ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี ได้มีการจัดหารือประเด็นแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) หรือ ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ที่เกิดขึ้นบริเวณชายหาดบางแสน บางพระ และพัทยา จนทำให้ปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด โดยมี นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมเจ้าท่าชลบุรี, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 ชลบุรี, ศูนย์วิจัย ทช., ศร.ชล ภาคที่ 1 และ นางพนิดา จันทวัฒน์ ผู้อำนวยการ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี เข้าร่วม ณ ห้องประชุมหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี
นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ เผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าปลาตายจำนวนมากเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ซึ่งทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรง และยังทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก
"ขณะนี้ในพื้นที่บางพระ น้ำทะเลก็ยังสีเขียวอยู่มากแต่ไม่พบผลกระทบแนวปะการัง และไม่พบคราบน้ำมันจากการสุ่มเก็บตัวอย่างและการลงพื้นที่ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว" นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ กล่าว
ทั้งนี้ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงไม่ควรลงเล่นน้ำ เนื่องจากอาจมีอาการคันและระคายเคืองได้ ส่วนอาหารทะเลนั้น สามารถจับและรับประทานได้ตามปกติ
สำหรับแนวทางการแก้ไขเรื่องแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) นั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ ให้ความเห็นว่า “ควรให้ความรู้เกี่ยวกับ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ต่อประชาชน และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจัง”