พรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ 14 พรรค มีเสียงในสภากว่า 30 เสียง หากผนึกกำลังรวมตัวได้ ย่อมมีอำนาจต่อรองที่ทรงพลัง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้มีอำนาจจะพยามทุกวิถีทางดึงมาเป็นพวกพ้องให้ได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดทั้ง “เล่ห์” และ “กล”
งานดินเนอร์อย่างหรูหรา ณ สโมสรราชพฤกษ์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพ เชิญพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย (ภท.) ชาติไทยพัฒนา (ชพน.) มาร่วมสังสรรค์ กระชับความสัมพันธ์ ให้ แน่นแฟ้นหลังจากทำงานร่วมกันมา กว่า 3 ปี จวนเจียนจะครบเทอม ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
บรรยากาศภายในงานเลี้ยง เป็นไปอย่างครึกครื้น ชื่นมื่น มีแต่เสียงหัวร่อต่อกระซิก แวดล้อมด้วยเมนูเลิศรส ประดับรายล้อมบนโต๊ะอาหาร มันช่างน่าอิจฉาตาร้อนเสียจริง!
ทั้งหมดคือ..ภาพสะท้อน ที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า "พรรคเล็ก" จำนวน 14 พรรค รวมกว่า 30 เสียง มองด้วยความเคียดแค้นใจอย่างยิ่ง
เพราะอย่าลืมว่า เสถียรภาพของรัฐบาล ที่สามารถดำรงคงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็มีมือของ "พรรคเล็ก" กว่า 30 เสียงเหล่านี้ คอยสนับสนุน เป็นเสียงกลุ่มหนึ่งในสภาฯ ที่โหวตให้รัฐบาลแคล้วคลาดมาโดยตลอด
ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายรัฐบาลของฝ่ายค้าน หรือการเสนอผ่านกฎหมายสำคัญต่างๆ นานาที่ผ่านมา..
แต่เมื่อยามเสพสุขกลับไม่คำนึงถึง "ผมถือว่าเป็นการมองข้ามหัว ไม่ให้เกียรติกันอย่างที่สุด" คือความเห็นของ สุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หน.พรรคประชาธิปไตยใหม่ ระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรง !
และกรณีดังกล่าว ย่อมทำให้กุนซือข้างกาย "บิ๊กตู่" สำเหนียกถึง จนเป็นที่มาของการจัดดินเนอร์รอบสอง พุ่งเป้าเจาะจงเชิญกลุ่มการเมือง "พรรคเล็ก" มาเลี้ยงปลอบใจ ณ สถานที่เดิม สโมสรราชพฤกษ์ พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
แต่ทว่า งานดินเนอร์คราวนี้ที่เพิ่งผ่านพ้นไป หมาดๆ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น
ประการสำคัญ ไม่สามารถระดม "พรรคเล็ก" ทั้งหมดมาร่วมงานได้ มีเพียงบางส่วน อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทรักธรรม, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่
สำหรับ "พรรคเล็ก" จำนวน 14 พรรค แยกออกเป็น 2 ขั้ว คือ “ขั้วพรรคปัดเศษ 10 พรรค” ซึ่งมี ส.ส.พรรคละ 1 คน ได้แก่ พรรคไทรักธรรม, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคเพื่อชาติไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคประชาธรรมไทย และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
โดยขั้วนี้มี “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย เป็นตัวแทนกลุ่ม มี 10 ส.ส.ในสังกัด
อีกขั้ว คือ “พรรค 2-6 เสียง” ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พรรคพลังท้องถิ่นไทย และ พรรคพลังท้องถิ่นไท มี ส.ส.รวม 22 คน
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มพรรคเล็กทั้งหมด มีประเด็นทางการเมืองตรงกัน คือ ทุกพรรคจะเสียประโยชน์จากการแก้ระบบเลือกตั้ง ใช้บัตร 2 ใบ ที่จะใช้ในการเลือกตั้งรอบหน้า ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด จึงต้องหาพรรคใหม่ยึดเกาะ และแน่นอนว่าความได้เปรียบ คือ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ขั้วรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพลังประชาชรัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือ ชาติไทยพัฒนา ที่สะสมเสบียงกรังไว้อย่างพร้อมพรั่ง
เชื่อว่า คงไม่มีใครอยากไปอยู่กับฝ่ายค้าน นอกจากไม่มีทางไปจริงๆ และหากมองในมุมกลับกัน พรรคฝ่ายค้าน อย่าง เพื่อไทย (พท.) หรือ ก้าวไกล (กก.) ก็คงไม่อยากได้ ส.ส.จาพ พรรคเล็ก เหล่านี้มาร่วมชายคา
เพราะว่า ส.ส.จากพรรคเล็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต่างและล้วน "โนเนม" ไม่ได้ "โดดเด่น โด่งดัง" แต่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา เพราะการเลือกตั้ง ที่เรียกว่า "ระบบปันส่วนผสม" โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการ "ปัดเศษ" จากคะแนนที่ได้ ซึ่งระบบการเลือกตั้งดังกล่าวนี้ ต้นตอก็มาจาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ยึดอำนาจมากจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย
คงจำกันได้ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ต้องการให้พรรคการเมือง มีพลังรวมตัวเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ได้ ส.ส.จำนวนมาก อย่าง เพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์ แต่ต้องการให้กระจายกันเป็นพรรคเล็ก พรรคน้อย ง่ายต่อการควบควบคุม จึงได้มอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งนั่งอยู่ใน คสช. ไปตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 (กรธ.) ร่างกฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยใช้ระบบปันส่วนผสม ในการเลือกตั้ง หลังจาก คสช.คืนอำนาจให้ประชาชน จนกลายเป็นที่มาของพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน !
ตัดกลับย้อนกลับมา ภายหลังงานดินเนอร์ "พรรคเล็ก" มีประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ "สุชาติ ชมกลิ่น" รมว.แรงงาน เป็นตัวกลางคอยประสาน รับความต้องการของตัวแทน "พรรคเล็ก" มาตอบสนอง ถึงแม้ว่านายกฯ จะอ้าปากบอกสื่อว่า ไม่มีสัญญาใจใดๆ ต่อกัน แต่เป็นการมาพบกันอย่างสุภาพบุรุษเท่านั้น
"ไม่ต้องมีสัญญาอะไรหรอก มากินข้าวก็คือมากินข้าว แล้วการมาครั้งนี้ก็คือเรามาเจอกันแบบสุภาพบุรุษ เข้าใจหรือไม่ ถ้าเป็นนักการเมือง ก็ต้องเป็นนักการเมือง เพราะทุกคนก็คาดหวังให้มีการปฏิรูปการเมือง" ...." ผมไม่อยากให้ทุกคนมีปัญหาด้านกฎหมาย บางครั้งก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทำสิ่งนี้สิ่งนั้น ซึ่งเมื่อผมอธิบายไปทุกคนก็เข้าใจ ไม่มีอะไร บรรยากาศดีไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น”
ทั้งหมด คือ คำตอบของ "บิ๊กตู่" ที่ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาใดๆ อีกแล้วจากกลุ่มพรรคเล็ก แต่ก็ไม่น่าจะใช่ ความจริงที่อยู่ในก้นบึ้งลึกๆ ที่แท้จริง
เพราะก่อนหน้าที่รัฐบาลจะจัดดินเนอร์กับพรรคเล็กนั้น มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจใหม่ โผล่ตัดหน้า จัดงานเลี้ยงที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป เยียวยา ประสานใจ มาก่อนแล้ว
และที่สำคัญ "ร.อ.ธรรมนัส" เคยเป็นผู้ดูแลอุ้มชู "พรรคเล็ก" ต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้ เลขาธิการ พรรค พปชร. จนได้รับฉายาว่า จอม "แจกกล้วย"
ถามว่า ระหว่าง "ร.อ.ธรรมนัส" กับ "บิ๊กตู่" กลุ่มพรรคเล็กเหล่านี้แนบแน่นกว่าใครมากกว่ากัน ? เชื่อว่า ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก ต่างรู้ดีอยู่กับใจตัวเอง และเมื่อโฟกัสภาพการเมือง ที่กำลังจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย จะยื่นญัตติในวันที่ 23 พ.ค.65
ดังนั้น เชื่อว่า กลุ่มพรรคเล็กจะเป็นตัวแปรที่ทรงพลัง และหากไปผนึกกำลังรวมตัวกับเศรษฐกิจใหม่แล้ว ก็จะยิ่งทรงพลัง เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการเมืองได้สูงอย่างยิ่ง
ที่หลายฝ่ายต้องตะแคงหูฟัง ด้วยความเกรงใจ!