การทุจริตคอร์รัปชัน ในรูปแบบ “ส่วยสติ๊กเกอร์” หรือ “ส่วยรถบรรทุก” ในประเทศไทยนั้นมีมานาน และเมื่อมีกระแสหรือใครจุดประเด็นขึ้นมา ก็มีการปราบปรามกันเป็นระยะแต่ไม่มีทางหมดไป เพราะผู้ประกอบการต้องการได้รับความสะดวก ไม่ต้องเรียกตรวจให้เสียเวลาชั่งน้ำหนักบรรทุก จึงใช้เงินแลก และใช้สติกเกอร์เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ หากยังจำกันได้ราวเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มี สส. ท่านหนึ่ง คือ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาเปิดประเด็นส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ว่าเป็นเหมือน Easy Pass ผ่านไว ผ่านง่าย ผ่านสะดวก เพียงแค่จ่ายเงิน เพื่อแลกกับสติกเกอร์ติดหน้ารถบรรทุก โดยค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3,000 - 300,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและขนาดด่าน และมีการเปลี่ยนสัญลักษณ์ไปทุกเดือนเมื่อครบกำหนด จนเป็นที่มาของคำสั่งย้าย 40 ตำรวจทางหลวง ให้เข้ามาปฏิบัติงานที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.)
ครั้งนั้นมีการเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง โดย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ที่ตั้งของ กก. 2 บก.ทล. (นครปฐม) โดยไม่ได้บอกล่วงหน้าแต่ไม่พบ ทั้งผู้กำกับ รองผู้กำกับ และสารวัตร มีเพียงตำรวจชั้นประทวนประจำการในสถานี 3 นาย หลังจากนั้นประเด็นส่วยรถบรรทุกก็เงียบหายไป
ครั้งนี้ประเด็นส่วยรถบรรทุก เป็นกระแสระอุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเกิดกรณีผู้มิทธิพลพัวพันกับการสังหารข้าราชการตำรวจทางหลวงนายหนึ่ง โดยจากกระแสข่าวว่า อาจมาจากการไม่ให้ความร่วมมือ เพียงเพราะผู้มีอิทธิพลอยากทำส่วยรถบรรทุกอีกครั้ง แต่นายตำรวจปฏิเสธ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้มีอิทธิพลดังกล่าวเคยเอ่ยเรื่องดังกล่าวกับผู้กำกับ แต่ผู้กำกับแจ้งว่า ไม่ได้ดูแลเรื่องนี้แล้ว
ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของสังคม คือ ทำไมต้องตำรวจทางหลวงนครปฐม? เนื่องจากนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง เป็นแหล่งในการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย ผู้ประกอบการอยากประหยัด จึงจำเป็นต้องจ่ายเงินแลกกับการบรรทุกน้ำหนักมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ความรับผิดชอบของหน่วยงาน อย่าง ตำรวจทางหลวงค่อนข้างจะแตกต่างจากหน่วยงานอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โครงสร้างโดยทั่วไป สารวัตร หมายถึง พันตำรวจตรี โท ที่ดำรงตำแหน่งสารวัตร มีหัวหน้าคือ ผู้กำกับ หมายถึง ตำรวจระดับพันตำรวจเอก และ ผู้การ หมายถึง นายตำรวจระดับพลตำรวจตรีขึ้นไป แต่ตำรวจทางหลวงคนที่มีอำนาจมากสุด คือ สารวัตร (สว) ไม่ใช่ผู้กำกับ
สารวัตรตำรวจทางหลวง 5 พื้นที่ ดูแลควบคุมทางหลวงทั้งประเทศ ได้แก่
สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 1 (สว.ส.ทล.1 กก.1) ดูแลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญอย่าง ประตูน้ำพระอินทร์
สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 (สว.ส.ทล.1 กก.2 ) ดูแลจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม
สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 3 (สว.ส.ทล.1 กก.3) ดูแลจังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ โดยเฉพาะพื้นที่ บางปะกง
สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 4 (สว.ส.ทล.1 กก.4) ดูแลจังหวัดนครราชสีมา
สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 5 (สว.ส.ทล.1 กก.5) ดูแลจังหวัดสงขลา สตูล โดยเฉพาะพื้นที่หาดใหญ่
นครปฐมเป็นพื้นที่สำคัญ 1 ใน 5 พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางหลวง ที่มีผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นคนที่ทำงานด้วยความสุจริต ตรงไปตรงมา มีเกียรติและศักดิ์ศรี สมกับคำว่า “เกียรติยศ ที่เกิดจากการกระทำที่สุจริต” ไม่สนใจเรื่องการรับส่วย หรือก้มหัวให้ผู้มีอิทธิพล จึงมีอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะผู้มีอิทธิพลใช้ส่วยสติกเกอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันคู่แข่ง
ทุกคนรู้ดีว่า ต้นทุนของการขนส่ง โดยเฉพาะรถบรรทุกกว่าร้อยละ 65 เป็นค่าเชื้อเพลิง เมื่อราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้น การบรรทุกน้ำหนักตามกฎหมายกำหนดไม่คุ้มทุน จึงเลือกการบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยไม่สนใจว่า ใครจะเดือดร้อน แต่ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนก็ไม่สนใจว่า ใครจะทำอะไรผิด ถ้าความเดือดร้อนไม่ได้กระทบตนเองโดยตรง จึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโต และมีหน้ามีตาอยู่ในสังคม ทั้งได้รับการยอมรับนับถือในฐานะคนมีเงิน และบางคนได้เป็นนายทุนให้พรรคการเมืองบางพรรคด้วยซ้ำ
สอดคล้องกับที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน พูดในถึงเรื่องส่วยรถบรรทุก ว่า รถที่จะบรรทุกสินค้าไม่ใช่พวกฉันจับ มันถึงเกี่ยวกับทางหลวงด้วย อย่างถ้าใช้รถบรรทุก 20 ตัน ใช้บรรทุก 100 เที่ยว แต่ถ้ารถของเขาบรรทุกได้ 40 ตัน ใช้แค่ 50 เที่ยว อีก 50 เที่ยวมาแบ่งกันคนละครึ่ง มันถึงพันกันหมด พันไปทุกเรื่อง
รถบรรทุกจะบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่เกิน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจที่จะเรียกตรวจสอบ และนำไปชั่งน้ำหนักที่ด่านชั่งได้ ซึ่งด่านตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งหมด 97 ด่าน แต่เมื่อผู้ประกอบการเต็มใจยอม “จ่ายส่วย” ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ “ยินดีรับส่วย” “การสมรู้ร่วมคิดกัน” จึงเกิดขึ้น อยากให้ทุกคนตระหนักว่าการโกงหลวง เก็บส่วยไม่ได้แปลว่า ผู้ประกอบการเป็นคนจ่ายเงินเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หมายถึง เจ้าหน้าที่รัฐรับเงินจากประชาชนทั้งประเทศ ผ่านภาษีที่จ่าย ในการนำมาซ่อมแซมถนนชำรุด
กรณีนี้ไม่เพียงแต่เรื่องส่วยรถบรรทุกเท่านั้น ยังมีการขยายการสอบสวนทั้งแนวลึก ในธุรกิจของผู้มีอิทธิพลเพิ่มเติม โดยเชื่อว่า มีธุรกิจสีเทาอีกมาก เช่น การรวมหัวกันในงานประมูลของภาครัฐ การรับฝากทรัพย์ การฟอกเงิน การทำเว็บพนัน เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับส่วยเพื่อแลกกับการละเว้นไม่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิด จึงมิได้มีแต่ตำรวจเท่านั้น แต่มีอยู่ในทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง เจ้าหน้าที่ สรรพสามิต และศุลกากร และอื่น ๆ ดังนั้นกระแสสังคมต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และสะสางปัญหาส่วยสินบนทางหลวงให้หมดไป
กรณีที่เกิดขึ้น ถือเป็นเพียง 1 ตัวอย่าง คดีเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าหาเพื่อผลประโยชน์และโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ จากส่วยและธุรกิจสีเทาจำนวนมาก ดังนั้นผู้รับผิดชอบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตใครเข้าแลกเพื่อเกิดการตื่นตัวและเริ่มลงมือปราบโกงกัน