กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็นทอล์ก ออฟ ทาวน์ กันเลยทีเดียว
กับเรื่องที่ ศ.พิเศษ ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานบอร์ด ปตท. หรือ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสุดบิ๊กบึ้มของประเทศ ที่วันดีคืนดี ก็ส่งหนังสือไปถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้ตีความข้อบังคับของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ต.ค. 2566 โดยอ้างว่า เพราะอาจมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับของบริษัทฯ ผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้ จนอาจทำให้การกระทำต่าง ๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง*
เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้โลกอาหรับและอิสราเอล รวมทั้งชาวโลกได้รับรู้ว่า กำลังมีปัญหาเกิดขึ้นในบริษัท ปตท บริษัทน้ำมันแห่งชาติแล้วนะ การเมืองหรือนักการเมืองกำลัง “ล้วงลูก” เข้ามายุ่มย่ามในบอร์ด ปตท. แล้วนะ ทำเอา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ที่กำลังปลื้มปริ่มได้หน้ากับนโยบายขับเคลื่อนลดราคาพลังงาน ลดค่าไฟฟ้าเอฟที (FT) ให้กับประชาชนจนสำลัก และล่าสุดกำลังรุกคืบจะลดราคาเบนซินตามราคาดีเซลด้วยนนั้น ถึงกับงานเข้า ต้องออกมาแก้ต่างเป็นพัลวัน และยืนยันนั่งยันว่า
เรื่องของบอร์ดหรือกรรมการ ปตท. ที่ไม่มีการลาออก (ตามมารยาทและสปิริตทางการเมือง) ต่างจากกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ลาออกยกชุดนั้น ตนขอยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่ง ซึ่งในประเด็นด้วยมารยาทว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว บอร์ดบริหารของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจควรจะลาออกแล้วแต่งตั้งใหม่หรือไม่นั้น ส่วนตัวก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นแบบนั้น แต่สำหรับ ปตท.นั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะไม่เข้าไปยุ่งอย่างแน่นอน
สำหรับข้อบังคับ ปตท. ที่ประธานบอร์ดร้องขอให้ กลต. เข้ามาช่วยตีความให้เกิดความชัดเจนนั้น ในข้อ 34 บัญญัติเอาไว้ว่า ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 1. พ้นตามวาระ 2. ตาย 3. ลาออก 4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ 30 5. ขาดการประชุมคณะกรรมเกินสาม (3) ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมกวร 6. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือในข้อบังคับนี้ และ 7. ศาลมีคำสั่งให้ออก
ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการโดยพลการ โดยที่ประธานกรรมการไม่ครบวาระตามข้อบังคับข้างต้น ถือเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับ เจตนาปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างชัดเจน ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้น อาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ จึงขอให้ กลต. ได้โปรดนำเรื่องและประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กลต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่และมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติตามข้อบังดับคังกล่าวอย่างเคร่งครัด และหรือมีคำสั่งอื่นใด เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลมาจากการจงใจตีความข้อบังคับผิดไปจากลายลักษณ์อักษรต่อไป
ไม่รู้จะให้สังคมเข้าใจกันว่าอย่างไรหรือท่านประธาน ปตท.? มันมีเหตุผลกลใดหรือถึงต้องส่งเรื่องให้ กลต. เข้ามาช่วยปกปักษ์รักษาบอร์ด ปตท.ชุดนี้ ไม่ให้ใครเข้ามาแตะต้อง เป็น “บอร์ดดรีมทีม” ที่สามารถนำพาองค์กร ปตท. ให้เติบใหญ่จนผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทยักษ์พลังงานที่เป็นกลไกหลักด้านพลังงานของประเทศที่จะขาดเสียไม่ได้ หากบอร์ด ปตท.ชุดนี้เป็นอะไรไป หรือถูกปรับเปลี่ยนออกไป
บริษัท ปตท.จึงถึงกาลอวสานหรือไงท่าน? ถึงต้อง “เกาะเก้าอี้แน่น” จะพิทักษ์อะไรในองค์กร ปตท. หรือ? กลัวใครเข้ามาล้วงลูกหรือ?
ก็ในเมื่อมันเป็นเรื่องปกติของการเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง ปรับเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยน รมต.พลังงาน ผู้กำกับดูแลนโยบาย ก็มักจะมีการปรับเปลี่ยนตัว ข้าราชการและบอร์ดต่างๆ ในกำกับดูแลตามมาเพื่อให้่การทำงานสามารถสนองนโยบาย เดินไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น แม้ รมต.พลังงานคนนี้จะมาจากพรรคเดิมก็ตามที
ทำไมจะต้องมา “เกาะเก้าอี้แน่น” อะไรในรัฐบาลชุดนี้ ก็เห็นขวบปีก่อนหน้านี้ที่นัยว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ถูกการเมืองบีบหน้าเขียว ก็เห็นรีบแสดงสปิริตยื่นใบลาออกจากตำแหน่งมาแล้วเพื่อแสดงสปิริตว่า ตนไม่ติดยึดกับตำแหน่ง ก่อนที่ “นายกฯ บิ๊กตู่” จะสั่งเบรกเพราะตัวเองนั้น ยังมีหัวโขนเป็นถึง “ประธานที่ปรึกษานายกฯ” ในขณะนั้นด้วย หากปล่อยให้การเมืองล้วงลูกจนถึงขนาดที่ประธารที่ปรึกษานายกฯ ยังถูกบีบหน้าเขียวได้ ก็ไม่รู้นายกฯจะเอาหน้าไปไว้ไหน?
แต่นี่เขามีการเลือกตั้งไปแล้ว มีรัฐบาลใหม่ไปแล้ว เปลี่ยนขั้วการเมืองใหม่ ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี (ครม.) และปรับเปลี่ยนตัว รมต.พลังงานไปแล้วครับ รมต.พลังงาน คนปัจจุบันชื่อ “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แม้จะเป็นพรรคที่ “ลุงตู่” ทำคลอดมากับมือ แต่นายพีระพันธุ์ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกา อะไรกับ “นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” อดีต รมต.พลังงาน แม้แต่น้อย
นโยบายพลังงานยุคนี้ กับพลังงานยุคก่อนก็ “หนังคนละม้วน” กันไปแล้ว ไม่งั้นจะเห็นหรือว่า แค่เข้ามาสัปดาห์แรก รัฐบาลก็จัดใหญ่จัดเต็มลดราคาพลังงาน ปรับลดค่าไฟเอฟที (FT) พรวดเดียว 2 ระลอก จาก 4.40 บาท/หน่วย ลงมาเหลือ 4.10 บาท และล่าสุด 3.99 บาท/หน่วย ส่วนราคาน้ำมันก็ไม่ได้แค่ปรับลดดีเซลลงอย่างเดียว ยัง “ตั้งแท่น” จะให้พ่วงราคาเบนซินไปด้วยอีก เพราะมีกลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้างใช้มากที่สุด
นอกจากนี้ พลังงานยุคนี้ยังรุกคืบเตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจเข้าไปส่อง “ค่าการตลาดน้ำมัน” ที่นัยว่าเป็นอะไรที่ล้วงลูกเข้าไปดูได้ยากเย็นแสนเข็ญที่สุดด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระดับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานอย่าง ปตท. และ กฟผ.
ก็ต้องย้อนถามว่าแล้วบอร์ด ปตท.ชุดนี้ สามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐได้ทุกกระเบียดนิ้วหรือไม่หล่ะ
แล้วไม่ได้มีแค่บอร์ด ปตท. เท่านั้น ที่กำลัง “ดื้อแพ่ง” บอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในสังกัดกระทรวงคมนาคมนั่นด้วย
ทั้งที่บอร์ดเหล่านั้นแต่งตั้งมาในยุคที่พรรคภูมิใจไทย (ภท) กำกับดูแล และก็มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกันยกชุดไปแล้ว แต่บอร์ดเหล่านี้ คงคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ยังคงมี “นายกฯ บิ๊กตู่” ช่วยเป็นพี่เลี้ยงอยู่หรือไงไม่ทราบ จึงทำเป็นทองไม่รู้ร้อน
บางบอร์ด รสก. นั้น คนของพรรคไปสะกิดประธานบอร์ดก็แล้ว สะกิดฝ่ายบริหารองค์กรก็แล้วว่าเป็นนโยบายของพรรคที่จะต้องปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ อาจต้องตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลใหม่เดินไปด้วยกันได้ ส่วนตัวแทนของหน่วยงานนั้น ก็แล้วต่าหน่วยงานที่จะส่งผู้แทนเข้ามา จะปรับเปลี่ยนใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ว่ากันไป
แต่เชื่อหรือไม่ว่า กว่าขวบเดือนแล้วที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทุกอย่างยังคง “นิ่งสนิท” บางบอร์ดยังคงเดินหน้านโยบายเดิมที่ตั้งแท่นเอาไว้ จะต้องดันทุรังทิ้งทวนให้ได้เสียก่อน อย่างบอร์ด รฟม. ที่ตั้งแท่นจะชงผลประกวดาราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ประมูลกันมาอย่างผิดขั้นตอน เอาบริษัทที่ขาดคุณสมบัติเข้ามาร่วมประมูล
ขาดคุณสมบัติอย่างไร ก็ประธานกรรมการบริหารต้องโทษจำคุกกรณีล่าเสือดำทุ่งใหญ่นเรศวร จนศาลสั่งจำคุกเพิ่งออกจากคุกไปเมื่อวันวานนี้เอง ทำให้บริษัทขาดคุณสมบัติในการเข้าประมูลรับสัมปทานโครงการของรัฐมาตั้งแต่ต้น แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกกลับทำเป็นมองไม่เห็น แม้กรรมการคัดเลือกตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะลุกขึ้นมาทักท้วงกลางที่ประชุมไปแล้วก็ยังไม่ฟัง ยังคงดั้นเมฆจัดประมูลกันไป
นี่ยังไม่นับรวมถึงผลประมูลสายสีส้มที่ได้ 78,287.88 ล้านบาท ที่นัยว่า มีส่วนต่างราคาอยู่กว่า 68,000 ล้านบาท สามารถเอาไปสร้างรถไฟฟ้าได้ไม่รู้กี่สายนั้น แล้วอย่างนี้ยังจะให้ รมต.คมนาคม ต่างพรรคที่เข้ามาใหม่กระเตง “เผือกร้อน” ผลประมูลที่ว่านี่เข้า ครม. ให้อีก
แค่คิดก็สติแตกแล้ว