เรื่องของ “จริยธรรม” การทำหน้าที่ของ “ข้าราชการ” จะในหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) หรือแม้แต่ใน “ศาลสถิตยุติธรรม” เองกำลังเป็นประเด็นที่สังคมถามไถ่และ “เพรียกหา”
โดยล่าสุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยกรณี นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ บุกรุกเข้าถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และดำเนินการขอออกโฉนดเนื้อที่กว่า 30.2 ไร่ ใน ต.เนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษานางกนกวรรณไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 26 ส.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
หรือในกรณี “ส.ว.อื้อฉาว” ที่ฝากฝังคนใกล้ชิด (หรือกิ๊กก็ไม่ทราบ) เข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ “ส.ต.ท.หญิง” ตำแหน่ง ผบ.หมู่กองกำกับการ 4 ช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) แถมยังฝากฝังเข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในอดีตและช่วยงาน ส.ว.ต่อเนื่องมายันปัจจุบัน
ก่อนจะเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้น เมื่อ “ส.ต.ท.หญิง” คนดังไปทำร้ายทรมาน ส.ต.หญิง ที่เป็นทหารรับใช้ถึงขั้นเจ็บปางตาย จึงมีการสืบสาวราวเรื่องที่มาที่ไปของ ส.ต.ท.หญิง คนดังว่า เข้ามารับราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างไร มีคุณสมบัติใดเป็นพิเศษถึง “กระโดดค้ำถ่อ” เข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ในกรรมาธิการวุฒิสภาอันสูงส่งได้
แต่บทลงโทษของ “ส.ว.อื้อฉาว” ที่คณะกรรมาธิการจริยธรรม วุฒิสภา สั่งลงโทษนั้นกลับย่ำยีหัวจิตหัวใจประชาชนคนไทยหนักเข้าไปอีก เพราะแค่มีหนังสือตักเตือน ส.ว.คนดังเท่านั้น แถมยังมุบมิบ ๆ ลงโทษกันไปเสร็จสรรพตั้งแต่ปีมะโว้ ก่อนเก็บงำไม่แพร่งพรายให้สาธารณชนได้รับรู้ ทั้งที่พฤติกรรมที่กระทำไปนั้นขัดจริยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ชัดเจน
เป็นต่างประเทศไม่ว่าจะเกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศใดก็เถอะ เรื่องอัปยศอดสูแบบนี้ต้องถูกสาปส่งลงนรกหมกไหม้ไปหมดแล้ว!!!
ล่าสุด ยังมีกรณีที่ “เสี่ยชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์” จอมแฉสะท้านโลกที่ออกมาแฉ กรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่นัยว่า มี “เงินทอน” ตกหล่นกว่า 30,000 ล้าน ก่อนยังพาดพิงไปถึงการทำหน้าที่ของ “ศาลปกครองสูงสุด” ที่มีมติ "หักดิบ" คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง 27 ต่อ 23 เสียง ชี้ขาดว่า การกระทำของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม กลางอากาศ และออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาเมื่อปี 63 ที่ศาลปกครองกลางมีคำตัดสินไปก่อนหน้าว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด กลับ “หักดิบ” มติศาลปกครองกลาง เห็นว่า การกระทำดังกล่าวว่า เป็นโดยไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ ไม่ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดได้รับความเสียหาย
ทำเอาสังคมต่างเคลือบแคลงสงสัยการทำหน้าที่ของศาลเป็นไปตามจริยธรรมมากน้อยแค่ไหน? เพราะเท่ากับเป็นการไฟเขียวให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่นัยว่า มีการล็อคสเปก ประเคนโครงการให้กลุ่มทุนรับเหมา โดยมีค่าคอมมิชชั่นกว่า 30,000 ล้านผ่านฉลุย!
เห็นแล้วก็ทำให้นึกย้อนไปถึงคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อกรณีดีลควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยให้ “ยกคำร้อง” ของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา
โดยศาลเห็นว่า มติของคณะกรรมการ กสทช. ที่ “รับทราบ” การรวมธุรกิจทรู-ดีแทคโดยเห็นชอบ และกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะนั้น เป็นอำนาจที่ กสทช. มีอยู่ จึงไม่มีเหตุจะรับฟังได้ว่า มติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง
และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นๆ อีก เนื่องจากไม่มีผลทำให้คำสั่งเปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งยกคำขอ ส่งผลให้แผนการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค ยังคงเดินหน้าต่อไปจนกระทั่งปัจจุบัน ทำเอาเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคและภาคประชาชนต่างผิดหวังกับคำสั่งของศาลที่ออกมา
ล่าสุด เมื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งผลประกอบการในปี 65 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวนกว่า 18,285.19 ล้านบาท ลดลงมากกว่า 20% จากปี 64 ที่ขาดทุนสุทธิอยู่ 1,428.40 ล้านบาท
ผลประกอบการของกลุ่มทรูที่ออกมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสื่อสารโทรคมนาคม จากการมีผู้ประกอบการสื่อสาร 3 ค่ายในตลาด ส่งผลให้รายได้ประกอบการลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น แต่สัดส่วนกำไรลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงต้องเร่งปิดดีลควบรวมกิจการนั่นเอง
ส่วนประชาชนผู้ใช้บริการจะเผชิญกรรมกันอย่างไร จากผลพวงของการควบรวมกิจการดังกล่าวนั้น ศาลท่านคงไม่อินังขังขอบด้วยหรือไม่