ยังคงเป็นประเด็นสุดร้อน เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”
กับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่เคาะปรับลดค่าไฟผันแปร (FT)ก๊อก 2 ลงอีก 11 สต./หน่วยเหลือ 3.99 บาท/หน่วย จากเดิมที่ ครม.เพิ่งปรับลดค่า FT สำหรับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ลงไปก่อนหน้านี้ จากที่ต้องเรียกเก็บ 4.35 บาท/หน่วย ลงมาเหลือ 4.10 บาท/หน่วย โดยให้มีผลในรอบบิลไฟฟ้าเดือนกันยายนเป็นต้นไป
ทำเอาประชาชนคนไทยสำลักความสุขกันถ้วนหน้า เพราะของเก่าที่เพิ่งปรับลดลงมาก็ “เกินความคาดหมาย” ที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเรียกร้องกันมาอยู่แล้ว นี่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานยุค “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ยังจัดหนัก จัดเต็มก๊อก 2 ตามมาติด ๆ ให้อีก ไม่สำลักความสุขกันก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
หลายคนวิเคราะห์นโยบายปรับลดค่าเอฟทีของรัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ข้างต้น เป็นการเขย่ากลุ่มทุนพลังงานกันเป็นวรรคเป็นเวร ทำเอาราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานขวัญผวาราคาไหลรูดไปตาม ๆ กัน ขณะที่บางฝ่ายก็มองว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมากลุ่มทุนพลังงานได้ “ตักตวง” กำรี้กำไรจากไฟฟ้าไปไม่รู้สักมากน้อย เครือข่ายพลังงานถึงกับเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานทบทวนนโยบายรับซื้อไฟจากเอกชน ทบทวนนโยบายจัดหาไฟฟ้าในแผน ”พีดีพี” กันเป็นวรรคเป็นเวร เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลมีแต่ประเคนการผลิตและจัดหาไฟไปให้เอกชน จากสัดส่วนการไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในปัจจุบันไม่ถึง 35% แล้ว ขณะที่สำรองไฟของประเทศก็ทะลักล้นเกินความต้องการไปกว่า 50-60% ไปแล้ว
ทั้งที่ต้นตอของค่าไฟแพงบรรลัยกัลป์หาใช่เกิดจากนโยบายเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าที่ว่านี้ แต่เพราะการปฏิรูปพลังงานที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าดำเนินการมาก่อนหน้านั้นยัง “ไปไม่สุดซอย” เป็นได้แค่นโยบาย ”ฉาบฉวย”!
ไม่ต่างจากมาตรการลดแลก แจกแถมปรับลดราคาน้ำมันที่รัฐบาลกำลังตีปี๊บอยู่ในเวลานี้ ทั้งการปรับลดราคาดีเซล ลงมาต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร และกำลังรุกคืบไปถึงราคาเบนซินในอนาคตอันใกล้ การผลักดันนโยบายลดค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแค่ “เปลือกนอก” ที่แม้ทำให้ประชาชนคนไทยสำลักความสุขกันถ้วนหน้า แต่ “เนื้อใน” การปรับลดราคาน้ำมันที่ว่ากลับเป็นการผลาญภาษี ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน และเงินกองทุนน้ำมันในส่วนของภาครัฐเป็นหลัก หาได้ไปแตะต้องกำไร หรือ “ค่าการตลาด” ของผู้ค้าน้ำมันหรือบริษัทน้ำมันแต่อย่างใด ตรงกันข้ามห้วงระยะหลายปีที่ผ่านมาค่าการตลาดน้ำมันมีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.50 บาท/ลิตร เมื่อ 10 กว่าปีก่อนปัจจุบันทะยานเกิน 2-3 บาท/ลิตรไปแล้ว หรือในเรื่องของการปรับสูตรการผลิตที่มัวไปติดยึดจะต้องส่งเสริมพลังงานทดแทน ส่งเสริมแก๊สโซฮอล และเอทานอล ทั้งที่ราคาวัตถุดิบราคาพลังงานเหล่านี้ทะยานไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่
มาถึงค่าเอฟที (FT) และราคาค่าไฟฟ้านี้ก็เช่นกัน แม้รัฐบาลจะเปิดเสรีผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP มาไม่รู้กี่ฉบับ ตั้งแท่นรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ทั้ง IPP - SPP ไปจนถึง VSPP หรือรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน รวมทั้งการนำเข้าจากเพื่อนบ้าน
แต่ทั้งหลายทั้งปวงล้วนต้องทำสัญญาจำหน่ายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ผ่าน “ระบบสายส่ง” ของ กฟผ.เท่านั้น เช่นเดียวกับการจำหน่ายไฟฟ้าสู่ครัวเรือนประชาชนก็เป็นเรื่องของ กฟผ.และ 2 การไฟฟ้าที่จะโม่แป้งกันเอง ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระหน้าไหนก็ไม่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าตรงให้กับบ้านเรือนประชาชนได้
ดังนั้น แม้ กฟผ. จะตั้งโต๊ะรับซื้อไฟจาก IPP - SPP หรือ VSPP รวมถึงการจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก และไฟจากประเทศเพื่อนบ้านที่แม้มีต้นทุนต่ำแค่หน่วยละ 2-2.50 บาท เมื่อต้องขายไฟให้แก่ กฟผ. ได้เท่านั้นผ่านระบบสายส่งของ กฟผ. ได้เท่านั้น ไฟฟ้าที่จะขายไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟต้องถูก “บวก” ค่าบริหารจัดการ และกำรี้กำไรเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร หล่อเลี้ยงโบนัส-สวัสดิการอันพึงมี 3 การไฟฟ้าเข้าไปด้วยอีก
ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชน “ต้องจ่าย” มันจึงแพงระยับอย่างที่เป็นอยู่ แถมสัญญาการจัดหาไฟฟ้าเหล่าน้น เป็นสัญญาระยะยาว กำหนดอัตรารับซื้อตายตัว แม้ฝนจะตก แดดจะออก โลกจะถล่มดินจะทลายยังไงก็ต้องขายส่งไฟให้ระบบสายส่ง กฟผ. ในราคาที่กำหนด หรือตั้งโต๊ะรับซื้อไว้ ขณะที่วัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติรึ ยังถูกผูกขาดโดย ปตท. เข้าไปอีก จะไปขุดหาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติจากไหนมา หรือนำเข้า LNG จากต่างประเทศเข้ามา ไม่พ้นต้องมาผ่านโรงแยกก๊าซ และท่อส่งก๊าซ ปตท. อยู่ดี
จึงไม่แปลกใจ ที่รายงานงบการเงินของ 3 การไฟฟ้าฯ อันได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรอบปี 65 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า 3 การไฟฟ้านั้น มี “กำไร” จากการประกอบการในรอบปี 65 รวมกันกว่า 60,000 ล้านบาท โดยในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นั้นมีรายได้ประกอบการ 794,894 ล้านบาท มีกำไร 45,387 ล้านบาท ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีรายได้ 593,217 ล้าน มีกำไร 12,465.95 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่แสดงงบการเงินมาถึงปี 64 มีรายได้ 184,275 ล้านบาท กำไร 4,637 ล้านบาท
ยิ่งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ที่เคยออกโรงเรียกร้องให้สังคมช่วยกันตรวจสอบรัฐบาลและกระทรวงพลังงานที่ดำเนินนโยบายเอื้อกลุ่มทุนพลังงานก่อนหน้านี้ จนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดเหลืออยู่เพียง 34% ของกำลังการผลิตรวมอยู่ในปัจจุบันนั้น แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2561-65) กฟผ. กลับมีกำไรรวมกันกว่า 193,806 ล้านบาท แยกเป็นกำไรในปี 61 จำนวน 45,712 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 48,209 ล้านบาท ปี 63 (วิกฤติโควิด-19) กำไร 28,031 ล้านบาท ปี 64 กำไร 26,467 ล้านบาทและปี 65 กำไร 45,387 ล้านบาท ทั้งยังมีกำไรสะสม ณ สิ้นปี 65 อีกกว่า 475,545 ล้านบาท
ขณะที่ภาคธุรกิจ -อุตสาหกรรมน้อย-ใหญ่ ต่าง “สำลักพิษ” เศรษฐกิจและไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยแทบจะพับฐาน แต่ 3 การไฟฟ้ากลับตีปี๊บฉลองรายได้และกำไรทะลักล้น “สวนทิศทางเศรษฐกิจ” กันสุดสตรอง !
อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะทำหน้าที่เป็นเพียง “ตัวกลาง” รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนตามนโยบายรัฐก่อนส่งขายต่อไปยัง 2 การไฟฟ้า คือ “กฟน. - กฟภ.” แต่ก็หาได้ทำให้กำรี้กำไรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯลดลงไปแต่อย่างใด
ดังนั้น หากจะให้ราคาพังงานไฟฟ้า ไม่ลุกขึ้นมาหลอกหลอนทำประชาชนคนไทยขวัญผวาไม่รู้จักจบสิ้น รัฐบาลและกระทรวงพลังงานจำเป็นต้องปัดฝุ่นแผนปฏิรูปพลังงาน “ให้สุดซอย” ด้วยการกลับไปดำเนินการศึกษาแนวทางที่กระทรวงพลังงานและรัฐบาล คสช. ในอดีต เคยตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปพลังงานอย่างสุดซอยกันไว้แล้วก่อนหน้า (แต่ไม่มีรัฐบาลใดปัดฝุ่นนำมาปฏิบัติ)
นั่นคือ การทลายกำแพงผูกขาดระบบสายส่ง โดยแยกระบบสายส่งของ กฟผ. ออกมา และจัดตั้งองค์กรรัฐ หรือหน่วยงานขึ้นมาบริหารจัดการระบบสายส่งของประเทศอย่างเป็นธรรม “ใครใช้-ใครจ่าย” อย่างที่เครือข่ายพลังงานทั้งหลายเรียกร้องกันมาโดยตลอดนั่นแหล่ะ
รวมทั้งการปลดล็อค “เปิดเสรีมิเตอร์ไฟฟ้า Mitering” เปิดทางให้ประชาชนผู้ใช้ไฟได้เลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อิสระโดยตรงเช่นในต่างประเทศ ในสหรัฐ ยุโรป ออสซี่-ออสเตรเลีย ที่เราส่งคนไปดูงานผลาญภาษีกันมาไม่รู้กี่ร้อนกี่พันครั้งแล้ว เปิดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้แข่งขันกัน เช่นที่รัฐบาลในอดีต ได้เปิดเสรีโทรคม-อินเทอร์เน็ตไปก่อนหน้า
เช่นเดียวกับตลาดมือถือที่แต่ละรายต่างขนโปรโม่ชั่น ลดแลก แจกแถม เพิ่มมาตรการจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้เครือข่ายของตนมากที่สุด และเป็นระบบเดียวกันกับระบบการเติมเชื้อเพลิงในท่าอากาศยานในปัจจุบัน ที่ผู้ค้าน้ำมันทุกรายสามารถจำหน่ายน้ำมันอากาศยานให้แก่ลูกค้าสายการบินผ่านระบบ Pool ที่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFs ดำเนินการให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ต้องปูพรมทำทั้งประเทศหรอก แค่ทดลองโมเดลใหม่นี้กันในบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ก่อนก็ได้ เป็น Pilot Project อยากรู้นักว่าราคาค่าไฟฟ้าในมือประชาชนมันจะถูกลงไหม? ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชนจะ IPP - SPP จะมีปัญญาแข่งกันกับ กฟผ. และ 2 การไฟฟ้าได้ไหม จะโขกสับค่าบริการค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจริงหรือไม่ จริงไม่จริง
ไหนๆ รัฐบาลก็อยากจะ “ไถ่บาป” คืนความสุขให้ประชาชน เอาให้ลืมพรรคก้าวไกลกันนัก ก็ลองจัดหนัก จัดเต็มนโยบายพลังงานให้ “สุดซอย” กันไปเลยจะดีไหม ฯพณฯ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เคารพ!!!