ไม่รู้จะปูเสื่อรอ...(ทีเผลอ)... กันหรืออย่างไร?
จนป่านนี้ฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเทียวไล้เทียวขื่อ หวังจะเสนอผลประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท เพื่อให้กระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบผลประกวดราคาที่ รฟม. ตั้งแท่นไว้ตั้งแต่ขวบปีก่อน (8 กันยายน 2565) เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะได้เดินหน้าลงนามในสัญญา
“ปิดจ๊อบ” มหากาพย์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่คาราคาซังมากกว่า 3 ปีได้เสียที!
ที่จริงก่อนหน้านี้ รฟม. และกระทรวงคมนาคม โดย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ รมว.คมนาคมเคยมีความพยายามเสนอผลประกวดราคาโครงการนี้ต่อที่ประชุม ครม. มาแล้ว ในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 66 แต่ถูกที่ประชุม ครม. ติดเบรกหัวทิ่มเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลผูกพันต่องบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งยังคงมีปัญหาร้องเรียนในเรื่องของความโปร่งใส และมีคดีคาราคาซังอยู่หลายคดี จึงควรให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาจะเหมาะสมกว่า
แต่กระนั้นในช่วงรัฐบาลรักษาการ รฟม. ก็ยังคงมีความพยายามจะนำเสนอโครงการนี้เพื่อให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบผลประมูลที่ตั้งแท่นเอาไว้เพื่อจะได้ลงนามในสัญญากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ รฟม. และคณะกรรมการเคลมว่าเป็นผู้ชนะประมูลโครงการนี้เพราะมีข้อเสนอทางการเงินดีที่สุดในสามโลก
ล่าสุดนั้น ก็เห็นสื่อใหญ่ในคาถาพยายามจุดพลุและตีปี๊บกันออกมาก็พยายามอ้างว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง-มีนบุรี ระยะทาง 22 กม. ก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% แต่ประชาชนในย่านรามคำแหง-มีนบุรีคงได้แต่ฝันค้าง เพราะรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมยังไม่อนุมัติผลประมูลจึงยังไม่สามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะประกวดราคาได้
นัยว่า หากได้รับไฟเขียวจากรัฐภายในปีนี้ ไม่เกิน 2 ปีจากนี้ ประชาชนคนกรุงเป็นได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกอย่างแน่นอน
ขณะที่กระทรวงคมนาคมเองก็คงอยากอุ้มสมกระเตงโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ใจแทบขาด เพียงแต่ยังหาโอกาส (ทีเผลอ) ที่จะดำเนินการไม่ได้เท่านั้น แม้ รฟม. จะตีปี๊บความเสียหายและความสูญเสียจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการนี้ และยืนยันนั่งยันว่า บรรดาคดีความต่างๆ ที่ถูกฟ้องร้องนั้น ศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และ “รับรองความโปร่งใส” ไร้ใบเสร็จ ไร้เงินใต้โต๊ะกันไปเกือบหมดแล้ว
สาบานได้!!!
แต่หมดจากศาลปกครองก็ยังคงมีคดีความที่บรรดาพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก็รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่ได้ร่วมกันยื่นร้องเรียนอดีต รมว.คมนาคม ต่อกรณีการฮั่วประมูลโครงการนี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และยังมีสำนวนผลไต่สวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ส่งแฟ้มผลสอบสวนคดีฮั้วประมูลโครงการนี้ไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบไล่เบี้ยต่อ (แต่ก็หายเข้ากลีบเมฆอีก คงเพราะไม่มีชื่อ "นายใหญ่-ทัก ษ." ร่วมขบวนการด้วย)
เรื่องของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่คาราคาซังมากกว่า 3 ปีนับจากที่ ครม. มีมติให้ รฟม. ดำเนินโครงการไปเมื่อ 28 ม.ค.2562 นั้น เบื้องหน้าเบื้องหลังที่ทำให้โครงการยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ใครเป็นไอ้โม่งชักใยอยู่เบื้องหลัง และการประมูลมีมหกรรมฮั้วประมูล กีดกันการประมูลหรือไม่ มี “ส่วนต่างและเงินทอน” ตกหล่นกันกว่า 30,000 ล้านจริงหรือไม่นั้น
“แก่ง หินเพิง” คงจะไม่ต่อความยาว สาวความยืดอะไรอีกแล้ว รายละเอียดไปลองค้นหาจากเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ACT และจากนักวิชาการอย่าง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งมวลชน ที่เกาะติดกรณีนี้มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
อย่างไรก็ตาม สำหรับกระทรวงคมนาคมยามนี้ เมื่อรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มีนโยบาย “ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย” ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการได้แต่เฉพาะ โครงข่ายรถไฟฟ้าที่หน่วยงานรัฐเป็น “เจ้าของ” และบริหารจัดการเองเพียง 2 สายทางเท่านั้น คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกเดินรถให้ กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ ของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เดินรถให้อยู่ (ค่าจ้างวันละ 7.2 ล้าน)
ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ไม่ว่าจะรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน และสีน้ำเงินส่วนขยาย รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-สำโรง) และสายสีชมพู (ติวานนท์ -ศูนย์ราชการ-มีนบุรี) หรือรถไฟฟ้า BTS แม้แต่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่ รฟม. ประมูลไปปีก่อน และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลแทบไม่สามารถเข้าไปแตะต้องอะไรได้เลย
หากจะเจรจาขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานให้ลดราคาลงมาจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐ ยังไงเสียต้องมีเรื่องของการแก้ไขสัญญาสัมปทาน และการชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนตามมา เผลอ ๆ จะเจอเรื่องค่าโง่ตามมาอีกเป็นพรวนเอาได้อีก) โดยรัฐอาจต้องแลกมาด้วยการชดเชยรายได้แก่เอกชนปีละนับหมื่นล้าน จึงทำให้หนทางการปรับลดค่าโดยสารโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีอื่น ๆ นั้นค่อนข้างจะ “ริบหรี่”
จะมีแต่ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ของ รฟม.สายนี้ ที่อยู่ระหว่างการตั้งแท่นจะให้คมนาคมเสนอ ครม. ปิดจ๊อบอยู่นี่แหล่ะ ที่รัฐบาลและคมนาคมสามารถจะปรับเปลี่ยนนำโครงการนี้เข้ามาสนองนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้ทันที โดยกระทรวงคมนาคมเพียงสั่งล้มผลประกวดราคาเดิมที่เต็มไปด้วยปัญหาไป แล้วสั่งเป็นนโยบายให้บอร์ด รฟม. และ รฟม. นำเอานโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนี้ไปใช้กับโครงการนี้เท่านั้น
จะทำให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ต้องกลับมาทบทวนเงื่อนไขประกวดราคากันใหม่ โดยปรับเปลี่ยนฐานการคำนวณผลตอบแทนที่ต้องเสนอแก่รัฐ จากเดิมที่อ้างอิงฐานราคาค่าโดยสาร 17-45 บาท มาเป็น 20 บาทตลอดสาย และกำหนดเป็นเป็นเงื่อนไขประมูลเสียตั้งแต่แรก โดยเอกชนที่เสนอขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐสุทธิต่ำสุด คือ เสนอขอรับสนับสนุนค่าก่อสร้างตามมติ ครม. ต่ำสุด (วงเงินไม่เกิน 91,830 ล้านบาท) และเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด บนพื้นฐานราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะเป็นผู้ชนะประมูลไป
เท่านี้ทุกอย่างเป็นอันจบ!
ก็มีแต่รูปแบบและวิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นอีกโครงข่ายที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม สามารถจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาลได้ทันที
แต่หากยังไม่ใช้โอกาสนี้ดำเนินการ และยังคงกระเตงผลประกวดราคาโครงการนี้ลุยกำถั่วเดินตามที่ รฟม. “ตั้งแท่น” นำเสนอผลประกวดราคาแต่ชาติปางก่อนให้ ครม. เห็นชอบ ชาตินี้ก็อย่าได้หวังจะปรับลดราคาค่าโดยสารสายนี้ให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย โดยไม่จ่ายชดเชยรายได้แก่เอกชนหรือเผลอๆ อาจต้องจ่าย “ค่าโง่” แถมให้ไปด้วยอีก
ที่สำคัญหนทางในอันที่กระเตงโครงการนี้ฝ่าด่าน ครม. และฝ่ากระแสวิพากษ์ของสังคมในเรื่องของ “ส่วนต่างราคา” และเงินใต้โต๊ะ 30,000 ล้าน ที่กลุ่มทุนการเมืองตีเช็ครอ “ปิดจ๊อบ” อยู่คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความกระจ่างให้แก่สังคม หากอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดรับรอง การันตีมาหมดแล้วว่าโปร่งใส สาบานได้
ถ้าอย่างกระแสข่าวหนาหู ค่าต๋งที่เขาตั้งแท่นชงขึ้นมา 78,000 ล้าน ที่เป็นภาษีของประชาชนคนไทยต้องแบกรับ.. ใครจะรับผิดชอบจริงไม่จริง!!!
แก่งหิน เพิง