เหลือบไปเห็นข่าวนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” สั่งรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล (รวมทั้งรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย) ให้เร่งรัดโชว์ผลงาน Quick Win ออกมาโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่เคยประกาศเอาไว้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกของการทำงานจะเห็นผลงานอะไรออกมาอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง
เพราะผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมในเวลานี้ดูจะไปตกอยู่ที่กระทรวงพลังงานของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)” ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมต.พลังงาน ซึ่งดูจะมีผลงานโดดเด่นสุดในห้วงเวลานี้ ไหนจะปรับลดค่าไฟเอฟที (FT) ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก แถมยังจัดหนักจัดเต็มในการปรับลดค่า FT ไปถึง 2 ระลอกติดต่อกันทำเอาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและประชาชนคนไทยสำลักความสุขกันไปถ้วนหน้า
กระทรวงพลังงานยังปรับลดและตรึงราคาดีเซลเอาไว้ต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท (29.94 บาท) ได้ใจสิงห์รถบรรทุกไปอักโข ทั้งยังผลักดันมาตรการตรึงราคาแก๊สหุงต้ม ยังไม่พอ ล่าสุดที่ประชุม ครม.ก็เพิ่งอนุมัติหลักการปรับลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอลล์ 91 ลงไปอีก 2.50 บาท กรุยทางการปรับลดราคาเบนซินให้สิงห์นักบิดทั้งหลายเข้าไปอีก ตักตวงผลงานให้รัฐบาลและพรรคไปอีกจมหู
ขณะที่ผลงานของรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยตรง โดยเฉพาะนโยบายแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” คนละ 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ทำท่าจะมีปัญหาส่อจะเจริญรอยตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลในอดีต เพราะยังมืดแปดด้าน “ผ่าทางตัน” หาแหล่งเงินที่จะดำเนินการจำนวน 5.6 แสนล้านไม่ได้
ด้านกระทรวงพาณิชย์ ที่ผู้คนคาดหวังจะเห็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพเอาไว้ ก็กลับมา “เสียรางวัด” ไปกับการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ล่าสุดจากราคาหน้าโรงงาน 19-20 บาท ทะลักพรวด 22-23 บาท ดันราคาขายปลีกพุ่งพรวดจาก 23-24 บาทเป็น 29-30 บาทเข้าไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ผลพวงจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายที่ว่า คงจะทำให้สินค้าดาหน้าปรับขึ้นราคาตามมาเป็นพรวน และเผลอ ๆ อาจเผชิญปัญหาน้ำตาลทรายเถื่อนทะลักล้นตามมา
ส่วนกระทรวงคมนาคมที่ผู้คนคาดหวังไว้มากที่สุดกับนโยบาย “ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” นั้น แม้จะทำได้ตามเป้าหมาย ในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง อันเป็นโครงข่ายที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ก็แป๊กอยู่แค่ 2 สายทางเท่านั้น ยังไร้หนทางจะขยับขยายไปยังสายทางอื่น ๆ เพราะติดอุปสรรคจากสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ ทำให้ประชาชนคนกรุงที่ได้ “อานิสงส์” จากนโยบายนี้จริงๆ มีอยู่แค่ 1 แสนคนเท่านั้น จากประชาชนคนกรุง (รวมปริมณฑล) ที่มีมากกว่า 12 ล้านคน เอาเป็นว่าไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำจะไปเคลมเป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” ก็คงอายม้วนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน
แถมวันวาน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญระบบขนส่งมวลชน ยังออกมาสัพยอก ผลพวงจากการใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ที่นำร่องไปแค่ 2 สายทางยังทำเอารัฐขาดทุนบักโกรก เพราะปริมาณผู้โดยสารไม่ได้เพิ่มขึ้นตามคาดหวัง เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไปเพียง 3-5% เท่านั้น ขณะที่รายได้ค่าโดยสารจากนโยบายดังกล่าวที่วูบหายไปนั้น กลับทำให้รัฐต้องแบกภาระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสูงขึ้น จากเดิมวันละ 6.7 ล้าน เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
นี่หากขยายไปยังโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รวมทั้งสายสีเหลือง สายสีชมพู และสายสีเขียว ก็ไม่รู้จะต้องใช้เม็ดเงินภาษีกี่มากน้อยถึงจะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปถึงเป้าหมายได้
ที่จริงหนทางในอันที่จะสร้างชื่อให้กับกระทรวงคมนาคมนั้น นอกจากเรื่องของค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้ว ยังมีเรื่องของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่คาราคาซังมากว่า 3 ปีแล้ว จนป่านนี้ยัง “ปิดบัญชีไม่ลง” ฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคง “ตั้งแท่น” จะให้กระทรวงคมนาคมเร่งนำผลประกวดราคาเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบ
ทั้งที่จะว่าไป ขนาดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ยังชิ่งหนีเผือกร้อนโครงการที่ว่าไม่ยอมเคาะโต๊ะไฟเขียวผลประมูลสัมปทานโครงการนี้ ขืนกระทรวงคมนาคมตกหลุมพรางไฟเขียวให้กับผลการประมูลที่เก็บงำกันมาเป็นปี ๆ แทนจะได้หน้าได้ผลงาน ก็อาจเรียกแขกให้งานเข้ากันทั้งคณะเอาได้
ดังนั้น หนทางในอันที่จะ “ผ่าทางตัน” โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้สามารถดำเนินการประกวดราคาได้เร็วแบบ “ม้วนเดียวจบ” ก็มีแต่การยกเลิกผลประกวดราคาครั้งก่อน แล้ว “ปัดฝุ่น” เอาทีโออาร์เดิมในการประกวดราคาครั้งแรกเมื่อปี 2563 นั่นแหล่ะออกมาใช้ เพราะเป็นเงื่อนไขประกวดราคาที่ไม่ได้มีปัญหาใดๆ แม้แต่น้อย เป็นเงื่อนไขประกวดราคาที่ทุกรายสามารถเข้าประมูลได้อยู่แล้วโดยปราศจากข้อจำกัด และไม่มีการสร้างเงื่อนไขกีดกันผู้เข้าประมูลให้มันยุ่งขิง
การปัดฝุ่นนำเอาเงื่อนไขทีโออาร์ดังกล่าว มาใช้เป็นการยิงปืนทีเดียวได้นก 2 ตัว เพราะไม่เพียงจะร่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการนี้ เพราะเป็นเงื่อนไขเดิมที่ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าและผู้รับเหมาเดิม ๆ ได้มีการศึกษากันจนปรุ (ศึกษากันจนจบปริญญาเอกกันทุกรายอยู่แล้ว) แถมยังมีข้อเสนอราคาอ้างอิงเดิมที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Consortium) ที่มี BTS เป็นแกนนำเคยยื่นข้อเสนอเอาไว้ที่ 9,635 ล้านบาท เป็นราคาอ้างอิงอยู่แล้ว หากเปิดประมูลใหม่ ยังไงเสียข้อเสนอด้านราคาคงไม่ “กระโดดค้ำถ่อ” ขึ้นไปเป็น 70,000-80,000 ล้านบาทได้แน่ เผลอๆ หากกลุ่ม ช.การช่าง และ BEM ต้องการลุยไฟโครงการนี้จริง ๆ ก็อาจเสนอราคาแข่งกลุ่ม BSR ชนิดที่รัฐบาล และ รฟม. อาจไม่ต้องควักเม็ดเงินสนับสนุนการก่อสร้างโครงการนี้แม้แต่บาทเดียวด้วยซ้ำ
ไม่ว่าผลประกวดราคาจะออกมาอย่างไร รัฐบาลยังสามารถโอ่เป็นผลงานความสำเร็จในการดึงเม็ดเงินภาษีและผลประโยชน์ของชาติหลายหมื่นล้านกลับมาจาก “ขุมนรก” ของกลุ่มทุนการเมืองได้ จะตีปี๊บโอ่เป็นผลงานและฉีกหน้ารัฐบาลก่อนว่า “สุมหัว” ปล้นผลประโยชน์ประเทศชาติไปมากน้อยก็ย่อมได้
ส่วนโครงการที่เป็นไฮไลท์ ที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งเช้าไปผ่าทางตัน ก่อนที่จะทำให้นักลงทุนน้อยใหญ่ต้องขวัญหนีดีฝ่อจากท่าทีของรัฐบาลที่กำลังหันไปตีปี๊บนโยบายขับเคลื่อนสะพานเศรษฐกิจ “แลนด์บริดจ์” ในภาคใต้เซาท์เทิร์นซีบอร์ดอยู่นั้น ก็คือ โครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
กล่าวได้ว่า วันนี้เดินทางมาไกลจนไม่อาจจะเลี้ยวกลับหรือยูเทิร์นได้อีกแล้ว เป็นอย่างไร “สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์” จะนำเสนอต่อไป