ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ขานรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของ กนง. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บัญชีเงินฝากดิจิทัล ทีทีบี มีเซฟ (ttb ME save) เป็น 1.70 % ต่อปี เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและส่งเสริมวินัยการออม มีผล 1 ธันวาคมนี้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25 % สู่ 1.25 % รับเศรษฐกิจไทยฟื้น!
นางสาวกนกวรรณ เพชรพิสิฐโชติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดสุดท้ายของปี 2565 (30 พ.ย.) ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.00% เป็น 1.25% ซึ่งเป็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 3 ของปีนี้ เพื่อสอดรับกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทีทีบี จึงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บัญชีเงินฝากดิจิทัล ทีทีบี มีเซฟ อีก 0.60% จากอัตราปัจจุบัน เป็นสูงสุด 1.70% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
บัญชี ทีทีบี มีเซฟ เป็นบัญชีเงินฝากแบบดิจิทัล ที่ให้สิทธิพิเศษด้านดอกเบี้ย โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ที่เริ่มเก็บเงินและต้องการความยืดหยุ่นด้านบัญชีเพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยรวมโบนัสสูงถึง 1.70% ต่อปี สำหรับยอดเงินฝากตั้งแต่บาทแรก ถึง 100,000 บาท ซึ่งดอกเบี้ยโบนัสจะได้รับเมื่อยอดฝากเข้าบัญชีมากกว่ายอดถอนออกในแต่ละเดือน เพื่อสร้างวินัยการออมให้มากขึ้น
สำหรับยอดเงินฝากในบัญชีเกินจากยอด 100,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท รับดอกเบี้ยรวมโบนัส 1.40% และส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป รับดอกเบี้ยรวมโบนัสอัตรา 0.70% ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลให้บัญชี ทีทีบี มีเซฟ มีผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าบัญชีเงินฝากดิจิทัลอื่น ๆ ในตลาดปัจจุบัน
“ทีทีบี มุ่งมั่นในการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มเพื่อให้มีชีวิตทางการเงินที่ดี ทั้งวันนี้และอนาคต ธนาคารเชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้กลุ่มลูกค้าเงินฝากสามารถนำผลตอบแทนที่ได้ไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมวินัยการออม เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในระยะยาว อีกทั้งเป็นการสร้างรากฐานชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าด้วย” นางสาวกนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ทีเอ็มบีธนชาต ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ttb contact center 1428
กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25 % สู่ 1.25 % รับเศรษฐกิจไทยฟื้น!
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 3.7 และ 3.9 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น และกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 6.3 3.0 และ 2.1 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 สำหรับปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการครั้งก่อนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 2.5 และ 2.0 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป