เรากำหนดเวลาของการทำ Due Diligence ไว้ 3 เดือนนับตั้งแต่การประกาศความร่วมมือในการควบรวมธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ “..
คือคำยืนยันจาก “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารทหารไทย ซึ่งกระบวนการนี้จะมีความยากและซับซ้อนมากที่สุดเพราะจะเป็นเรื่องของการตีราคาสินทรัพย์ทั้งหมดของสองธนาคารทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้ร่วมทำธุรกรรมกับธนาคารรวมไปถึงทรัพย์สินและการลงทุนอืนๆ ของธนาคาร ที่จะต้องเตรียมการรองรับกฎระเบียบของการสำรองของธนาคารตามมาตรฐานสากล เพื่อทำให้การเพิ่มทุนรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างชัดเจน
ซึ่งในขั้นตอนนี้ทุกอย่างต้องเป็นความลับ ผู้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบจะต้องถูกลงนามห้ามเปิดเผยข้อมูลให้กับบุคคลภายนอกได้ล่วงรู้ เพราะมันสำคัญที่สุด
เรื่องของบุคคลากรของสองธนาคารเมือรวมกันแล้ว กว่า 2 หมื่นคนเป็นสิ่งที่ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดและพนักงานทุกคนมีความกระตือรือร้นมากที่จะได้เพิ่มช่องทางในการทำงาน “ธุรกิจธนาคารตอนนี้อยู่ยาก ถ้าไม่ใหญ่จริง อยู่ไม่ได้เลย เพราะการทำธุรกรรมอะไรสักอย่างต้องใช้เงินจำนวนมาก อย่างการสร้างแอพพลิเคชั่น ที่ให้ลูกค้าได้ใช้เพิ่มความสะดวกสบายใช้เงินเยอะมาก”
เมื่อต้องใหญ่ การควบรวม ธนาคารจึงต้องเกิด เบื้องหลังของ อภิมหาดีล ครั้งนี้ ทุกคนยกให้ บุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารทหารไทย ที่เพิ่งวางมือจากทหารไทยไม่เกิน 2 ปีทีผ่านมา
“บุญทักษ์ หวังเจริญ” สร้างสโลแกน ของทหารไทย MAKE the DIFFERENCE ทำให้แตกต่าง จับเข่าคุยกับ กลุ่มไอเอ็นจี ที่ก่อนหน้าเคยถอดใจถอนธุรกิจการเงินในไทย เพราะมองไปทางไหนแทบไม่มีกำไรกลับมาให้เลย ให้กลุ่มไอเอ็นจี ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ทุนธนชาต ศุภเดช พูนพิพัฒน์ ใช้เวลากินข้าวเช้า ข้าวเที่ยง กาแฟ กินข้าวเย็น ด้วยกันบ่อยครั้ง จึงตกผลึกแนวคิดนี้ขึ้นมา
หลังจากนั้นกระบวนการช่วยเหลือจากภาครัฐจึงเกิดขึ้น เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย จึงเสนอครม ขอให้ยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการควบรวม เปิดทางสะดวกให้กับทหารไทยและธนชาตตามมาติดๆ
กลุ่มไอเอ็นจี ใช้บุคคลากรที่มีฐานทีสิงค์โปร์ เข้าร่วมการประชุมแบบถี่ยิบ เช้าไปเย็นกลับ ขณะที่กลุ่มโนวาสโกเทีย ที่ถือหุ้นในธนาคารธนชาตถอดใจ เพราะยังไม่เห็นรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจนี้ประกอบกับระยะทางไกล จึงตัดสินใจลดสัดส่วนการร่วมทุนที่เกิดจากการควบรวมกิจการลง
เพื่อเปิดโอกาสให้ กระทรวงการคลัง กลุ่มไอเอ็นจี และกลุ่มทุนธนชาต ที่จะเป็นผู้ถือถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่า 20% ได้ใช้สิทธิ รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้าร่วมทุน ในช่วงประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ต่ำกว่า แสนล้านบาท
ตามสูตรที่กำหนด ทหารไทย จะเป็นผู้จัดการเงินทุนประมาณ 1,30-1.40 แสนล้านบาท โดย 70% ของเงินทุนจะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุน ส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้ ในส่วนของหุ้นเพิ่มทุนแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ..
หุ้นเพิ่มทุนส่วนแรก มูลค่าประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ ทุนธนชาติ และ โนวาสโกเทียแบงก์โดยในเบื้องต้น คาดว่าหุ้นเพิ่มทุนของ ทหารไทย จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีที่ปรับปรุงล่าสุดภายหลังจากการเพิ่มทุนและกระบวนการต่างๆ ที่จะมีการกำหนดไว้ต่อไปในสัญญาหลัก
สำหรับหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาทนั้น ทหารไทย จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคารโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจจะมีการออกหุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันรายอื่นๆ หรือนักลงทุนรายใหม่ในวงจำกัดอีกด้วย
กระบวนการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และเชื่อว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีให้กับลูกค้าของทั้งสองธนาคาร 10 ล้านคน
ทั้งหมดเป็นบทพิสูจน์ของการควบรวมธุรกิจธนาคารแบบสมัครใจ ที่คำนึงถึง concept
“แบงก์ต้องใหญ่ไม่ใหญ่อยู่ไม่ได้”
โดย..คนข้างนอก