เรื่องที่ "ขุ่นแม่รสนา" และคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ออกโรงกระตุกเบรกนโยบายแจกเงิน "ดิจิทัล วอลเล็ต" คนละ 10,000 บาท ที่ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท โดยเห็นว่าเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ที่ได้ไม่คุ้มเสียไม่สามารถจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง!
บ้างก็ตั้งคำถามเหตุใด หรือทำไมรัฐบาลและกระทรวงการคลังต้องคิดอ่านรูปแบบการแจกเงินให้มันยุ่งขิง เหคุใดไม่โอนเงินสดเข้าบัญชีโดยตรง หรือโอนผ่านแอ็พ "เป๋าตัง"ที่มีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปผุด “ซูเปอร์แอ็ป” ขึ้นใหม่ เอาเงินบาทไปแลกเงินดิจิตอลสกุลใหม่ เสียค่าธรรมเนียมแลกเงินให้มันยุ่งยาก ถึงขั้นยื่นข้อเรียกร้องให้องค์กรอิสระทั้งหลายทั้ง ปปช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกกต.ได้ลงมาตรวจสอบและระงับยับยั้งนโยบายดังกล่าว
…
และก็เป็น "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" อดีต รมต.คลัง ที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาถึงเหตุและผลของนโยบายแจกเงินดิจิตอลที่ว่านี้ พร้อมขอร้องทุกฝ่ายอย่าเพิ่งด่วนตัดสินและ "ด้อยค่า" เงินดิจิทัล จนทำให้นโยบายที่ดีดังกล่าวต้องเสียศูนย์
ขณะที่กระทรวงการคลังเองก็ยังไม่สามารถ “ผ่าทางตัน” ปัญหาแหล่งเงินที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้ เพราะหนทางในอันที่จะบ่ายหน้ากู้สถาบันการเงินของรัฐอย่างแบงก์ออมสินแทบจะถูกปิดประตูลั่นดาน เกิดหาเงินชดใช้คืนไม่ได้ตามกำหนดก็มีหวังได้งานเข้าที่ไปทุบกระปุกเงินเด็กเอาได้อีก
ล่าสุด คลังถึงกับต้องประกาศเลื่อนไทม์ไลน์การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ว่านี้ และอาจต้องปรับเกณฑ์การจ่ายเงินจากที่จะ ”แจกกันถ้วนหน้า” มาเป็นการจำกัดแจกเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ อิง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นตัวตั้งเข้าไปอีก
ที่จริง หากทุกฝ่ายจะย้อนกลับไปพิจารณานโยบายของรัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) ในอดีต ที่หลากหลายคนโยบายที่มีการดำเนินงานไปในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น กล่าวได้ว่า ช่วงที่มีการผลักดันหลากหลายนโยบายเหล่านี้ ก็ถูกนักวิชาการ และผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขา และบางนโยบายถึงขั้นถูก "ปรามาส" ว่า เป็นนโยบายตำน้ำพริกรายแม่น้ำเสียด้วยซ้ำ
ไล่มาตั้งแต่นโยบาย "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือโครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" ที่ให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลเจ็บป่วยอะไรก็สามารถใช้สิทธิ์รักษา “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” ได้ โดยโครงการดังกล่าวในระยะแรกนั้นถูกต่อต้านและถูกถล่มโจมตีจะทำให้โรงพยาบาลชองรัฐขาดทุนบ้าง ทำให้ประชาชนคนไทยถูกด้อยค่ากลายเป็นคนชั้นสองบ้าง จะเกิดช่องโหว่ เกิดปัญหาอะไรต่อมิอะไรตามมามากมาย
แต่สุดท้ายวันนี้ โครงการสิทธิบัตรทองโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นได้รับการยอมรับและยกย่องจนถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก WHO ยังยกย่อง และรัฐบาลในชุดต่อๆ มา ยังคงสานต่อนโยบายดังกล่าวมากระทั่งวันนี้
2. กองทุนหมู่บ้าน ๆ ละ1 ล้าน เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ดำเนินการจัดตั้งกองทุนในทุกหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และดำรงชีพ ที่เดิมถูกปรามาส คนจะกู้ไปซื้อมอไซด์-มือถือ จะเป็นหนีเสีย -ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แทบจะไม่เคยอยู่ในสายตาของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ไหน
แต่สุดท้ายวันนี้ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองนั้น เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถ เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก เกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมืองกลายเป็นนโยบายที่ทุกฝ่ายยอมรับและยังคงใช้มาจนปัจจุบัน
3. นโยบาย “หวยบนดิน” รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้ริเริ่มและผลักดันนโยบาย ‘หวยบนดิน’ ออกมา เพื่อนำเงินผิดกฎหมายจากหวยใต้ดินมาอยู่บนดิน ตัดวงจรเงินมืด ล้างบางกลุ่มอิทธิพลเบื้องหลังหวยเถื่อนและการขายสลากเกินราคาทั้งหลาย และนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ ผ่านหลายโครงการ โดย 1 ในนั้น คือ..โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน
โดยโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัวเพิ่มเติม จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งแบบเดิม กำหนดสลากชนิดราคา 20 บาท มีสีเขียวเหมือนธนบัตร 20 บาท สลากชนิดราคา 50 บาท มีสีฟ้าเหมือนธนบัตร 50 บาท และสลากชนิดราคา 100 บาท มีสีแดงเหมือนธนบัตร 100 บาท
ส่วนรางวัลสลากแบ่งออกเป็น 3 ตัวตรง , 3 ตัวโต๊ด , 2 ตัวบน , 2 ตัวล่าง ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขใดก็ได้กรอกลงในช่อง ภายในสลากจะมีการกรอกชื่อผู้ขายเพื่อการตรวจสอบ ส่วนการออกเลขรางวัลนั้นใช้หมายเลขเดียวกันกับสลากกินแบ่งรัฐบาล เรียกได้ว่าเหมือนหวยใต้ดินทุกประการแต่ถูกกฎหมายและมีรัฐบาลเป็นเจ้ามือ
อย่างไรก็ตาม โครงการดังหล่าวถูกมองว่าเป็นการมอมเมาประชาชน และถูกยกเลิกการดำเนินการภายหลังจากที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 และมีการดำเนินการฟ้องร้อง รัฐบาลชุดดังกล่าวที่ดำเนินโครงการนี้ ด้วยข้อหาดำเนินการออกหวยบนดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 และมาตรา 13 ทั้งยังให้มีการดำเนินคดีคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวยกกระบิ รวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังได้พิพากษาจำคุก 2 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในคดีดังกล่าวด้วย
แต่ท้ายที่สุดวันนี้ รัฐบาลกลับมีความพยายามที่จะปัดฝุ่นนำเอานโยบายหวยบนดิน 3 ตัว 2 ตัวกลับมาดำเนินการอีกครั้งด้วยเล็งเห็นว่าเป็นหนทางเดียวในอันที่จะแก้ไขปัญหาหวยเถื่อนและการขายสลากเกินราคาได้
4. พระราชกำหนดเงินกู้ 2 ล้านล้านเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง เป็นอีกนโยบายของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเพื่อไทย (พท.) ในอดีต ที่ผลักดันออกมาในช่วงปี 2557 ด้วยหวังจะโหมลงทุนด้าน Infrastructure ระบบขนส่งทางรางเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ แต่กลับถูกโจมตี่อย่างหนักว่าเป็นนโยบายที่รังแต่จะสร้างหนี้ให้ประเทศ ทิ้งภาระหนี้เอาไว้ให้ลูกหลาน ถูกนักวิชาการ และฝ่ายการเมืองด้วยกันดาหน้าถล่มไม่มีชิ้นดี
จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า การออก พรก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ดังกล่าวนั้น ขัดแย้งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เป็นโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ส่งผลให้บทบัญญัติดังกล่าวมีอันตกไป และประเทศไทยก็ได้แต่นั่งทำตาปริบ ๆ เมื่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ที่มีการลงทุนโครีงสร้างพื้นฐานระบบรางและรถไฟควมามเร็วสูงตามหลังไทยนั้น ต่างทยอยเปิดตัวโครงการเหล่านี้ โดยที่ประเทศไทยนั้นแต่ได้นั่งทำตาปริบ ๆ แถมยังต้องไปอาศักยภาพขนส่งสินค้าเกษตรในโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนอีกด้วย
ทุกวันนี้ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบในความล่าหลังของการขนส่งระบบรางที่ประเทศไทยเผชิญ ด้วยวลีเด็ดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนั้นที่ว่า “รถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ควรรอให้ถนนลูกรังหมดประเทศไปเสียก่อน”
แค่ 4-5 นโยบายที่พรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย (พท.) เคยริเริ่มไว้แล้วทำสำเร็จ กลายเป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดหลังๆ ยังต้องสานต่อนั้น ก็น่าจะเป็น ตัวอย่างที่สามารถอรรถาธิบายได้ว่า นโยบายที่พรรคคิดอ่าน และผลักดันออกมาไม่ได้ตั้งอยู่บนความ “เพ้อฝัน” แต่มีความเป็น “รูปธรรม” ที่สามารถจดำเนินการได้จริงโดยที่หลากหลายนโยบายนั้น ยังคงมีการพูดถึงและดำเนินการอยู่กระทั่งปัจจุบัน
เช่นเดียวกับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต การแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ที่กำลังเป็นที่โจษย์ขานของผู้คนในสังคมและคัดค้านจากคณาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย อยู่ในเวลานี้ โดยมองว่าเป็นนโยบายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ที่ได้ไม่คุ้มเสีย
แม้จะดูเป็นนโยบายใหม่ที่แตกต่างไปจากการแจกเงินเข้าบัญชีโดยตรงในอดีต แต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไปนั้นก็มีเป้าหมายท ต้องการให้ผู้คนนำเงินดิจิทัลที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการเงินเป็นหลัก ไม่ใช่การเบิกเงินสดไปนอนกอดเอาไว้อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ