ต้องถามว่า ประเทศไทยเราเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก หรือต้องนำเข้าแบบเดียวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหรือ ถึงได้ดิ้นรนมาขอปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศอย่างสุดลิ่มในเวลานี้... ขอโทษเถอะ! ประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก แถมค่าเงินบาทของไทยยังอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคนี้ด้วยอีก
นั่นแปลว่า การส่งออกน้ำตาลทรายทุกกิโลกรัมจะทำให้เราได้เม็ดเงินสะพัดกลับมามากกว่าเดิมมหาศาล จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แล้วจะมาขอปรับขึ้นราคาน้ำตาลในมือประชาชนผู้บริโภคกันเพื่ออะไร ???*
********
กำลังเป็นประเด็นสุดร้อนที่ทำเอาประชาชนผู้บริโภคหายใจไม่ทั่วท้อง
กับเรื่องของราคาน้ำตาลทรายที่กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด มีมติให้เพิ่ม “น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าควบคุมทั้งราคาหน้าโรงงานและขายปลีกครบวงจร พร้อมประกาศควบคุมราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน กก. ละ 19-20 บาท และกำหนดราคาขายปลีก 23-24 บาทเอาไว้เช่นเดิม
เป็นการ “หักดิบ” กระทรวงอุตสาหกรรมชนิดไม่ไว้หน้า และยังเป็นการล้มระบบ “เสรีน้ำตาลทราย” ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2561 หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) ซึ่งเป็นผู้บริหารระบบน้ำตาลทรายครบวงจรได้ประกาศปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจากกิโลละ 19-20 บาท เป็น 23-24 บาท หรือปรับขึ้นกิโลกรัมละ 4 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2566 เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายประจำฤดูการผลิตปี 2566/67
ทำเอาราคาน้ำตาลทรายในตลาดพุ่งกระฉูดขึ้นไปทันทีเป็น 28-30 บาท ประชาชนผู้บริโภคช็อคตาตั้ง ที่จู่ ๆ มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ ด้วยข้ออ้าง เพราะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกพุ่งกระฉูด ขณะที่ประเทศไทยขายในราคาต่ำกว่ามานานแล้ว เม็ดเงินจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจำนวน 2 บาท จะเจียดเข้าสู่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริหารจัดกับการแก้ไขปัญหา PM2.5 อีกส่วนเพื่อนำเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล
เมื่อกระทรวงพาณิชย์ “หักดิบ” สั่งระงับการปรับขึ้นราคาน้ำตาลยกแผง พร้อมดึงอำนาจในการดูแลน้ำตาลทรายกลับคืนสู่อ้อมอกเช่นนี้ จึงสร้างความไม่พอใจให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม และโดยเฉพาะสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยที่ออกโรงเคลื่อนไหว จ่อ “ลุกฮือ” บุกกระทรวงพาณิชย์เพื่อเจรจาขอให้พาณิชย์ไฟเขียวปรับขึ้นราคาตามข้อเรียกร้องของชาวไร่อ้อยว่างั้นเถอะ
หากการเจรจาในครั้งนี้ไม่เป็นผล ก็นัยว่า สมาพันธ์ฯ จะระดมไพร่พลปิดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. เป็นต้นไป
ก็ให้น่าแปลก! ประเทศไทยเราที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอับดับ 2 ของตลาดโลกรองจากบราซิล ในขณะที่ “ค่าเงินบาท” ของไทยในช่วงที่ผ่านมา และวันนี้ก็ได้ชื่อว่า “อ่อนค่ามากที่สุด” ในภูมิภาคนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเป็นวินาทีทองของตลาดส่งออกไทยโดยแท้ ต่อให้ไทยเราขายสินค้าส่งออกในราคาเดิม ก็จะมีเม็ดเงินรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 15-20% โดยอัตโนมัติ
แล้วเม็ดเงินที่ได้จากการขายน้ำตาลทรายส่งออกไปอยู่ที่ไหน ตกอยู่ในเงื้อมมือใครหรือของใคร จึงจะมาปล้นสะดมเอากับประชาชนผู้บริโภค ด้วยการขอปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศ สอน. และกระทรวงอุตสาหกรรมตอบให้ประชาชนคนไทยได้ชื่นใจทีเถอะ!!!
พวกท่านกำลังเล่นปาหี่อะไรกัน.... เห็นประชาชนคนไทยกินหญ้าแทนข้าวแทนน้ำตาลหรืออย่างไร???
ป่วยการที่จะมาอ้างว่าผลประโยชน์จากการส่งออกน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้นจนสำลักนั้น ไม่ได้ตกสู่มือชาวไร่อ้อย พวกท่านก็ต้องไปไล่เบี้ยกระทรวงอุตสาหกรรม และ สอน. ว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 อะไรที่ว่านั้น เหตุใดเม็ดเงินที่ได้จากการส่งออกถึงไม่ไหลเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ว่านี้ แล้วเม็ดเงินรายได้เหล่านี้มันไปตกอยู่ในกำมือใคร ?
ทำไมจะต้องมาให้ประชาชนผู้บริโภคแบกรับภาระแทนกันง่าย ๆ แบบนี้
เออ! ถ้าประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก แบบเดียวกับน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ แล้วมาขอปรับขึ้นราคากันเป็นรายวันก็ว่าไปอย่าง ยังจะพอทำในรับได้ แต่นี่ไทยเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แถมค่าเงินบาทของไทยยังอ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคนี้เสียด้วยอีก
เช่นนี้แล้ว ยังจะมาปล้นสะดมเอากับการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในท้องตลาดด้วยอีก
ก็คงต้องเตือนไปยัง นายภูธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ รวมทั้งท่าน นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เติบโตมาจากภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่งต้องรู้ตื้นลึกหนาบางของการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี หากลูกไม้ตื้นๆ ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแค่นี้แล้วรัฐบาลยังดูไม่ออก และดันไปไฟเขียวให้กับการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายแบบ “ปล้นกลางแดด” ประชาชนคนไทยผู้บริโภค ก็สมควรอยู่หรอกที่รัฐบาลเองนั่นแหล่ะสมควรที่จะถูกแหกอก หรือ “อัปเปหิ” เสียเอง
ที่จริงนายกฯ สมควรจะไล่เบี้ย และ “ปลด” รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ต้นตอที่ทำให้เรื่องมันวุ่นวายนี้เสียด้วยซ้ำ เพราะท่านคิดได้อย่างไรในการไปไฟเขียวให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานำไปก่อนหน้านี้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้นได้ประโยชน์มหาศาลแค่ไหนจากการส่งออกน้ำตาลทรายในตลาดโลกเวลานี้
แค่ข้ออ้างในการขอปรับขึ้นก็ฟังไม่ขึ้นตั้งแต่ต้นแล้ว หากรัฐมนตรีหรือรัฐบาลยอมให้กับข้อเรียกร้องอันงี่เง่าแบบนี้ ก็สมควรที่จะถูกขับไปทั้งคณะเลยนั่นแหล่ะ จริงไม่จริง!!!
หมายเหตุ : ทำความเข้าใจน้ำตาลทรายโควตา ก. โควต้า ข. และโควตา ค.
น้ำตาลโควตา ก. คือ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลชนิดอื่นๆ ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้ผลิตสำหรับบริโภคภายในประเทศ
น้ำตาลโควตา ข. คือ น้ำตาลทรายดิบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้ผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัดส่งออกและจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
น้ำตาลโควตา ค. คือ ปริมาณน้ำตาลส่งออกไปต่างประเทศ เป็นส่วนที่เหลือโดยหักน้ำตาลโควตา ก และโควตา ข ออกจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งหมด
ที่มา เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม http://www.ocsb.go.th/th/faq/index.php?gpid=18