กสทช. แรงดีไม่มีตก คราวนี้จัดหนัก จัดเต็ม รักษาการเลขาฯ ชงร่างงบฯ กสทช. ปี 67 ถึงบอร์ดดีอีโดยไม่ผ่านมติบอร์ด กสทช. วงในเชื่อได้ไฟเขียวจาก “บิ๊กไห่ – ประธาน กสทช.” ปิดห้องลับกีดกันมให้ร่วมพิจารณา หลังข่าวแพร่สะพัดทำเอาบอร์ด กสทช. มือทาบอก กลัวเข้าเข้าตึกแล้ว จนท.คิดว่าไม่มีตัวตน
แรงดีไม่มีแผ่วกับหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ล่าสุด ทำเอาองค์กรแตกดังโพล๊ะอีกเรื่อง เมื่อจู่ ๆ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช.2101/33298 ลงวันที่ 22 ก.ย.2566 ไปยังเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อให้บรรจุวาระการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พิจารณา
โดยระบุว่า ด้วย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติมมมาตรา 57 วรรค 5 บัญญัติให้สำนักงาน กสทช. เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่าเก้าสิบ (90) วัน สำนักงาน กสทช. พิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอเสนอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาให้ความเห็นร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 5,828.5146 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
โดยร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ที่นายไตรรัตน์ ลงนามส่งไปยังเลขาธิการ สดช.นั้น เป็นร่างงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. แต่อย่างใด แม้รักษาการเลขาธิการ กสทช. จะนำเสนอร่างดังกล่าวบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในการประชุมบอร์ด ครั้งที่ 19/2566 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 ที่ผ่ามนมา แต่ที่ประชุมบอร์ดได้มีการทักทวงว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ที่ถูกบรรจุเข้าสู่วาระในวันนั้นยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดให้คณะกรรมการ กสทช. ได้พิจารณา จึงมีมติไม่เห็นชอบ และไม่ให้นำร่างงบประมาณรายจ่ายฯ เข้าสู่การพิจารณา แต่จู่ ๆ กลับปรากฏว่ารักษาการเลขาธิการ กสทช. กลับนำร่างดังกล่าวส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ โดยตรง โดยที่ร่างดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติ
"การกระทำของนายไตรรัตน์ ที่นำส่งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.ไปยัง สดช. หรือคณะกรรมการดีอีโดยตรงในครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจคณะกรรมการ กสทช. เพราะถือเป็นร่างงบประมาณฯ ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. แต่อย่างใด แต่ก็เชื่อว่า คงได้รับไฟเขียวจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. แล้วจึงทำให้ นายไตรรัตน์ กล้าลงนามในหนังสือไปถึงเลขาธิการ สดช."
ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้อำนาจในการอนุมัติงบประมาณ และการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการงบประมาณที่ได้กำหนดขั้นตอนให้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. แต่ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ กสทช. และเปลี่ยนเป็นคณะทำงานพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมติที่ประชุม กสทช. ที่ต้องการให้กรรมการ กสทช. ทุกคนส่งผู้แทนที่มีความรู้ด้านงบประมาณมาร่วมเป็นอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณากลั่นกรองร่างงบประมาณก่อนส่งให้คณะกรรมการ กสทช. ร่วมกันพิจารณาอนุมัติ แต่สำนักงาน กสทช. กลับไม่ดำเนินการตามมติดังกล่าว และตั้งคณะทำงานฯ ดำเนินการเองโดยเอกเทศ
“การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความต้องการที่จะรวบอำนาจพิจารณางบประมาณไว้ที่ตัวประธาน และรักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยไม่ต้องการให้กรรมการ กสทช. เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา” แหล่งข่าว ระบุและว่า “จนถึงขณะนี้กรรมการ กสทช. หลายคนที่รับทราบข่าวการส่งร่างงบประมาณรายจ่ายปี 67 ของสำนักงาน กสทช. ไปยังคณะกรรมการดีอีโดยตรง ถึงกับแสดงความงุนงงว่า ตกลงแล้วสำนักงาน กสทช. ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด และกรรมการ กสทช. ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นทำหน้าที่อะไร ยังคงมีตัวตนอยู่หรือไม่”
ทั้งนี้ เรื่องนี้กลายเป็นที่โจษขานภายในสำนักงาน กสทช. อย่างหนักว่า เหตุใดประธานถึงพยายามสนับสนุน นายไตรรัตน์ ให้อยู่ในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่บอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมากให้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านั้นแล้ว รวมทั้ง นพ.สรณ ยังเตรียมเสนอชื่อ นายไตรรัตน์ ให้เป็นเลขาธิการ กสทช. คนใหม่อีกด้วย โดยอ้างว่าประธาน กสทช. มีอำนาจแต่เพียงคนเดียวในการเสนอชื่อ ทั้งที่ตามกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมกาา กสทช. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การกำหนดงบประมาณของสำนักงาน กสทช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย
“ไม่แปลกเลยที่ก่อนหน้านี้ มีข่าวปรากฎตามสื่อ เรื่องที่ สส.ฝ่ายค้าน หยิบยกกรณี กสทช. ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่ซื้อ-ขายเครื่องคอมพิวเตอร์รายหนึ่งให้ผูกขาดการขายและซ่อมบำรุงระบบคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารจาก กสทช. ด้วยวิธีพิเศษกว่า 35 ครั้ง วงเงินหลายร้อยล้านบาทในระยะ 5-6 ปี ก็เพราะมีการมุบมิบ ๆ ดำเนินการในลักษณะนี้”
แหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช. ระบุด้วยว่า ผู้บริหารและพนักงานสำนักงาน กสทช. ปัจจุบัน มีแต่ความอึดอัดต่อสิ่งที่ต้องดำเนินการที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายและขัดต่อมติ กสทช. ครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนถึงการขาดเสถียรภาพในการบริหารองค์กรที่เลวร้ายลงทุกวัน หากหมดหนทางจริงก็คงต้องพึ่งบารมีด้วยการถวายฎีกา เพื่อให้องค์กรอันเป็นที่รักของพวกเรา สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยที่ทุกคนไม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนเหมือนอย่างทุกวันนี้