ปมโดดเด่นในความเป็น “รัฐบาลพลเรือน” หลังวิกฤติโควิด-19 กับจุดเด่น “3 สูง” ของนายกฯ เศรษฐา จะช่วยให้การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางไฟสงครามและความขัดแย้งเชิงนโยบายระดับโลก เดินอย่างไรจึงไม่ทำ “บัวช้ำ - น้ำขุ่น” จนกลายเป็นการชักศึกเข้าบ้าน!!!
.....................................
ภารกิจในการเดินทางไปเยือนต่างประเทศของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงที่ผ่านมา คงพอจะสรุปได้ว่า... มีด้วยกัน 2 มิติ
มิติที่หนึ่ง...คือ การเดินทางไปเยือนตามธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อมีการเปลี่ยนตัว “ผู้นำประเทศ” ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป้าหมาย คือ การแนะนำตัวของ “ผู้นำคนใหม่” และเพื่อประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อกัน รวมถึงการติดตามความคืบหน้าบางเรื่อง ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติสำหรับ “ผู้นำคนใหม่” ในกลุ่มประเทศนี้
และอีกมิติหนึ่ง...ก็คือ การเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ทั้งวาระการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเข้าร่วมประชุมในเวทีสำคัญๆ ระดับโลก ที่ตามมาด้วยการพบปะพูดคุย ทั้งที่เป็นการหารืออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
แต่นั่น...ก็นำมาซึ่ง “สัญญาใจ” ในการที่จะกลับมาสานต่อความสัมพันธ์ต่อกัน ในเวลาต่อมาและไม่ไกลมากนัก
หากโฟกัสไปที่การเดินทางเยือน ประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่นายกฯ เศรษฐา ได้เริ่มต้นด้วยการเยือนประเทศกัมพูชา ประเทศที่เพิ่งได้ นายกรัฐมนตรี “ป้ายแดง” เหมือนกับประเทศไทย
ว่ากันว่า... เหตุที่ต้องเริ่มต้นกับประเทศทางฝั่งขวาด้านล่างของไทยก่อน ก็เพราะมีปมให้ “ผู้นำไทย” ต้องเร่งคลี่คลายโดยเร็ว โดยเฉพาะประเด็นการค้ามนุษย์และการหลอกลวงต้มตุ๋นในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงชนิดใหม่ของโลกและของไทย ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกัน
ยังจะมีเรื่องแรงงานกัมพูชาที่แอบลักลอบเข้าไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจของกัมพูชาเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาค่าเงินเรียลของตัวเองลดลงจนน่าใจหาย กระทั่งพบว่า มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ในไทย ทั้งที่ถูกและไม่ถูกกฎหมายรวมกันมากถึงเกือบ 2 ล้านคนเลยทีเดียว
นี่ยังไม่นับรวมหัวข้อที่ได้หารือ ทั้งเรื่องที่เปิดเผยได้ เช่น เรื่องความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาเส้นทางคมนาคม “ถนน, ระบบราง, ทางน้ำ และทางอากาศ” ฯลฯ และ เรื่องที่ยังเปิดเผยไม่ได้? หรือไม่อาจจะเปิดเผยได้
ด้วยเหตุที่แต่ละปี... 2 ประเทศ “ไทย-กัมพูชา” มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึงกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3.5 แสนล้านบาท หากสามารถสานต่อความสัมพันธ์ในเชิงลึก ครอบคลุมในทุกมิติล่ะก็ ตัวเลขการค้าระหว่างกัน ที่ “โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” นายชัย วัชรงค์ เคยกล่าวไว้ว่า มีโอกาสจะพุ่งทะยานเกิน 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาท ก็มีสูงทีเดียว
ต้องไม่ลืมว่า... ยังมีการหารือในบางหัวข้อที่ทางการไทยและกัมพูชายังไม่ได้สานต่อ กระทั่งสร้างความคืบหน้าจนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ การเจรจาในเรื่องของผลประโยชน์ทางทะเลที่มีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินทรัพย์อันเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ฝังอยู่ใต้ท้องทะเลลึกในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันอยู่อีกเป็นจำนวนมหาศาล
นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้นำของ 2 ประเทศ ไม่อาจนำมาหารือแบบเปิดเผยในทางสาธารณะได้
หลุดจากการเยือนประเทศกัมพูชา เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 25666 ที่ผ่านมาแล้ว ก็ต่อด้วยการเดินทางไปเยือน ประเทศบรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในรอบถัดไป...ระหว่างวัน 8-12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า...3 ประเทศด้านล่างของไทย โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์นั้น นับเป็น 2 ประเทศที่มีระดับการพัฒนาและระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากในกลุ่มอาเซียน
ที่สำคัญ จากข้อมูลตัวเลขนักท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงข้อมูลของกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว พบว่า... ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโอกาสได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 2 ล้านคน
ขณะที่ สิงคโปร์ เอง แม้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่ามาก แต่เพราะประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ แห่งนี้ มีระบบเศรษฐกิจและการเงินที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีบทบาททางเศรษฐกิจที่สูงมากในกลุ่มอาเซียน ดังนั้นการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงประเทศบรูไน จึงมีความสำคัญมากกว่าแค่การเดินทางไปเยือนตามวาะธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป
แม้การเดินทางไปเยือนประเทศที่เหลือในกลุ่มอาเซียน…จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเวลานี้ โดยเฉพาะการเยือนประเทศที่มีจำนวนประชากรและระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในอาเซียน อย่าง...ประเทศอินโดนีเซีย ชาติที่กำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในด้านการผลิตและส่งออกรถยนต์
รวมถึง ประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว และเมียนมาร์
ระหว่างนี้ “ผู้นำไทย” นายกฯ เศรษฐา ก็บริหารจัดการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศอื่นๆ คู่ขนานกันไป เริ่มต้นด้วยการเยือนเกาะฮ่องกง ในอาณัติของ “แผ่นดินใหญ่” ประเทศจีน
ต่อด้วยการเดินทางเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ( Belt and Road Forum for International Coperration- BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคมที่ผ่านมา
ที่จีน...นายกฯ เศรษฐา ได้หารืออย่างเป็นทางการกับ “ผู้นำจีน” นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ก็ยังจะเน้นไปในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการก่อสร้างระบบราง (รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) ที่ไทยจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากประเทศจีน ในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและทางด้านวิศกรรม
รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ที่ทางการจีนพร้อมจะเพิ่มเที่ยวบินไปมาระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น เปิดทางให้นักท่องเที่ยวจีนได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
อีกเรื่องที่ไม่คุยไม่ได้ นั่นก็คือ... ดุลการค้า ที่ปัจจุบันพบว่า... ประเทศไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนมากที่สุดและขาดดุลติดต่อกันยาวนานหลายสิบปี จากหลักหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี ก็ขยับเข้าถึงหลักล้านบาทและอาจจะเลยหลักล้านบาทได้เข้าไปทุกที
จำเป็นที่รัฐบาลจีนจะต้องเปิดโอกาสให้สินค้าไทยได้ส่งออกไปจำหน่ายในจีนได้มากและง่ายมากขึ้นกว่าเดิม ที่ทางการจีนสร้างข้อจำกัด จนสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตร กลายเป็นของ “เน่าเสีย” ระหว่างรอขนส่งเข้าไปในจีนเหมือนเช่นที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าและวัตถุดิบที่ผสมปนเปื้อนไปกับสินค้าเกรดต่ำที่ส่งออกจากจีนมายังประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่มีส่วนผสมของสารเคมีและสารตะกั่ว ทั้งจากปุ๋ยเคมีและเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก กลายเป็นว่า...ประเทศไทย คือ แหล่งระบายสินค้าและวัตถุดิบที่ก่อปัญหามลพิษทางอากาศให้กับประเทศจีนไปเสียฉิบ!
เรื่องเหล่านี้ แม้จะไม่ออกมาจากปากของ “ผู้นำไทย” โดยตรง แต่ก็ต้องสื่อสารให้ “ผู้นำจีน” ได้รับรู้ถึงปัญหาหนักอกของไทยเสียบ้าง
ที่กรุงปักกิ่ง นายกฯ เศรษฐา ยังได้พบกับ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พร้อมกับคำเชื้อเชิญให้ “ผู้นำรัสเซีย” ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2567 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีมายาวนานถึง 125 ปี (2565)
นายกฯ เศรษฐาของไทย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า... ส่วนตัว ประธานาธิบดีปูติน ชื่นชอบเกาะภูเก็ตของไทยอย่างมาก และมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดทางภาคใต้ของไทยอยู่เป็นประจำ
จึงไม่น่าแปลกใจที่คำเชื้อเชิญของ “ผู้นำไทย” จะได้รับคำตอบรับกลับมาเป็นภาษาไทยจาก “ผู้นำรัสเซีย” ว่า... “ขอบคุณครับ!” และหากไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนแล้วล่ะก็ ปี 2567 ประเทศไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับ “อาคันตุกะ-ระดับโลก” อย่าง...ประธานาธิบดีปูติน แน่ๆ
ถัดจากจีน... “ผู้นำไทย” ก็ได้เดินสายสานความสัมพันธ์กับชาติยักษ์ใหญ่ในโลกอาหรับ พร้อมกับสานต่อในสิ่งที่ “รัฐบาลประยุทธ์” ได้นำร่องไปก่อนหน้านี้ นั่นคือ การเดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมเข้าร่วมประชุม สุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งที่ 1 (ASEAN-GCC Summit) ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคมที่ผ่านมา
ปมที่หลายฝ่ายเคยรู้สึกเป็นห่วงก่อนหน้านี้ กรณีการไม่ได้รับอนุญาตให้เครื่องบินจากประเทศไทย บินผ่านน่านฟ้าของประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อไปรับคนงานไทยในประเทศอิสราเอล ที่กำลังก่อสงครามกับกลุ่มฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์ และพันธมิตรชาติอาหรับบางประเทศที่แอบหนุนหลัง
ทุกอย่างคลี่คลายลงในทันที! หลังจาก นายกฯ เศรษฐา ได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎุราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีของประเทศแห่งนี้
ถือว่า...สิ่งที่รัฐบาลไทยได้รับจากการเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียในรอบนี้ “ล้ำค่า” อย่างมาก เพราะยังได้สานต่อความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนให้ลงลึกเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากรัฐบาลและกลุ่มทุนของซาอุดิอาระเบียเอง ก็มีแผนจะเข้าลงทุนในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึง ธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในโซนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของไทย (SEC)
ย้อนกลับไปที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กับ “สัญญาใจ” ที่มี “ผู้นำไทย” มีต่อ “ผู้นำรัสเซีย” ภายใต้คำเชิญให้ประธานาธิบดีปูติน เดินทางมาเยือนประเทศไทยในปีหน้า ยังมีประเด็นให้ฝ่ายไทยต้องขบคิดกันให้มาก...ถึงมากที่สุด!!!
อะไรๆ ที่ดูเหมือนจะดีนั้น เอาเข้าจริง...มันอาจไม่เป็นอย่างที่คิดเอาไว้?
และที่ดูเหมือนว่า...นายเศรษฐา จะเป็นนายกรัฐมนตรี...ผู้โชคดี เพราะโลกเพิ่งจะผ่านพ้นมหาวิกฤติไวรัสโควิด-19 มาได้ไม่นาน และยังได้ชื่อว่าเป็น...นายกรัฐมนตรีจาก “รัฐบาลพลเรือน” ที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนคนไทย แม้จะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ก็ตาม
ประเด็นเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ นายกฯ เศรษฐา มีโอกาสได้สานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟาก “โลกตะวันตก” นำโดยสหรัฐอเมริกา ที่เจ้าตัว...ก็ได้รับโอกาสอันดีจากการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ร่วมกับผู้นำคนสำคัญในเวทีโลก ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ก่อนเดินสายเยือนกลุ่มประเทศอาเซียน และยังมีแผนจะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในปีหน้า 2567 อีก
รวมถึงอีกฝ่าย...ที่มีรัสเซียและจีน เป็น 2 ประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในฟากนี้
น่าสนใจว่า นอกเหนือจากประโยชน์ “เบื้องหน้า” ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเยือนนานาอารยะประเทศ ทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียนแล้ว ผลประโยชน์ “เบื้องหลัง” ที่ไม่ค่อยถูกนำมาพูดถึง ทั้งในทางบวกและลบนั้น จะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง? โดยเฉพาะการคบค้า.. เจรจาต้าอวยกับทั้งจีนและรัสเซีย ในสายตาของโลกตะวันตก
จีนเองก็มีประเด็นปัญหาทั้งทางด้านการเมืองระหว่างประเทศและทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงด้านเทคโนโลยีกับฝั่งของสหรัฐอเมริกา แถมยังถูกมองอีกว่าเป็น...ประเทศที่ชอบเอารัดเอาเปรียบกับประเทศเล็กๆ ที่มีระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งน้อยกว่า โดยใช้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเหล่านั้น เป็นข้ออ้างในการให้กู้ยืมเพื่อการลงทุน
สุดท้าย เมื่อประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค่อนข้างสูงคืนให้ได้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ก็มักจะถูกรัฐบาลจีนใช้เป็นข้ออ้างในการครอบงำทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านการกำหนดนโยบายจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ภายใต้การบงการของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง
พูดง่ายๆ ชาติตะวันตกมองประเทศจีน ว่ากำลัง “กินรวบ” ประเทศเล็กๆ เหล่านั้นอยู่หรือไม่?
ขณะที่ประเทศรัสเซียเอง กลับหนักยิ่งกว่า... จากปัญหาสงครามกับยูเครนที่ยืดเยื้อมายาวนานเกือบ 10 เดือนเต็ม นั่นทำให้ “ผู้นำรัสเซีย” ประธานาธิบดีปูติน ได้ถูกหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในฐานะ “ผู้ร้ายคนสำคัญ” ในคดีการก่ออาชญากรรมสงคราม
สำหรับบทบาทประเทศไทยในเวทีโลกแล้ว ต้องยอมรับว่า... ความเป็นประเทศเล็กๆ และจำต้องอ้างอิงกับกระแสโลกจากกลุ่มประเทศกระแสหลัก อย่าง...ชาติตะวันตก นั้น การบริหารนโยบายระหว่างประเทศของนายกฯ เศรษฐา จึงจำเป็นจะต้องหันมอง กลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้มากกว่าที่เคยทำในภาวะปกติ
เพราะในภาวะที่โลกไม่ค่อยจะปกติเช่นนี้ หาก “ผู้นำและรัฐบาลไทย” หุนหันพลันแล่น โดยไม่ดูกระแสและทิศทางลม เล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศในลักษณะ “เอามันส์เข้าว่า” แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า... ผลได้ที่เคยคิดแต่จะได้ ทั้งในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สารพัด...อาจกลายเป็น “ภาพลบ” ได้เช่นกัน
จึงน่าสนใจ การเดินเกมในเกมการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่นอกเหนือกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น “ผู้นำไทย” ที่ใช้ว่ามีจุดเด่น “3 สูง” แตกต่างจากผู้นำไทยคนก่อนๆ นั่นคือ... (1) สูงที่ระดับความสูงของสรีระเกิน 190 ซ.ม. (2) สูงรสนิยมการแต่งกายที่โดดเด่นและแตกต่างไปจากคนอื่น รวมถึง (3) สูงในแง่ของวิสัยทัศน์ในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั้น
ความสูงเหล่านี้ จะช่วยให้การเดินเกม “บริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” กับ 2 กลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างไร? จึงจะ “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น” เป็นกลาง...คบได้กับทุกกลุ่ม ทุกชาติ กระทั่ง ไม่เลือกฝักฝ่ายจนกลายเป็นการ “ชักศึกเข้าบ้าน” ไปเสียเอง!