หลัง "เจ้าสัวคีรี" แห่ง BTS Group และกลุ่ม BSR ผู้ยื่นข้อเสนอในครั้งที่ 1 ออกมาเปิดราคาข้อเสนอของกลุ่ม BSR ที่เคยเสนอผลตอบแทนแก่รัฐตลอดสัมปทาน NPV เท่ากับ 70,144 ล้าน โดยขอรับเงินค่าก่อสร้าง สายตะวันตก 79,820.40 ล้านบาท เท่ากับเสนอผลประโยชน์สุทธิ -9,676 ล้านบาท ต่ำกว่า BEM ผู้ชนะประมูลที่เสนอ -78,000 ล้านหรือต่ำกว่า 68,000 ล้านบาท
เท่ากับ รัฐ-รฟม. ต้องจ่ายแพงไปร่วม 70,000 ล้าน เม็ดเงินก้อนนี้สามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ทั้งสาย!
ล่าสุด รฟม. อ้างว่า แม้ BTS จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินสูงกว่า แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ยังต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิค เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน มิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น
สิ่งที่ รฟม. ชี้แจงนั้น “ย้อนแย้ง” กับพฤติการณ์ที่ดำเนินการไปหรือไม่?
หากคำนึงถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ ความปลอดภัย จำเป็นต้องได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง!
แล้วเหตุใด ในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าที่จะเข้าร่วม รฟม. จึงมีการแก้ไข ตัดเกณฑ์คุณสมบัติประสบการณ์ในการจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าที่เป็นเงื่อนไขสำคัญออกไป ทั้งที่อ้างว่าให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ คุณภาพ และที่ผ่านมาได้กำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเอาไว้ในทุกโครงการประมูลก่อนหน้านี้
รวมทั้ง ในการประมูลครั้งแรกปี 63 ก็กำหนดคุณสมบัติผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าต้องมีประสบการณ์จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้ามูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท มากกว่าโครงการอื่นๆ ของ รฟม.
นั่นเพราะ หาก รฟม. ยังคงกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม Inchon Transit Corp. จากเกาหลีขาดคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมทันที ซึ่จะส่งผลให้กลุ่ม ITD ขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลไปด้วยเช่นกันใช่หรือไม่?
ส่วนที่ รฟม. ระบุว่า การคัดเลือกเอกชนในปัจจุบันตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น มิได้มีลักษณะกีดกันเอกชนรายใด ตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัย และมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ให้ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่นั้น
สิ่งที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวนั้น ไม่ได้หมายความว่า ศาลได้มีคำพิพากษาคดีที่ BTS ฟ้องร้องในเรื่องประกาศเชิญชวนฯ ที่มีลักษณะปิดกั้นการแข่งขันแล้ว เพราะในเวลานั้นยังไม่ได้มีการยื่นประมูลแต่อย่างใด มีเพียงการซื้อซองเอกสารประกวดราคาของเอกชนจำนวน 14 รายเท่านั้น แต่สุดท้ายก็มีกลุ่มเอกชนเข้ายื่นซองราคาได้เพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากการประมูลในครั้งก่อน
มิหนำซ้ำ เหตุที่เอกชนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าร่วมประมูลได้นั้น ก็เพราะ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกได้มีการยกเลิกและปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ให้บริการเดินรถ ที่เคยเป็นเงื่อนไขและข้อกำหนดอันเข้มงวดของการประมูลออกไปแล้วต่างหาก ดังเช่นที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญโครงการขนส่งขนาดใหญ่ ได้ตีแผ่เอาไว้ก่อนหน้า
ที่สำคัญ รฟม. ยังไม่เคยตอบคำถามสังคมด้วยว่าแล้วที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาก่อนหน้าว่าการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประกวดราคาตาม RFP ที่ได้ดำเนินการไปในการประกวดราคาครั้งที่ 1 ปี 2563 และการยกเลิกประกาศประกวดราคาในครั้งก่อน (3 ก.พ. 64) เป็นไปโดยไม่ชอบ โดยที่คดียังคงคาราคาซังอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีกำหนดจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย.นี้ หากศาลมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ที่จะยังผลไปถึงการประมูลคัดเลือกในครั้งก่อน รวมทั้งที่กำลังดำเนินการอยู่ รฟม. และกระทรนวงคมนาคมจะดำเนินการอย่างไร?
จะไม่ยิ่งทำให้โครงการนี้เผชิญทางตันหรือ???
แก่งหิน เพิง