ประเด็นที่เครือข่ายเอ็นจีโอ และพรรคการเมืองบางพรรค กำลังปลุกเร้าผู้คนให้ช่วยกันตรวจสอบ และจับตา
กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ดอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Pak Beng Power Company บริษัทร่วมทุนระหว่าง “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ” และ CDTO รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานชั้นนำจากจีน ในโครงการ Pak Beng แขวงอุดมไซ ขนาดกำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา
เป็นการเซ็นสัญญากันในช่วง “หัวเลี้ยว หัวต่อ” ที่รัฐบาล “นายเศรษฐา ทวีสิน” ชุดนี้ กำลังแถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาพอดิบพอดี เลยถล่มกันได้ไม่เต็มปากว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็ตั้งท่าถอนทุนการเมืองกันเอิกเกริกแล้ว เพราะรัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาบริหารประเทศ ตัว รมต.พลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งว่างั้นเถอะ
…
งานนี้จึงหันไปควานหา “มือมืด” และมือที่มองไม่ – Invisible Hand กันให้ควั่กแทนว่าใครอยู่เบื้องหลัง อะไรยังไงกัน และพากันขุดคุ้ยข้อมูลขึ้นมาโจมตีว่า ทำไมกระทรวงพลังงานถึงต้องเร่งรีบเซ็นสัญญากันล่วงหน้าเป็น 8-10 ปีเช่นนี้ ทั้งที่ปริมาณสำรองไฟ Reserve Margin ของประเทศยัง “ทะลักล้น” เกินความต้องการอยู่มากกว่า 50%
แถมข้อมูลและรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อมูลประกอบการพิจารณาต่างๆ ก็ยังไม่ครบถ้วน จนถึงขนาดที่เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ออกมาโวยว่ากระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และตีโพยตีพายว่า สัญญาจัดซื้อไฟดังกล่าว จะทำให้ประชาชนคนไทยต้องจ่าย ค่าไฟแพง เพราะสัญญารับซื้อไฟใหม่ (PPA) ครั้งนี้ที่กำหนดราคาเอาไว้ที่ 2.71 บาทต่อกิโลวัตต์ ยังแพงมากกว่าราคาปัจจุบันที่รับซื้อกันในราคา 1.5 บาท - 2 บาท/หน่วยเท่านั้น
ประเด็นการรับซื้อไฟจากเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว และมาเลย์นั้น หาใช่ประเด็นใหม่ แต่มีความพยายามจะจุดพลุถล่มนโยบายรัฐและพลังงานมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว โดยหากย้อนไปพิจารณามติ “คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)” เมื่อ 28 ต.ค. 2564 ที่อนุมัติให้กระทรวงพลังงานขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย และ สปป. ลาว จาก 9,000 เมกกะวัตต์ (MW) เป็น 10,500 เมกกะวัตต์ ตามที่ทางการลาวร้องขอมาก่อนหน้า
ทั้งยังได้อนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าใน 3 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ที่ประกอบด้วย โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง 2.7935 บาทต่อหน่วย และโครงการปากลาย 2.9426 บาทต่อหน่วย ตลอดสัญญา ก่อนจะมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU กับ 3 โครงการดังกล่าวมาตั้งแต่แรก
ประเด็นดังกล่าวถูกจุดพลุว่า "บอนไซ" กิจการ กฟผ. และส่งผลให้สำรองไฟล้นทะลัก จนเป็นเหตุให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าถูกโขกสับค่าไฟสูงเกินจริงมาตั้งแต่ต้น
มีการโหมกระพือ กฟผ. ถูกบอนไซจากนโยบายรัฐที่สนับสนุนเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ผ่านนโยบาย IPP SPP VSPP หรือ แม้แต่การจัดซื้อไฟจากโครงการต่าง ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการเอื้อต่อกลุ่มทุนพลังงานที่ออกไปก่อสร้างและดำเนินโครงการเหล่านั้น จนทำให้ กฟผ. ถูกบอนไซ ถูกกีดกันจนสัดส่วนการผลิตไฟของ กฟผ. ในปัจจุบันลดลงเหลืออยู่ไม่ถึง 34% แล้ว
มีการตีปี๊บข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ที่อ้างว่า กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพียง 34.71% จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 48,700 เมกะวัตต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นการซื้อไฟจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 52.49% และรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และมาเลเซีย 12.80% ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้นทุกปี
ถึงขนาดที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินนโยบายจัดหาไฟฟ้าตามแผนพัฒนา และจัดหาไฟฟ้า พีดีพี ของกระทรวงพลังงานตามแผน พีดีพี 2015 (2556-79)และที่ปรับปรุงล่าสุดพีดีพี 2018 (2561-79) นั้นขัดรัฐธรรมนูญฯมาตรา 56 เพราะทำให้สัดส่วนการดำเนินกิจการสาธารณูปโภคของรัฐด้านพลังงานนั้นลดลงต่ำกว่า 51% จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาฟ้องร้องกันนัวเนียอยู่ในเวลานี้
แต่ในข้อเท็จจริง.. “สัดส่วนการผลิตไฟที่ กฟผ. อ้างว่าถูก “บอนไซ” จนเหลือกำลังผลิตอยู่แค่ 34% นั้น กลับเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จงใจปิดบังข้อมูลสาธารณะ เพราะไม่ได้รวมเอาโรงไฟฟ้าอิสระ (IPP) ที่ตนเอง (กฟผ.) นั่นแหล่ะจัดตั้งเองมากับมือ อย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก้ กรุ๊ป” และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ “ราชกรุ๊ป” ที่ล้วนเป็นบริษัทลูก เป็นโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. เป็นผู้ดำริจัดตั้งมากับมือ ตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และส่งเสริมเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนกิจการไฟฟ้าของภาครัฐ”
ขณะที่ความจำเป็นในการรับซื้อไฟจากโครงการต่างๆ ใน สปป.ลาว รวมทั้งที่เซ็น MOU ไว้กับ 3 โครงการล่าสุด ตามมติ กพช. ล่าสุดเมื่อปี 64 ที่มีการอนุมัติให้ดำเนินการล่วงหน้าเป็น 10 ปี ทั้งที่ประเทศไทยมี RM ทะลักล้นนั้น ก็เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะต้องทยอยปลดระวางในระยะ 10 ปีข้างหน้า 2523-2532
อย่าลืมว่า การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าสักแห่งนั้น ไม่ใช่การซื้อขายผักปลาตามตลาดที่สามารถจะกำเงินเดินไปซื้อกันได้ทันที แต่ต้องมีการทำสัญญากันล่วงหน้ากัน 5-10 ปีถึงจะดำเนินการได้
อีกทั้ง RM ที่มีการตีปี๊บกันใหญ่โตว่าทะลักล้นเกิน 50% นั้น วันวานสำนักนโยบายแผละแผนพลังงาน (สนพ.) ก็เคยออกมาชี้แจงไปแล้วว่า จะนับรวมเอากำลังผลิตไฟฟ้าทุกแห่งมาคำนวณกันดื้อๆ เลยไม่ได้ เพราะโรงไฟฟฟ้าบางประเภท อย่างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม โซลาร์เซล์ และไฟฟ้าชีวมวล ที่ต้องพึ่งพาอาศัยเทวดาฟ้าฝนเป็นหลักนั้นมีความไม่เสถียรสูง จึงไม่อาจจะนับรวมหรือคำนวณเป็นไฟฟ้าพร้อมจ่ายหรือพร้อมเดินเครื่องอย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจได้
ที่สำคัญ การนำเข้าไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเหล่านี้ ล้วนเป็นการจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตและผู้พัฒนาโครงการ ไม่ได้ซื้อผ่านตัวกลาง จึงไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพงแต่อย่างใด เพราะมีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 2 - 3 บาท/หน่วย ตลอดสัญญา ถูกกว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบันที่กำหนดไว้ 4-5 บาทเศษ/หน่วย
จะว่าไป การเพิ่มสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว มากขึ้น กลับจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศให้ต่ำลงเสียด้วยซ้ำ เพราะการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง หรือวัตถุดิบ อัตราค่าไฟฟ้าจึงคงที่ไม่ผันผวน ไปตามวิกฤติพลังงาน ผิดกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่เป็นปัจจัยผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศไทยในปัจจุบัน
และหากยึดตามข้อมูลที่เครือข่ายเอ็นจีโอ รวมทั้งนักการเมืองบางพรรค กำลังตีแผ่ล่าสุด ในการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนสัญญาซื้อขายไฟจาก สปป.ลาว ครั้งนี้ โดยอ้างว่า กำหนดอัตราซื้อขายกันเอาไว้สูงถึง 2.76 บาท/หน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) เทียบกับสัญญาก่อนหน้าที่มีราคาซื้อขายกันต่ำเพียง 1.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเท่านั้น
หากเป็นไปตามข้อมูลข้างต้น ทั้ง กฟผ. และเครือข่ายพลังงานช่วยชี้แจงให้ประชาชนคนใช้ไฟได้เข้าใจทีว่า หากรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น มีราคาต่ำแค่หน่วยละ 1.5-2 บาทเช่นนี้ แล้วทำไมประชาชนผู้ใช้ไฟถึงต้องจ่ายค่าไฟกันสูงลิบลิ่วถึงหน่วยละกว่า 4-5.5 บาทเศษได้
ทำไมราคาค่าไฟที่ถูกส่งผ่านไปถึงมือประชาชน ถึงได้ “ค้ำถ่อ” แพงลิบลิ่วถึงเพียงนั้นได้ มีส่วนต่างราคามากกว่า 2.4-3.0 บาท /หน่วย หรือกว่าเท่าตัว ส่วนต่างที่ว่านั้นมาจากไหน และไหลไปเข้ากระเป๋าใครกัน?
เมื่อหันไปมองตัวเลขผลประกอบการและกำไร กฟผ. ที่ปี 65 ทะลักไปกว่า 59,000 ล้าน มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้ากว่า 550,000 ล้านบาท ยังไม่รวมอีก 2 การไฟฟ้านั้น น่าจะเป็นคำตอบที่ดีว่า ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการทำนาบนหลังคน จากส่วนต่างค่าไฟฟ้าที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศเหล่านี้
ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ที่ผ่านมา ในขณะที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและประชาชนคนไทยเรา สำลักค่าไฟกันจนหน้าเขียว บางภาคธุรกิจเจอบิลค่าไฟไปทีแทบช็อคตาตั้ง ประชาชนคนไทยต่างก็หวานอมขมกลืนกับค่าไฟแพงมหาดโหด หน่วยละ 4.5-5.5 บาท แถมใช้ไฟมากยังถูกบวกค่าอะไรต่อมิอะไรจิปาถะไปด้วยอีก
แต่ กฟผ. ที่กำลังออกมาตีโพยตีพายกิจการตนเองถูกบอนไซ กลับมีผลประกอบการที่มีผลกำรี้กำไรกันพุงปลิ้น ชนิดที่มีคนออกมาแฉว่าขนาด กำไร 12 บริษัทพลังงานในตลาดหุ้นรวมกัน ยังมีกำไรไม่เท่ากับ กฟผ. เจ้าเดียวเลยมาแล้วพ่อเจ้าประคุณเอ๋ย จนทำให้อดคิดไม่ว่า นั่นเป็นเพราะ กฟผ. ทำตัวเป็น “นายหน้าค้าไฟ” หรือไม่? ทั้งผูกขาด “ระบบสายส่ง” และผูกขาดการรับซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ใครจะผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำกันแค่ไหนอย่างไร ก็ต้องมาผ่านระบบสายส่งของ กฟผ.แต่เพียงผู้เดียว
ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนคนไทยและรัฐบาลจะลุกขึ้นมา "สังคายนา" ล้างบางองค์กร "เสือนอนกิน" และ "นายหน้าค้าไฟ" กันเสียที!!! จะปล่อยให้ทำนาบนหลังคนอยู่กันไปตลอดศกกันหรือไร ก็เห็นใครต่อใครบินปร๋อไปดูงานต่างประเทศกันเป็นวรรคเป็นเวรนัก แล้วทำไมถึงไม่คิดจะนำมานำเสนอแนวทางที่จะไถ่บาปให้ประชาชนคนใช้ไฟกันบ้าง .... แม้แต่สื่อสายพลังงานที่ปตท. ขนกันไปไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบก็เถอะ!!!