ส่องความเห็นอันหลากหลาย ต่อประเด็นร้อน นายกฯ ครบ 8 ปี ที่สังคมไทยกำลังจับตามองด้วยความสนใจ และย่อมส่งผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นความเห็นต่างในระบอบประชาธิปไตย จากนักการเมือง นักวิชาการ และ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ยังเป็นประเด็นร้อน ที่กำลังถกเถียงกันอย่างอึงคนึง ต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไปอีกหรือไม่ หลังจากนั่งอยู่บนเก้าอี้ผู้นำประเทศไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีมาครบ8ปี
ในวันดังกล่าวกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ...ทันทีเวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. 2565 ผ่านไป ซึ่งตรงกับเวลา 00.01 น. ของวันที่ 24 ส.ค. 2565
วันและเวลาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องพ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี !
ซึ่งเป็นไปตาม บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 158 ที่ระบุชัดเจนว่า.... พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ....นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159....ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี....นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่?
มีความเห็นอันหลากหลาย ประดังพรั่งพรูเข้ามาราวกับทำนบเขื่อนทะลัก ทั้งจากซีกนักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ และ ประชาชน โดยเฉพาะ ตามสภากาแฟ ต่างๆ
เป็นความเห็นต่าง ซึ่งฝ่ายค้านย่อมต้องการให้ “พล..อ.ประยุทธ์” กระเด็นพ้นตำแหน่งโดยเร็ว ขณะฝ่ายรัฐบาลก็อยากให้ "ลุงตู่" อยู่ต่อ..
แต่ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัย หลังจากพรรคร่วมฝ่ายค้านจะไปยื่นเรื่องให้ ศาล รธน.ฟันธง ประเด็นร้อนนี้ให้กระจ่าง ซึ่งกำหนดดีเดย์ ในวันที่ 17 ส.ค.2565
อย่างไรก็ตาม อุ่นเครื่องกันเบื้องต้น มาดูมุมมองของนักวิชาการ อย่าง “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำถามที่ว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ จะนับจากยุค คสช. หรือนับจากหลังเลือกตั้งปี 2562
"ต้องย้อนกลับไปพิจารณากันดังนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ 2 ครั้ง คือปี 2557 กับหลังเลือกตั้ง 2562 การจะนับตั้งแต่ 2562 ซึ่งจะครบ 8 ปีในปี 2570 ดูว่าจะเป็นการขยายขอบเขตที่หาคำอธิบายยาก แต่รัฐธรรมนูญก็เขียนคลุมเครือ เพราะมาตรา 158 มีประโยคว่า นายกรัฐมนตรี หมายถึงผู้ที่ได้รับเลือกมาจากรัฐสภา เขาอาจจะตีความว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้รับเลือกมาจากสภาในปี 2557 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร"
ส่วนหากจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่อีก 2 ปี ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หลุดปากออกมา ความหมาย คือ นับวาระเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบ 8 ปี 6 เมษายนปี 2568 การที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่ต่อหรือไม่ จะส่งผลทางการเมืองขนาดไหน เกมนี้เป็นเกมที่ พล.อ.ประยุทธ์ เจอหลายดอกมาก และเป็นเกมสกัด พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ให้กลับมาได้อีกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ หมดวาระปี 2568 ก็มีคำถามอีกว่า พรรคไหนจะเสนอกลับมาเป็นนายกฯ เพราะถ้าได้รับเลือกก็เป็นได้อีก 2 ปี ต้องสรรหาใหม่เมื่อครบวาระปี 2568 ความสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงลดลง เป็นสินค้ามีวันหมดอายุ จะถูกใช้อีกไหม??
อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมหลังจากนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่อารมณ์ของคน ความรู้สึก ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมากพอหรือเปล่า ที่พรรคการเมืองจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ในอนาคต
ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือการตั้งพรรคอะไหล่ พรรคสำรอง เป็นพรรคที่ออกมาบอกว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ง่าย เพราะจะเสนอชื่อให้มีสิทธิถูกนำมาพิจารณาเลือกเป็นนายกฯ ได้ ต้องเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอย่างน้อย 5% หรือ 25 ที่นั่งในสภา ซึ่งไม่แน่ใจว่าพรรคใหม่ๆ จะได้ที่นั่งถึงจำนวนนี้หรือไม่ เกมนี้เป็นเกมระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ในพลังประชารัฐ ที่จะกัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ออกจากเส้นทางการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
"พูดง่ายๆ ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ อาจจะลากยาวด้วยเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า สังคมจะยอมรับ ดังนั้น กลุ่มที่เคยสนับสนุนก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันจะคุ้มค่าไหม กับต้นทุนที่จะรักษา พล.อ.ประยุทธ์ ไว้อาจจะไม่คุ้มค่าอีกต่อไป อันนี้อธิบายอย่างกว้างโดยภาพรวม ถ้าอธิบายย่อยๆ อนุรักษ์นิยมบางกลุ่มอาจจะยึดถือตัวบุคคล ยอมรับบางคนไม่ได้ หรือบางกลุ่มก็ไม่ได้ประโยชน์จากระบอบประยุทธ์ ก็ออกมาเขย่าตลอดเวลา พอมีกระแสสังคมเขย่าก็ออกมาร่วมด้วย"
แต่โดยภาพรวม โจทย์ใหญ่ของอนุรักษ์นิยมกระแสหลัก คือ มองว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะนับแบบไหน นอกจากจะเสื่อมราคาของประยุทธ์เองแล้ว มันทำให้โครงสร้างอนุรักษ์นิยมทั้งหมดเสื่อมถอยลงไปด้วย ฉุดกันเหมือนลูกโซ่และโดมิโน ซึ่งโดมิโนนี้ ถ้าล้มเพราะขาดความชอบธรรมก็ไม่รู้ว่ามันจะดึงอะไรล้มตามไปด้วย
ขณะที่นักวิชาการอื่นๆ ต่างวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นนี้อย่างรุนแรง โดย “ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็น ว่า "กรณี 8 ปี ควรใช้กับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรได้เป็นนายกฯ ตั้งแต่วินาทีแรก เพราะมาจากการยึดอำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญ ถ้าจะยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดจริงๆ จะต้องถูกดำเนินคดีติดคุกตลอดชีวิต ที่ต้องมาเถียงกันเรื่อง 8 ปี สะท้อนการผิดเพี้ยนของสังคมไทย"
“โอฬาร ถิ่นบางเตียว” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเลิกคิดว่าประเทศขาดตัวเองไม่ได้ เพราะ 8 ปีประชาชนเห็นฝีมือพอสมควรแล้ว ถ้าหลัง 24 สิงหาคม ยังไม่ลาออก แรงกดดันจะถูกส่งต่อไปยังสังคม และสังคมจะไปกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนี้ 3 ป. กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจและทำลายระบบการเมืองย่อยยับ รัฐบาลไม่เรียนรู้ว่าสังคมโตขึ้น ไม่ประเมินความรู้สึกของสังคม อาจมีผลต่อการเลือกตั้งเพราะประชาชนรับไม่ได้กับการเมืองแบบนี้
เช่นเดียวกับ “ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ ควรหาทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องลาออก หรือตัดสินใจยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ เรื่องนี้ไม่ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ทั้งหมดเป็นปัญหาสำคัญของนายกฯ และเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัย คสช. มาสู่หลังเลือกตั้ง 2562
“จรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น กับประเด็นนายกฯ 8 ปี มันหมายถึง ผล “แพ้” และ “ชนะ” ทางการเมืองด้วย จึงเป็นเรื่องใหญ่และยอมกันไม่ได้ เมื่อยอมกันไม่ได้ จึงต้องหาจุดที่ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่ยุติของทุกฝ่าย จุดนั้นก็คือวิธีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นหน่วยงานกลาง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่สิ้นสุดมีผลผูกพันกับทุกฝ่าย เมื่อวินิจฉัยแล้ว ประเทศชาติจะได้เดินหน้าไปทำงานที่สำคัญกว่าปัญหาด้านกฎหมายเล็กๆ
ส่วนการต่อสู้ทางการเมือง ก็ควรใช้กระบวนการทางการเมือง อย่าได้ทำให้ลุกลามจากปัญหาข้อกฎหมาย กลายเป็นความขัดแย้งของประชาชนที่ต่างกลุ่ม ต่างฝ่าย ต่างพรรคพวก กันอีกระลอกหนึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเราก็บอบช้ำกันมากแล้ว ทั้งปัญหาโควิด หรือผลกระทบจากปัญหาสงครามที่ยูเครน ไม่ควรนำปัญหาใหม่มาซ้ำเติมกันอีก
ส่วนประเด็นเรื่องการยื่นให้นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ในช่วงรอคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลฯ มีอำนาจก็ต่อเมื่อมีคนมายื่นคำร้องหลักไว้ก่อน แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจตรงนี้จำเป็นต้อง “ใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง” ต้องใคร่ครวญผลได้เสียที่จะกระทบกับประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม ถ้าไม่ใช่เรื่องจำเป็นจริงๆ หรือเรื่องคอขาดบาดตาย จะไม่มีประเทศไหน ให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติการ หรือปล่อยคาแบบนั้น ถ้าอยู่แบบทำอะไรไม่ได้ แล้วประเทศชาติจะเดินต่ออย่างไร หากมีปัญหาและความจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างอย่างรีบด่วน จะทำอย่างไร?
“ในความเห็นผมขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้ แต่การใช้ดุลยพินิจของศาล จะใช้ไปตามอำเภอใจ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีเหตุผลที่หนักแน่น ไม่ได้เด็ดขาด ส่วนจะมีเหตุผลให้ศาลใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อมูล ที่สามารถออกความเห็น ส่วนตัวเชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง ตามที่มันควรจะเป็น”
นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจประชาชน หัวข้อ “8 ปี นายกรัฐมนตรีกับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป.” ถามถึงการตัดสินใจของนายกฯ เกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี พบว่า ร้อยละ 64.25 ระบุ นายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปี คือ อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 สิงหาคม 2565 รองลงมาร้อยละ 32.93 ระบุควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และร้อยละ 2.82 ระบุไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่สนใจ เป็นเสียงประชาชนจำนวนหนึ่งสะท้อนออกมา
นอกจากนี้ ยังมีภาพการเคลื่อนไหวกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ปะทุต่อเนื่องทั้งในสภาและนอกสภา โดย จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง จัดกิจกรรม “โกง…ความตาย 8 ปีไม่ไป คนไทยจัดการอย่างไร? กับประยุทธ์” ประกาศนัดมวลชนชุมนุมวันที่ 23 สิงหาคม เพื่อส่ง พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง ถ้าอยู่ต่อจะถือเป็นนายกฯ เถื่อน
ขณะเดียวกัน สำหรับบุคคลที่เป็นต้นตอประเด็นร้อนแรงทางการเมืองในขณะนี้อย่าง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะดูภายนอก ไม่สะทกสะท้าน แต่มีปฏิกิริยาที่แสดงอาการหงุดหงิด เมื่อถูกนักข่าวซักถามว่ากังวลหรือไม่ “จะกังวลอะไรเล่า” พล.อ.ประยุทธ์ตอบกลับ พร้อมไล่นักข่าว “ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ” ส่วนกับคำถามที่กลุ่มนักวิชาการเรียกร้องให้เดินตามรอย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อความสง่างาม พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ส่ายศีรษะ ไม่ตอบคำถาม
มีการวิเคราะห์กันว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เมินเฉยต่อแรงกดดันจากทุกสารทิศ ท้าทาย ฝากความหวังทั้งหมดทั้งมวลไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ประเมินกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เตรียมข้อต่อสู้หักล้างเรื่องนี้ไว้แล้ว รอแค่มีคนไปยื่นตีความเท่านั้น
เป็นประเด็นร้อน ที่ต้องติดตามกันอย่างลุ้นระทึก!!