ก.ล.ต.ฟิตจัด รุกดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด กรณีขายหุ้นTRUE โดยอาศัยข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์ และให้ชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 2,705,470 บาท รวมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน แถมยังกล่าวโทษ Zipmex และผู้บริหาร ต่อ บช.สอท. กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ งานนี้ตระกูลดังสะเทือน!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันวันพุธที่ 7 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของนายนพปฎล เดชอุดม (นายนพปฎล) ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริหาร TRUE ได้ขายหุ้น TRUE โดยอาศัยข้อมูลภายใน
นายนพปฎล ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับ TRUE จากการได้รับมอบหมายให้จัดทำสารสนเทศเพื่อเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ (1) เรื่องที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด (True Move) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TRUE นำส่งเงินรายได้ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการนับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. จำนวน 3,381.95 ล้านบาท และ (2) เรื่องที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ TRUE ชำระเงินค่าผิดสัญญาให้แก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวม 94,474.27 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งสองเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหุ้น TRUE ภายหลังจากที่นายนพปฎลล่วงรู้ข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ขายหุ้น TRUE จำนวน 2,000,000 หุ้น ในวันที่ 5 กันยายน 2561 เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนที่ TRUE เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 5 กันยายน 2561 เวลา 19.25 น.
การกระทำของนายนพปฎลเป็นความผิดฐานขายหุ้น TRUE โดยอาศัยข้อมูลภายใน ตามมาตรา 242 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายนพปฎล โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งให้นายนพปฎลชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,705,470 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ฟาด Zipmex ตระกูลดังสะเทือน!
ในวันเดียวกัน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) นายเอกลาภ ยิ้มวิไล (นายเอกลาภ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่สั่งให้นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล
ตามที่ Zipmex ประกาศระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การฝากถอนเงินบาท และการฝากถอนสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากประสบปัญหากับโปรแกรม ZipUp+ หรือเรียกว่า “ซิปอัปพลัส” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของ Zipmex นั้น
จากการรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 51 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ได้สั่งให้ Zipmex และนายเอกลาภ ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Zipmex นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับกิจการและการดำเนินงาน เช่น ข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ Zipmex และนายเอกลาภมีพฤติการณ์ไม่นำส่งข้อมูลดังกล่าวแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้นำส่งข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน รวมทั้งมีพฤติการณ์ประวิงเวลาไม่นำส่งข้อมูลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ โดยที่ไม่มีเหตุอันควรหรือข้ออ้างไม่สมเหตุผล
การกระทำดังกล่าวของ Zipmex และนายเอกลาภเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดและมีระวางโทษตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ Zipmex และนายเอกลาภ ต่อ บช.สอท. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า Zipmex มีเครือข่าย “บิ๊กเนม” และมีกลุ่มทุนจากผู้มีชื่อเสียงตระกูลดังเข้ามาร่วมบริหาร และเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ทั้ง “ยิ้มวิไล, เครืองาม, ลิ่มพงศ์พันธุ์, ล้อจินดากุล และมหากิจศิริ”