ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรยง พงษ์พานิช นักคิดนอกกรอบ, นักการเงินที่คว่ำหวอด หรือ “ไอ้เตา” ของเพื่อนๆ วชิราวุธ โพสต์ FB ระบุว่า..
ไปท่องเที่ยวเวียตนามตอนกลาง (เว้-ดานัง-ฮอยอัน) อันเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรจามยุคโบราณ และเป็นราชธานีสุดท้ายของราชวงศ์เหงียน ทำให้ระลึกถึงการมาเวียตนามครั้งแรกของผมในปี 1995 หลังจากที่เวียตนามเปิดประเทศใหม่ๆ และเริ่มเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์มาเป็นเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ตามอย่างลูกพี่รัสเซีย และจีนหลังการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น
แต่ก่อนที่จะเล่าประสบการณ์ของตัวเองเมื่อยี่สิบห้าปีก่อน ขอเล่าถึงประวัติโดยย่อของเวียตนาม โดยเฉพาะในช่วงสองทศวรรษที่สูญหาย(1970-1990)ก่อนนะครับ
แผ่นดินเวียตนามนั้นเป็นอาณาจักรเก่าแก่กว่าพันปีของชาวจาม ที่เราเรียกว่าแขกจามเพราะนับถือฮินดูตามอิทธิพลอินเดีย เคยรุ่งเรืองและล่มสลายมาหลายรอบ จนกระทั่งองเชียงสือที่เคยหนีไปพึ่งสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์สามารถรวบรวมราขอาณาจักรขึ้นมาใหม่ในปี 1802 (ตรงกับรัชกาลที่ 1) ตั้งราชธานีที่เมืองเว้ ตั้งชื่อประเทศว่าเวียคนาม ราชวงศ์เหงียนครองราชย์ได้ไม่กี่ชั่วอายุคน ก็ต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศตั้งแต่ปี 1858 จนกระทั่งโฮจิมินห์รวบรวมกำลังก่อกบฏไล่ฝรั่งกลับเป็นเอกราช แล้วก็แตกแยกเป็นเวียตนามเหนือ-ใต้ รบกันเองเกิดสงครามเวียตนามในช่วง 1955-1975 ซึ่งพออเมริกันที่หนุนฝ่ายใต้ถอนทัพกลับ เวียตนามเหนือที่หนุนโดยรัสเซียและจีนก็ครองประเทศบุกเข้าไซ่ง่อนได้ในเดือนเมษายน 1975 แล้วก็เลยเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจเป็นแบบรวมศูนย์ (Centrally Planned) ยึดทุกอย่างเข้ารัฐ ให้รัฐบริหารทุกอย่าง ใช้เป้าหมาย "ความเท่าเทียม" เป็นตัวนำ
ขอกลับไปเล่าเรื่องเศรษฐกิจนะครับ…
ความที่เป็นอาณานิคมฝรั่งมานาน ซึ่งถึงแม้จะถูกปล้นชิงทรัพยากรไปเยอะ แต่ด้วยรากฐานที่ตะวันตกวางไว้ให้บ้าง ตอนต้นพุทธศตวรรษนี้ เวียตนามมีเศรษฐกิจที่ไม่เลวนัก โดยในปี1960 ตามข้อมูลของ World Bank เวียตนามมีรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปี (per capita GDP) ถึง $220 สูงกว่าประเทศเอกราชยากจนอย่างไทยที่มีเพียง $101 กว่าสองเท่าตัว
แต่พอเวียตนามเกิดสงครามเหนือ-ใต้ เศรษฐกิจก็ชะงักงัน เติบโตพัฒนาได้ในอัตราต่ำเตี้ยหรือบางช่วงก็ถดถอยติดลบ พอเปลี่ยนไปเป็นมาร์กซิสต์เน้นเท่าเทียมยิ่งชะงักยาวเลย เพราะพอเน้นแบ่งเท่าคนก็เลยเอาแต่รอแบ่ง ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ (นี่คือปัญหาของสังคมนิยมทุกแห่ง) ไปเป็นคอมมิวนิสต์แค่สิบห้าปี (1975-1990) ผลผลิตรวมแทบไม่เพิ่มเลย พอสิ้นปี 1990 มี GDP หดลงไปเหลือแค่คนละ $96 ในขณะที่พี่ไทยที่พัฒนาต๊อกๆ มาเรื่อยๆ ตาม Washington Concencus ตามแผน 1-5 กลับแซงหน้าไปไกล มีรายได้ต่อคนถึงปีละ $1,509 จากแค่เคยมีครึ่งเดียวเมื่อสามสิบปีก่อนแซงไปไกลเป็นกว่าสิบห้าเท่าตัว เห็นฤทธิ์ของการเลือกระบบผิด เดินทางผิดไหมล่ะครับ สามสิบปีหายไปเฉยๆ
พอท่านเติ้งเริ่มยอมแพ้ เปลี่ยนมาใช้ระบบตลาดในปี 1980 และพอลูกพี่ใหญ่อย่าง USSR ล่มสลายในปี 1991 แตกเป็น 12 ประเทศแล้วหันมาทุนนิยมหมด เวียตนามก็ตามอย่างบ้าง ถึงจะยังปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ระบอบเศรษฐกิจก็เริ่มเปลี่ยน ในปี 1992 มีการประกาศยอมรับความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ และมีการเริ่มนำระบบตลาดมาใช้ เริ่มส่งเสริมให้มีเอกชน เริ่มปลดปล่อยกิจกรรมเศรษฐกิจที่เดิมรัฐทำทุกอย่างออกสู่ตลาด(ที่เรียกง่ายๆ ว่า Privatization นั่นแหละครับ) สร้างสถาบันทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ …และนั่นก็คือสาเหตุที่ทำให้ผมได้มาเยือนเวียตนามครั้งแรกเมื่อปี 1995 หรือยี่สิบสี่ปีก่อน
ผมมาฮานอย กับ ดร.ดำเกิง สวามิภักดิ์ ที่เป็น Chief Economist ของภัทรในเวลานั้น ตามคำเชิญของกระทรวงการคลังเวียตนาม ที่กำลังวางแผนเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจ (Transition Economy) และต้องการทราบถึงประสบการณ์และคำแนะนำในการพัฒนาตลาดทุน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
เราได้พบปรึกษาหารือกับ Dr.Le Thi Bang Tam สุภาพสตรีผู้มีบทบาทอย่างมากในวงการเศรษฐกิจเวียตนามตั้งแต่เริ่มปฏิรูปจนปัจจุบัน ซึ่งในเวลานั้นเป็น Vice Minister of Finance มีหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจและกำลังวางแผนพัฒนาตลาดทุนและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ …Dr.Tam นั้น จบปริญญาเอกจาก Moscow มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์อย่างลึกซึ้งมาก เข้าใจข้อดีข้อเสียของระบบทั้งทุนนิยมและสังคมนิยมเป็นอย่างดี แค่ฟังเธอเล่าถึงแผนการและเป้าหมายการพัฒนาเราก็ถึงกับอึ้งในความรู้ความสามารถของเธอ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศอย่างเวียตนามที่ดูเหมือนด้อยพัฒนาจะมีบุคคลากรคุณภาพสูงอย่างนี้ในวงราชการ (ในเวลานั้นรัฐมนตรีช่วยคลังของเราจบอนุปริญญาจากวิทยาลัยครูบุรีรัมย์…แต่ก็เก่งกาจทางการเมืองระดับอัจฉริยะเช่นกัน)
จากการพบปะสนทนากันร่วมสามชั่วโมงในครั้งนั้น ผมเกิดความประทับใจอย่างมาก ได้เรียนรู้เหมือนได้ทบทวนวิชา Macro Economics 101 เลยทีเดียว …เห็นได้ชัดว่า Dr.Tam นั้น ถึงจะศึกษามาในระบบหลังม่านเหล็ก แต่มีความเข้าใจและเลื่อมใสในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมาก เธอสรุปบทเรียนความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของเวียตนาม การมีสงครามและการหลงทางไปกับสังคมนิยมมาร์กซิสต์ในช่วง 1970-1990 ซึ่งเป็น ”สองทศวรรษที่สูญหาย” ทำให้ประเทศอยู่กับที่ในขณะที่โลกพัฒนาไปอย่างมาก
Dr.Tam สรุปแผนการว่า เวียตนามมีแผนที่จะดำเนินการเปลี่ยนระบบ (Transition) อย่างค่อยเป็นค่อยไปคล้ายๆ กับจีน มากกว่าจะปรับอย่างพรวดพราดเหมือนรัสเซียและพวกยุโรปตะวันออก เธอบอกว่าทำอย่างนั้นจะมีความเสี่ยงมากและจะเกิดการคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร เธอขอให้เราเล่าถึงพัฒนาการของตลาดทุนไทย และความคืบหน้าของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ก่อนหน้านั้นรัฐบาลอานันท์เคยประกาศเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) ผมจำได้ว่า ได้แนะนำเธอในเรื่องตลาดทุนว่าต้องหาทางดึงดูดเงินทุนคุณภาพจากนักลงทุนสถาบันจากตะวันตกให้ได้ ซึ่งจะทำได้ต้องมีโครงสร้างตลาด โครงสร้างกฎหมายที่เกื้อหนุน ต้องมีกิจการคุณภาพขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานบรรษัทภิบาลที่ดีพอ ซึ่งทำได้โดยการแปรรูปขนาดใหญ่เป็นประเดิม พอมีนักลงทุนที่ดี และ กิจการที่ดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ตัวกลาง ตลาด กฎระเบียบก็จะพัฒนาตามไปเอง
ผมกลับมาจากฮานอยครั้งนั้นด้วยความประทับใจอย่างมาก และมั่นใจว่าเวียตนามจะกลับมารุ่งเรืองได้เป็นแน่
ผมติดตามก็เห็นการพัฒนาเวียตนามก็เป็นไปตามหลักการที่ว่าไว้ …Dr.Tam ได้เป็นหลักเป็นบุคคลากรสำคัญตลอดมา เธอได้ก่อตั้งและเป็นประธานคนแรกของ State Capital Invesrment Corporation (SCIC) ซึ่งเป็น SOEs Holding Company ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจจนนำไปแปรรูปในที่สุด (แบบที่ผมพยายามจะทำในไทยแล้วไม่สำเร็จนั่นแหละครับ) ในปัจจุบันเธอก็ยังเป็นประธานของ Vinamilk บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเวียตนามที่มีมาร์เกตแคปเกือบสามแสนล้านบาท
ยี่สิบห้าปีผ่านไป มาวันนี้ เวียตนามได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว ตั้งแต่ปี 1990-2018 เศรษฐกิจจากพังทลายมาพุ่งทะยาน มีอัตราเติบโตสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ยี่สิบแปดปีรายได้ต่อคนเพิ่มจาก $95 มาเป็น $2,365 เพิ่มเกือบยี่สิบห้าเท่า ตอนนี้ก็ยังเพิ่มได้ปีละประมาณ 7%
ดูเขาแล้วหันมาดูตัวเอง จากปี 1990-2018 รายได้ต่อหัวของไทยก็เพิ่มได้ก็ไม่เลว จาก $1,509 เพิ่มเป็น $7,273 เพิ่มได้ถึงเกือบห้าเท่าตัว แต่แน่นอนครับ ระยะห่างมันแคบลง จากสิบห้าเท่า มาเหลือแค่สามเท่าตัว ซึ่งก็ยังทิ้งอยู่อีกหลายช่วงตัว แต่ที่น่าห่วงก็เป็นแค่ระยะหลังมานี่ เราแป้กมาร่วมสิบปีแล้ว ขยายได้แค่ปีละเฉลี่ย 3% …เชื่อไหมครับ ถ้าไปในอัตรานี้ (เราขยาย 3% เขาขยาย 7%) พอครบยี่สิบปีตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เราจะมีรายได้คนละ $13,000 ต่อปี ส่วนชาวเวียตนามจะมีคนละ $10,050 ยังจะจนกว่าเราอีกกว่า 20%
แต่ที่น่ากังวลสำหรับผมก็คงเป็นเรื่องของแผนนั่นแหละครับ เพราะในขณะที่เขาสำนึกว่า ระบบวางแผนส่วนกลาง (Centrally Planned) มันไม่ work เลยต้องกลับหลังหันมาใช้ระบบตลาด แต่ของไทยกลับสวนทาง เชิดชูระบบรัฐวางแผน บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำแผนซะยาว 20 ปี ใช้รัฐนำมันเสียทุกเรื่อง ขยายรัฐขยายรัฐวิสาหกิจ เสมือนจะสวนไปเป็นสังคมนิยม ดูแล้วน่าเป็นห่วงว่าจะทำสองศตวรรษตกหล่นไปเหมือนเขาไหม
เห็นทางเดินของเวียตนาม เคยหลงทางตกต่ำจนเรียกได้ว่า เคยเป็น Failed State ทำเวลาหายไปครึ่งชั่วอายุคน จากรวยกว่าเท่าตัวเรากลายเป็นจนกว่าสิบห้าเท่า เพิ่งจะมาสำนึกไล่กวด เหนื่อยกันทั้งแผ่นดิน แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี มีอนาคตสดใส มีศักยภาพมากมาย ประชาชนยังเยาว์วัย แถมมาตรฐานการศึกษาเหนือไทยหลายช่วง เสียแต่ระดับคอร์รัปชั่นยังพอๆกับพี่ไทยเรา
เห็นตัวอย่างความล้มเหลวแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าเราจะไม่หลงทาง ทำอนาคตลูกหลานหล่นหายไปเหมือนเขานะครับ
หมายเหตุ: ข้อมูลจาก FB “บรรยง พงษ์พานิช” (เริ่มเขียนที่ฮอยอัน 21 ธ.ค.)