นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 มกราคม 2566 จะบังคับใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566-2569 หลังเลื่อนใช้ 1 ปี เพื่อลดภาระประชาชนผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปี 2565 เป็นปีแรกเก็บอัตรา 100% และค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ โดยภาพรวมทั้งประเทศราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นเฉลี่ย 8% สูงสุดยังเป็นพื้นที่ทำเลกลางเมืองแนวรถไฟฟ้า
“ราคาประเมินปี 2566 จะยังไม่มีปรับใหม่ แต่หากมีพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจทบทวนราคาใหม่ในระหว่างรอบปี เช่น สยามสแควร์ที่ราคาตลาดอยู่ที่ตารางวาละ 3.5 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่กรมประเมินอยู่ที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่เป็นราคาเฉพาะพื้นที่ถ้าปรับต้องออกประกาศใหม่ และต้องหารือกรุงเทพมหานครด้วย เพราะเป็นผู้เก็บภาษีที่ดิน ส่วนภาษีลาภลอย หากจะมีการเดินหน้าคงต้องกลับมาดูราคาประเมินใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมเช่นกัน” นายประภาศ กล่าว
นายฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการกองประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ราคาประเมินใหม่ในภาพรวมทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% โดยพื้นที่กรุงเทพฯปรับขึ้นประมาณ 3% และต่างจังหวัดประมาณ 8% ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยราคาสูงสุดอยู่พื้นที่กรุงเทพฯ ราคา 1 ล้านบาท/ตารางวา (ตร.ว.) ได้แก่ ถนนสีลม เพลินจิต วิทยุ พระรามที่ 1 (บริเวณหน้าสยามสแควร์ถึงถนนเพลินจิต) รองลงมาถนนสุขุมวิท 750,000 บาท/ตร.ว. ถนนรัชดาภิเษก 450,000 บาท/ตร.ว. ถนนเพชรบุรี 300,000 บาท/ตร.ว. ถนนพหลโยธิน 250,000 บาท/ตร.ว.
ส่วนต่างจังหวัดสูงสุดอยู่ใน 3 จังหวัด พื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น จ.ชลบุรี ปรับขึ้น 42.83% ราคาสูงสุดอยู่ถนนเลียบหาดพัทยา อ.บางละมุง 220,000 บาท/ตร.ว. ถนนเลียบหาดพัทยา 200,000-220,000 บาท/ตร.ว. จ.ระยอง ปรับขึ้น 7.49% สูงสุดถนนสุขุมวิท อ.เมือง 100,000 บาท/ตร.ว. ถนน 3574 ระยอง-บ้านค่าย 2,500-60,000 บาท/ตร.ว. ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา ปรับขึ้น 1.53% สูงสุดถนนมหาจักรพรรดิ์ อ.เมือง ฉะเชิงเทรา 50,000 บาท/ตร.ว. ถนน 304 (สุวินทวงศ์) 3,500-50,000 บาท/ตร.ว.