หากผู้เกี่ยวข้องมิอาจแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนได้ สิ่งนี้...คงมิอาจฉุดหนี้สินภาคครัวเรือน “ปัญหาหนักอก” ของทุกรัฐบาลลงได้เช่นกัน ท่ามกลางเงื่อนไข “6 เดือน” ล้างกระดาน ครม.! จำเป็นอยู่เอง ที่ รมต.ทุกกระทรวง...จำต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์เด่นชัด! ไม่เว้นแม้การแก้หนี้ของกระทรวงการคลัง
.....................................
ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของไทย ณ วันนี้ “พีค” มากสุด! ในระดับที่หากไม่เร่งแก้ไขอย่างทันท่วงทีแล้วล่ะก็ สิ่งนี้...อาจชอนไชและกัดกินเนื้อในของระบบเศรษฐกิจไทย จนยากจะแก้ไขได้...เช่นกัน
ไม่แปลก! ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ...กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒน์ เร่งหาทางฉุดสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนให้ลดลงมาโดยเร็ว
จากข้อมูลตัวเลขที่ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า มีการขยายตัวของหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และขยับมาอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน GDP ที่ 90.6% โดยหนี้สินส่วนใหญ่ มาจากการที่ภาคครัวเรือนได้ก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมากเกินไป
ที่สำคัญ ยังพบด้วยว่า...ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง กระทั่งก่อเกิดหนี้เสีย (NPL) ในไตรมาสแรกของปี 2566 สูงถึง 1.44 แสนล้านบาท คิดสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% และกลุ่มคนที่เป็นหนี้ครัวเรือนมากที่สุด หนีไม่พ้นกลุ่มเกษตรกร ที่มีสัดส่วนมากถึง 40% ของคนไทยทั้งประเทศ
สอดรับกับข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีฯและประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ แถลงกับผู้สื่อข่าวเมื่อ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาใหญ่ของภาระหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 15 โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408 บาท หนี้สินต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 11.5 % จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711 บาทต่อครัวเรือน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังได้เปรียบเทียบรายจ่ายและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน โดยพบว่า ประเทศไทยมีรายได้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5,000 บาทมากถึง 94.1% ขณะที่ รายได้ครัวเรือนน้อยมีกว่ารายจ่าย 65.8% รายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 32.0% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่ายมีแค่ 2.2%
คนส่วนใหญ่...เลือกแนวทางในการแก้ปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย ด้วยการกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากธนาคาร การกดเงินจากบัตรกดเงินสด บริษัทสินเชื่อ กูยืมเงินจากญาติพี่น้อง...
นั่นจึงปมต้นเหตุ...ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่ส่งผลสะเทือนต่อไปยังปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศ!!!
แม้ล่าสุด กระทรวงการคลัง และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้ดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี ให้กับเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่มีมูลหนี้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท และมีมากถึงเกือบ 2 ล้านราย โดยเอาเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศไปอุดหนุนนโยบายดังกล่าว รวมกันมากถึงกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเปิดไปจนถึง 30 ก.ย.2567
แต่หนี้สินของเกษตรกร ก็เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของหนี้สินภาคประชาชน ชนิดเทียบกับไม่ติด! และที่สำคัญ นโยบายพักหนี้เกษตรกรกร กลับถูกมองว่า เป็นเพียงการ “เหวี่ยงแห...ว่านเงิน” โดยตอบไม่ตรงโจทย์สักเท่าใด?
กระนั้น รัฐบาลก็ยังได้ชื่อว่า...ลงมือทำไปแล้ว
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งกว่าก็คือ จากนี้ไป...รัฐบาลจะทำอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของหนี้สินภาคครัวเรือน เพราะหากรัฐบาลไม่อาจแก้ไขได้อย่างตรงจุด! กระทั่ง ไม่สามารถจะลดหนี้สินในส่วนนี้ลงได้ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของไทย ก็ยังจะเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลต่อไป
นั่นจึงนำมาซึ่งการชิงไหวชิงพริบในภารกิจนี้ ระหว่าง “2 รมช.คลัง”
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ซึ่งกำกับดูแล ธนาคารออมสิน... ธนาคารของรัฐที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะรายย่อย รวมถึงเอสเอ็มอีระดับกลางลงล่าง นั้น
โดยหน้าที่หลักแล้ว ก็ต้องเป็นเขา...ที่ดูแลรับผิดชอบต่อภารกิจนี้
ขณะเดียวกัน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง อีกคน ซึ่งก็ถูกคาดหวังจาก พรรคการเมืองต้นสังกัด (เพื่อไทย) ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและหนี้สินภาคประชาชน ตามนโยบายของพรรคและรัฐบาลเศรษฐา ก็อยู่ในข่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเช่นกัน
ปัญหาที่แท้จริง! ก็คือ นายกฯ เศรษฐา ในฐานะ รมว.คลัง จะมอบหมายให้ นายกฤษฎา รมช.คลัง ในโควตาพรรคร่วมไทยสร้างชาติ หรือ นายจุลพันธ์ คนของพรรคเพื่อไทย “ต้นสังกัด” ของ นายกฯ เศรษฐา...รับผิดชอบในภารกิจนี้
หรือจะใช้บริการของทั้ง 2 คนก็ไม่แปลก! แต่คนเป็น...นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็ต้องชัดเจนด้วย
ล่าสุด ดูเหมือน นายกฤษฎา ที่เจนจัดในด้านการบริหารงานราชการมากกว่า เพราะเคยเป็น “ปลัดกระทรวงการคลัง” มาก่อน มีความรู้และเข้าใจในกระบวนการแก้หนี้มาหลายยุคสมัย ได้เริ่มลงมือปฏิบัติงาน...ด้วยการสั่งการให้ธนาคารออมสิน เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินรายย่อยของลูกค้าธนาคารฯ เป็นการนำร่องโครงการใหญ่ที่จะมีตามมาในอนาคตอันใกล้...
“กระทรวงการคลังได้มอบหมายธนาคารออมสินเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ธนาคาร ทั้งในส่วนของหนี้ปกติที่ยังมีการผ่อนส่ง โดยให้ถือว่าเป็นลูกหนี้ดีที่จะต้องได้รับการดูแล โดยปรับเกณฑ์การชำระจากเดิมที่การชำระในแต่ละเดือนจะไปหักที่ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ ก็จะเปลี่ยนไปหักเงินต้นให้มากถึงร้อยละ 70-80 ที่เหลือจึงไปหักในส่วนของดอกเบี้ย ซึ่งนั้นจะทำให้เงินต้นของลูกหนี้แต่ละรายลดลงอย่างรวดเร็ว และจะได้พ้นสภาพความเป็นหนี้สินได้เร็วขึ้น” รมช.คลัง ระบุและว่า
ในส่วนของหนี้ที่มีปัญหา (เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสินนั้น ธนาคารฯได้จัดโครงการคาราวานช่วยเหลือลูกหนี้ตามพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ด้วยการให้พักชำระเงินต้น และให้ทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ ร้อยละ 25-100 รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะเอ็นพีแอล อยู่ก่อนวันที่ 30 ธ.ค.2565 โดยธนาคารฯจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย...ไม่ฟ้องดำเนินคดี ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาดและไม่ฟ้องล้มละลาย (แล้วแต่กรณี) โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร
ก็อย่างที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” เกริ่นในตอนต้นว่า...หากรัฐบาลแก้ไขหนี้สินภาคประชาชนได้อย่างตรงจุด! สิ่งนี้...ก็จะช่วยลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
แนวคิดของ นายกฤษฎา ที่ได้ถูกส่งต่อมายัง ธนาคารออมสิน นั่นคือ...การเดินเกมคู่ขนานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน แผนหนึ่ง...เริ่มจากแก้ไขหนี้สินของลูกค้าธนาคารฯก่อน แยกหนี้ดี (หนี้ปกติ) ออกจากหนี้ที่มีปัญหา (หนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล)
เมื่อได้แนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน ก็ให้เริ่ม...แผนสอง คือ ใช้ “โมเดล” ของธนาคารออมสินในการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน ด้วยการจัดตั้ง “หน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบดูแลหนี้เสีย” หรือ AMC ขึ้นมาเป็นเฉพาะ และรับซื้อหนี้เสียของธนาคารออมสิน รวมถึงหนี้เสียจากธนาคารของรัฐรายอื่นๆ แล้วอาจเลยไปถึงหนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ (ไม่เฉพาะหนี้สินของประชาชน แต่ยังรวมถึงหนี้ของเอสเอ็มอีขนาดกลางจนถึงระดับไมโครเอสเอ็มอี) หากประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้...
นายกฤษฎา ระบุว่า “ตอนนี้...รอให้ออมสินได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ตัวเองเสียก่อน เพื่อใช้เป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนจากสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ ในรูปแบบการจัดตั้ง AMC ขึ้นมา”
เขาย้ำว่า... ทุกธนาคารของรัฐสามารถจะขายหนี้เอ็นพีแอลให้กับธนาคารออมสินได้ในราคาตลาด โดยไม่มีปัญหาเรื่องการขาดทุนจากการดำเนินงาน เนื่องจากธนาคารของรัฐทุกแห่งได้ตั้งสำรองหนี้เสียเต็มจำนวนไปแล้วก่อนหน้านี้
ดังนั้น การขายหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล จึงถือเป็น “รายได้ใหม่” ของธนาคารนั้นๆ โดยคาดว่า... การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ผ่านช่องทาง AMC จะดำเนินการได้ภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้างก็ราวต้นปีหน้า
ทั้งนี้ หากหนี้สินภาคประชาชนลดลง สิ่งนี้...ก็จะไปลดหนี้สินภาคครัวเรือนในภาพรวม ตามที่รัฐบาลคาดหวังจะเห็นลดจนเหลืออยู่ในระดับร้อยละ 80 จากปัจจุบันที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี
ขณะที่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเสริมว่า ธนาคารฯ จะเร่งจัดทำข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน เพื่อนำไปเป็นโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนในภาพรวมผ่านกลไก AMC ตามนโยบายของรัฐบาลและรมช.คลัง คาดว่าภายในเดือนหน้าจะเสนอแนวทางดังกล่าวให้นายกฤษฎาได้พิจารณาเงื่อนไขของธนาคารออมสินอย่างแน่นอน
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนผ่าน AMC นั้น ธนาคารออมสินจะนำร่องขายหนี้สินเอ็นพีแอลของธนาคารฯให้กับหน่วยงาน AMC ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลหนี้สินในกลุ่มนี้ โดยขณะนี้ ธนาคารฯอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตรที่จะมาเข้าร่วมดำเนินการ ทั้งในแง่ของสัดส่วนการร่วมทุน เงื่อนไขการดำเนินงาน และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่า ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเอ็นพีแอล ทั้งในส่วนของธนาคารออมสินและหนี้ที่รับซื้อมาจากธนาคารของรัฐอื่นๆ จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ มากกว่าจะเน้นเรื่องกำไร ขอเพียงแค่ให้องค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่สามารถอยู่ได้เท่านั้น ซึ่งจะตรงกับแนวทางการดำเนินงานของธนาคารที่มุ่งเน้นความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” นั่นเอง
น่าสนใจว่า...แนวทางการขับเคลื่อนแก้ปมหนี้สินภาคประชาชน ที่จะส่งผลต่อการลดสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนให้ลดลงจากที่มากกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี เหลือเพียงร้อยละ 80 นั้น เอาเข้าจริงจะทำได้หรือไม่?
และต้องไม่ลืมว่า...สไตล์การบริหารประเทศแบบ “ชินวัตรกรุ๊ป” นั้น ใครสร้างผลงานได้ไม่ดี? หรือไม่ได้ดั่งใจ...โอกาสจะ “ถูกเตะ” ออกนอกวงย่อมมีสูง ไม่เว้นแม้กระทั่ง คนเป็น “นายกรัฐมนตรี”
แต่ที่แน่ๆ “6 เดือนแรก” ของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” เมื่อผ่านพ้นห้วงระยะเวลา “ตอบแทนบุญคุณ” ไปแล้ว เชื่อว่า...จะมีการ “ปรับ ครม.ใหม่” อย่างแน่นอน
อย่างน้อย... นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ควรนั่งควบ “รมว.คลัง” เพราะภารกิจของ...เจ้ากระทรวง มันยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมอบให้ “2 รมช.คลัง” แย่งกันสร้างผลงาน เหมือนในเวลานี้...
ส่วนจะเป็น “หมอชลน่าน” ที่พร้อมขยับตัวเอง...จากเก้าอี้ “รมว.สาธารณสุข” มานั่งเก้าอี้ “รมว.คลัง” เช่นที่พรรคเพื่อไทยบางส่วน คาดหวังหรือไม่? หรือจะเป็น “ใบสั่ง” จากมือที่พอจะมองเห็น กับการส่งเทียบเชิญให้ “คนนอก” จากรั้วแบงก์พาณิชย์รายนั้น มาสวมบทบาท “รมว.คลัง” แทนที่นายกฯ เศรษฐา อันนี้...ก็ต้องรอลุ้นในเวลาที่เหลืออีกกว่า 4 เดือน
ยังพอมีเวลาให้ทั้ง นายกฤษฎา และนายจุลพันธ์ ได้เข้ามาสานต่อโครงการอันเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในทุกมิติ ภายใต้เงื่อนไขที่จีดีพีจะต้องโตเฉลี่ยปีละ 5%
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ภายใต้การจัดการของธนาคารออมสิน และ AMC ที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นั้น ย่อมมีความหมายมากๆ ต่อการสร้างผลงานของผู้รับผิดชอบในการดำรงตนให้อยู่ในสถานะเดิมหรือดีกว่าเก่า…
ด้วยเหตุผลที่ว่า...การขับเคลื่อนเพื่อกดให้หนี้สินภาคประชาชนลดลง ย่อมฉุดให้หนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาล ลดลงตามไปด้วย และยิ่งหากสามารถลดได้จนเหลือแค่เพียงร้อยละ 80 ของจีดีพีล่ะก็
ทีนี้...ก็ไม่ต้องว้าวุ่นกับการปรับ ครม. รอบใหม่กันอีกแล้ว!!!.