที่ และจะมีการเพิ่มข้อความในบันทึกการจับกุมให้ดำเนินการกับผู้ว่าจ้างด้วย
ขณะเดียวกันกรมทางหลวงจะสรุปผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นรายเดือนให้กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการลงโทษในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการระบุหมายเลขทะเบียนรถ จังหวัดที่รถจดทะเบียน และระบุว่ารถมีการดัดแปลงหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดให้ลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ข้อสงสัยส่วนตัว : ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่จับกุม เคลียร์กันก่อน ไม่ไปลงบันทึกประจำวัน ก็ไม่สามารถเอาผิดไปถึงผู้ว่าจ้างได้ใช่หรือไม่
ประเด็นที่สอง การพิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการควบคุม กำกับ ดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ เพื่อจัดการกับรถบรรทุกที่กระทำความผิดอย่างเข้มงวด
กระทรวงคมนาคมรายงานในประเด็นนี้ว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และสหพันธ์และสมาคมด้านการขนส่งได้มีการลงนามใน MOU “โครงการรถบรรทุกสีขาว” ว่าด้วยความร่วมมือในการกำกับควบคุมยานพาหนะไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
พร้อมทั้งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายรวบรวมรายชื่อสมาคม สมาพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งด้วยรถบรรทุก เพื่อให้กรมทางหลวงจัดทำMOUเพิ่มเติมต่อไป
ข้อสงสัยส่วนตัว : เป็นการขอความร่วมมือ ไม่มีบทบังคับที่จริงจัง ลง MOU แล้วก็จริงแต่อาจไม่ปฏิบัติตาม
ประเด็นที่สาม การจัดประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
เรื่องนี้กรมทางหลวงได้ศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายในเบื้องต้นแล้ว โดยจะแก้ไขจากโทษอาญาให้เป็นโทษทางแพ่งที่มีอัตราก้าวหน้า รวมทั้งได้ศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถบรรทุกพิเศษ เช่น กลุ่มรถขนาดใหญ่ โดยจะแก้ไขพระราชกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานพ.ศ. 2497 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด และที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อสงสัยส่วนตัว: ความผิดทางอาญาส่วนใหญ่ไม่อาจยอมความได้ เพราะถือว่าทำความเสียหายให้แก่มหาชน ทำลายความสงบสุขของบ้านเมือง ส่วนความผิดทางแพ่ง ผู้เสียหายอาจยกเว้นความรับผิดให้ได้โดยไม่นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล ทำไมจึงแก้ไขจากโทษอาญาให้เป็นโทษทางแพ่ง และการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษถ้ายิ่งกำหนดสูง ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเลือกช่องทางจ่ายส่วยมากขึ้นหรือไม่
ประเด็นที่สี่ การออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่ง และมีช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด
ทางกระทรวงคมนาคมชี้แจงประเด็นนี้ว่า มาตรการภายในสถานีขนส่งสินค้าของกรมการขนส่งทางบก จะมีการบันทึกน้ำหนักโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ (Weight in Motion) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ชั่ง ตวง วัด ส่วนมาตรการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รถบรรทุกที่วิ่งออกจากท่าเรือจะต้องมีการชั่งน้ำหนักทุกครั้งเพื่อควบคุมน้ำหนักที่ต้นทาง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่เครื่องชั่งดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
ในประเด็นการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมนี้ กระทรวงคมนาคมยอมรับว่า ยังไม่มีมาตรการบังคับให้โรงงานต้องมีเครื่องชั่งน้ำหนักและการใช้เทคโนโลยี On Board Weighing System เพื่อแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่ง ซึ่งจะต้องมีการลงทุนจำนวนมาก จึงเป็นการยากที่จะบังคับให้ผู้ประกอบการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว
ข้อสงสัยส่วนตัว : ทำไมเครื่องชั่งที่ท่าเรือยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน รถบรรทุกที่ชั่งน้ำหนักจากท่าเรือแล้วมาวิ่งบนท้องถนนทุกวันนี้จะเชื่อได้อย่างไรว่าน้ำหนักไม่เกินจริง ส่วนการมีช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิดที่ป.ป.ช.ให้ข้อเสนอแนะไว้ ไม่มีการระบุถึงแต่อย่างใด
ประเด็นที่ห้า การผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-Speed Weigh-In-Motion: HSWIM) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge Weigh-In-Motion: BWIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลให้การบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียม เสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ
ประเด็นนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้นำเทคโนโลยีอัตโนมัติ HSWIM และ BWIM มาใช้ในการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกแล้ว แต่ยังขาดการรับรองเครื่องชั่งน้ำหนักจากสำนักงานกลาง ชั่ง ตวง วัด เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ข้อสงสัยส่วนตัว : ประเด็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้ดีมากเพราะจะลดเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนำไปสู่การทุจริตต่อหน้าที่ได้ แต่ทำไมเมื่อนำเทคโนโลยีอัตโนมัติ HSWIM และ BWIM มาใช้แล้ว แต่ยังขาดการรับรองจากสำนักงานกลาง ชั่ง ตวง วัด จึงไม่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ประเด็นที่หก การเพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น
กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก ได้กำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดและกำหนดมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือทุจริตโดยดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับพฤติกรรมข้าราชการตำรวจ
ข้อสงสัยส่วนตัว: มีสถิติมาแสดงหรือไม่ว่ามีการลงโทษเจ้าหน้าที่มากน้อยเพียงใด และถ้าผู้บังคับบัญชารับผลประโยชน์ด้วยจะทำอย่างไร และศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับพฤติกรรมตำรวจดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องทุกข์สำเร็จกี่รายในแต่ละปี
อีกคำถามดังๆ ที่อยากทิ้งท้ายไว้ก็คือ ใครบ้างที่เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเก็บส่วยรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และเมื่อถนนพังแล้ว ใครบ้างได้ประโยชน์จากงบประมาณซ่อมแซมถนน เดินหมากกินสองต่อแบบนี้ ร้อยปีก็แก้ปัญหาไม่ได้
มีแต่คนหาเช้ากินค่ำ ใช้รถกระบะ หรือบรรทุกเล็ก หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์ ที่ถูกจับกุมกันเป็นรายวัน แต่รถใหญ่บรรทุกน้ำหนักเกินที่จ่ายรายเดือนวิ่งกันฉลุยโครมๆ ปล่อยผ่านหน้าตาเฉย!
โดย..นายตือฮวน