เจอกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วง! ถึงความไม่ชอบมาพากลของร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนยักษ์ใหญ่ แต่ชาวนาจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า!
สุดท้ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านการทำคลอดมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงยอมถอยร่างพ.ร.บ.ข้าว ทิ้งไว้ให้สภาฯที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้พิจารณา
แต่โค้งสุดท้ายก่อนหมดอายุ สนช.ในร่มเงาของรัฐบาลทหาร กลับเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ “พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์” เข้าสู่การพิจารณาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 ก่อนมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 133 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง โดยไม่มีการปรับแก้ประเด็นที่เสี่ยงจะถูกนำมาใช้ละเมิดสิทธิของประชาชน
หลังจากสนช.ชุดนี้ มีความพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน ที่มีความกังวลว่า พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ จะเปิดช่องให้รัฐเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล!
เมื่อ สนช.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 “ไอลอว์” (iLaw) หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน แสดงความกังวลต่อกฎหมายฉบับดังกล่าว ไว้อย่างน้อย 8 ข้อ ได้แก่..
1. นิยามภัยคุกคามไซเบอร์ตีความได้กว้าง ครอบคลุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะมาตรา 59 เปิดทางให้ตีความ-ขยายความหมายของภัยคุกคามไซเบอร์ให้กว้างขึ้น เช่น อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ การเขียนกฎหมายเช่นนี้ เสี่ยงต่อการที่ในอนาคตอาจมีผู้ที่เจตนาไม่ดี ตีความให้คำว่าภัยคุกคามไซเบอร์ ครอบคลุมถึงประเด็นเนื้อหา บนโลกออนไลน์มากกว่าเรื่องระบบ
2. เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้เพื่อประโยชน์ในการทำงาน โดยมาตรา 61 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีอำนาจขอความร่วมมือจากบุคคลให้มาให้ข้อมูล หรือทำข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามไซเบอร์ สามารถขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูล ที่อยู่ในการครอบครองของผู้อื่นได้ หากเห็นว่า เป็นประโยชน์ รวมถึงสามารถเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น
3. กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึด-ค้น-เจาะ-ทำสำเนา คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 65 กำหนดว่า ในกรณีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เห็นว่า มีภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับที่ร้ายแรงขึ้นไป ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจค้นสถานที่ได้ และสามารถค้นคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เจาะระบบ หรือทำสำเนาเอาข้อมูลทั้งหมดในคอมพิวเตอร์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ไปได้ รวมถึงสามารถยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ไว้ได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์
4. เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ร้ายแรงขึ้นไป เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ตามมาตรา 67 วรรคสองระบุว่า ในกรณีที่มีภัยคุกคามระดับร้ายแรงหรือวิกฤติ และเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ประเมินผล รับมือ ปราบปราม ระงับ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้เลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยความเห็นชอบของ กกม. มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง (ข้อมูลแบบเรียลไทม์) จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์
5. ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ตาม ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ การจะเข้าถึงข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ การทำสำเนา การเจาะระบบ หรือยึดอายัด เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการขอหมายศาล เพื่อให้มีอำนาจในการดำเนินการ แต่ถ้าในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นขอหมายศาล
6. การใช้อำนาจยึด ค้น เจาะ หรือขอข้อมูลใดๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้ ตาม มาตรา 68 กำหนดว่า ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับคำสั่งอันเกี่ยวกับการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ อุทธรณ์คำสั่งได้ในกรณีที่เป็นการใช้อำนาจเมื่อมีภัยคุกคามในระดับร้ายแรงขึ้นไป
7. เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในมาตรา 66 กำหนดให้ กรณีที่เกิดภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับวิกฤติ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติในการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือกฎหมายอื่นทีเกี่ยวข้อง
8. ผู้ใดฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ดำเนินการใดๆ ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐสั่ง เช่น ไม่ได้ตรวจสอบ แก้ไข หรือแม้แต่กำจัดไวรัสที่มีผลเป็นภัยคุกคามไซเบอร์ จะมีความผิดไปด้วย โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน ก่นด่าส.ส.ว่า “ลักหลับ” ออกกฎหมายนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” แต่พอถึงคิวตัวเอง! เล่นกันกลางวันแสกๆ แบบไม่สนใจประชาชนเจ้าของประเทศ!
นัยว่า “จัดให้” ผู้นำคสช. ส่งท้ายก่อนที่สนช.จะพ้นจากหน้าที่
ก่อนหน้านี้ สื่อฯ เคยถามเหตุผลของการออกพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน
แต่เจอผู้นำ คสช.สวนเปรี้ยง! ว่า “ผ่าน แล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกฯไปทำไม” เออ !!
โดย..เสือออนไลน์