ครม. ไฟเขียวโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย สายแรกของรถไฟทางคู่ เฟส 2 เติมเต็มโครงข่ายจุดเชื่อมต่ออาเซียน มูลค่ากว่า 29,700 ล้านบาทสร้างเสร็จปี 2571
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย โพสต์ระบุว่า.. วันนี้มีข่าวน่ายินดี มากฝากพี่ๆ น้องๆ ชาวอีสานเหนือ หลังจาก ครม. มีมติอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่สายขอนแก่น-หนองคาย
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเส้นทางรองรับการขนส่งสินค้า ไทย-ลาว-จีน ต่อเนื่องกับโครงการรถไฟ ลาว-จีน ที่ถูกออกแบบให้มีการขนส่งสินค้า เพื่อมาเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟลาว-จีน สู้รถไทย (ขนาดราง 1 เมตร) ที่สถานีนาทา ฝั่งไทย ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นประตูของทั้งอาเซียน!
โดยข้อมูลสรุปจากมติ ครม.
- มูลค่าการลงทุน 29,748 ล้านบาท
- ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จะเปิดให้บริการปี 2571
- ระยะทางรวม 167 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับ 14 กิโลเมตร
- มีการเวนคืนเพื่อปรับรัศมีโค้ง ประมาณ 184 ไร่
- พื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า และ ซ่อมบำรุงหลักอยู่ที่สถานี นาทา
ซึ่งหลังจากนี้ การรถไฟคงจะเดินหน้าเตรียมเอกสารในการประมูลตามขั้นตอนและระเบียบ เพื่อเริ่มงานเร็วที่สุด
แต่โครงการนี้ยังขาดจุดสำคัญที่สุด คือ สะพานมิตรภาพรถไฟแห่งใหม่ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่าง รถไฟขนสินค้า และรถไฟโดยสาร จากลาว เพื่อมาเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง (ในอนาคต) ของไทย
โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการออกแบบและทำรายละเอียดการลงทุนระหว่าง ไทย-ลาว-จีน
ทั้งรายละเอียดรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย(ดูเพิ่มเติม https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1554410858330721/?mibextid=cr9u03)
และจุดเปลี่ยนถ่าย (Transhipment Yard) ที่ สถานีนาทา https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1061909740914171&id=491766874595130&mibextid=nJa2DX)
สำหรับรายละเอียดการโครงการ คือ..ตามรูปแบบการพัฒนารถไฟทางคู่ คือจะมีการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 1 ทาง คู่ขนานกับทางรถไฟเดิม เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางได้ปริมาณมากขึ้น และไม่ต้องรอหลีกรถไฟที่สถานี
มีระยะทางรวมทั้งหมด 167 กิโลเมตร แบ่งเป็น
- ทางระดับดิน 153 กิโลเมตร
- ทางยกระดับ 14 กิโลเมตร
โดยการออกแบบ มีมาตรการการออกแบบเพื่อรองรับความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เทียบเท่ามาตรฐานของรถไฟฟ้าสายสีแดง
ซึ่งในเส้นทางปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับปรังรัศมีวงเลี้ยว ให้เหมาะสม กับการออกแบบความเร็ว ใน 3 จุดคือ
- เทศบาลศิลา
- โนนพยอม
- โนนสะอาด
พร้อมกับมีการยกระดับสถานีรถไฟเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟช่วงผ่านเมือง 2 จุดคือ
- สถานีน้ำพอง
- สถานีอุดรธานี
ในโครงการมีสถานีทั้งหมด 14 สถานี แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ สถานียกระดับ, สถานีชั้น 1, สถานีชั้น 2, สถานีชั้น 3 และที่หยุดรถ ได้แก่
- สถานีสำราญ (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- ที่หยุดรถห้วยไห สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีโนนพยอม (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- ที่หยุดรถบ้านวังชัย สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีน้ำพอง (สถานียกระดับ) สถานีก่อสร้างใหม่
- ที่หยุดรถห้วยเสียว สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีเขาสวนกวาง (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีโนนสะอาด (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีห้วยเกิ้ง (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีกุมภวาปี (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีห้วยสามพาด (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีหนองตะไก้ (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- ที่หยุดรถคำกลิ้ง สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีหนองขอนกว้าง (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีอุดรธานี (สถานียกระดับ) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีนาพู่ (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีนาทา (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีหนองคาย (ชั้น 1) สถานีเดิมรักษาไว้
โดยการรักษาสถานีเดิมไว้เพื่อการอนุรักษ์ และลดการลงทุนไม่ให้มากเกินไป แต่เพิ่มระบบสาธารณูปโภค และการให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม (Universal Design) ในการอำนวยความสะดวกกับผู้โดยสาร เช่น สะพานลอยข้ามชานชาลา และลิฟต์โดยสารเพื่อข้ามชานชาลา
พร้อมกับการยกระดับความสูงชานชาลา เป็นรูปแบบชานสูง 1.10 เมตร ตามมาตรฐานใหม่ของการรถไฟ
นอกจากการทำสถานีสำหรับผู้โดยสารแล้ว ก็ยังมีการทำสถานีสำหรับสินค้า หรือลานกองเก็บตู้สินค้า (Containers Yard : CY) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการก่อสร้างใน 3 จุดคือ
- สถานีโนนสะอาด
- สถานีหนองตะไก้
- สถานีนาทา (จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า Transhipment Yard)
ในโครงการจะมีการทำโรงรถจักร เพื่อใช้ในการให้บริการและซ่อมบำรุงของรถจักร และตู้โดยสาร ก่อนและหลังให้บริการ โดยมีการก่อสร้างที่ สถานีนาทา
นอกจากการก่อสร้างงานโยธา ของทางคู่และอื่นๆ ในการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเป็นตัวที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟทางคู่ ก็เป็นส่วนสำคัญ
โดยการพัฒนารถไฟทางคู่ในปัจจุบัน มีการยกระดับระบบอาณัติสัญญาณใหม่ เป็นมาตรฐาน ETCS Level 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางของยุโรป เพื่อให้รองรับรถไฟหลากหลายมาให้บริการ
(ใครยังไม่เคยอ่านรายละเอียด ETCS Level 1 ดูได้จากลิ้งค์นี้ครับ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1246957222409421&id=491766874595130&mibextid=nJa2DX)
ส่วนแผนการเดินรถ
ขบวนรถไฟในปีเปิดให้บริการ 19 ขบวน/วัน
- ขบวนรถไฟด่วน 2 ขบวน/วัน
- ขบวนรถไฟเร็ว 1 ขบวน/วัน
- ขบวนรถไฟท้องถิ่น 2 ขบวน/วัน
- ขบวนรถไฟสินค้า 12 ขบวน/วัน
- ขบวนรถไฟสินค้าเรียกพิเศษ 2 ขบวน/วัน
ซึ่งจากที่เห็นว่าจุดสำคัญอยู่ที่ขบวนสินค้าซึ่งมีมากถึง 12 ขบวน/วัน ซึ่งประเมินในการรับสินค้าจีน ผ่บนรถไฟ ลาว-จีน เข้าสู่ระบบรถไฟไทย
มูลค่าการลงทุน และความคุ้มค่าโครงการนี้มีงบประมาณการลงทุน ซึ่งประเมินล่าสุดในปี 2564 อยู่ที่ 29,748 ล้านบาท
โดยประเมินความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์
- มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 14,598 ล้านบาท
- ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ EIRR 18.46%
- อัตราผลประโยชน์การลงทุน B/C 1.69 เท่า
หมายเหตุ: ขอบคุณข้อมูลเพจโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย