รัฐบาลเพื่อไทยกุมขมับ! เส้นทางจัดทัพบอร์ด รสก.ใหม่ ซับซ้อนยิ่งกว่าเขาวงกต กว่า 2 เดือนยังปรับเปลี่ยนบอร์ด รสก. สักแห่งไม่ได้ หลังรัฐบาล คสช. ออกระเบียบสำนักนายก -ทำคลอด พ.ร.บ.พัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ ปี 62 อ้างตีกันการเมืองล้วงลูก แต่กลับสร้างระบบราชการครอบงำไว้เบ็ดเสร็จ
…..
แม้รัฐบาล “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” จะเข้ามาบริหารประเทศมากว่า 2 เดือนเข้าไปแล้ว และที่ผ่านมา รัฐมนตรีหลายกระทรวงมีการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการในหน่วยงานในสังกัดเพื่อให้กลไกการทำงานของข้าราชการสนองนโยบายของเจ้ากระทรวง และรัฐบาลใหม่ได้อย่างสอดประสาน
แต่ในส่วนของการปรับเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ถือเป็นกลไกสำคัญของการดำเนินนโยบายรัฐที่เกี่ยวข้องกับ กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการทั้งหลายนั้น กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า จนถึงขณะนี้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดทุกกระทรวงยังคงไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งใดได้
แม้ที่ผ่านมา กรรมการและคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแหล่งจะตบเท้าลาออก เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่จนถึงขณะนี้ทุกกระทรวงยังคงไม่สามารถแต่งตั้งหรือปรับเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจแห่งใดได้ จนทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งเกิด “สุญญากาศ” ปราศจากบอร์ด บางแห่งไม่มีทั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจและฝ่ายบริหาร อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นต้น
ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่แม้คณะกรรมการ ปตท. จะยื่นใบลาออกไปแล้ว เช่นเดียวกับกรรมการ ทอท. อีกหลายคนได้ตบเท้ายื่นใบลาออกไปเช่นกัน แต่กระทรวงต้นสังกัดก็กลับยังไม่สามารถจะดำเนินการปรับเปลี่ยนกรรมการได้
กระบวนการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 9 ปีที่ผ่านมา “ถูกตรึง” เอาไว้ภายใต้แนวทางตามระเบียบสำนักนายกฯ ตุลาคม 2557 ที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่า “เขาวงกต” ถึง 9 ขั้นตอน
แม้ต่อมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา จะทำคลอด พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ที่ปรับลดขั้นตอนการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจใหม่เหลือ 4 ขั้นตอน แต่ก็ยังซับซ้อนยุ่งยากมากในทางปฏิบัติ สะท้อนความเป็นระบบราชการ Bureaucracy ด้วยข้ออ้าง เพื่อป้องกันการเมืองเข้ามาแทรกแซง ล้วงลูกแสวงหาประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย
เช่น ให้หน่วยงานที่จะแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต้องเสนอรายชื่อมายังสำนักงาน สคร. จำนวน 2 เท่าของกรรมการที่จะแต่งตั้ง เพื่อเป็นคู่เทียบ และต้องตรวจสอบ คุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม มีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยกรรมการรัฐวิสาหกิจ กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และยังต้องพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะด้วยว่ามีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญสอดคล้องกับภารกิจของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หรือไม่ ก่อนเสนอรายชื่อให้อนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการให้เหลือเท่าจำนวนที่จะแต่งตั้ง
เมื่อผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกลั่นกรอง หน่วยงานเจ้าสังกัดจึงจะเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบ ก่อนเสนอรายชื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอีกครั้งในชั้นสุดท้าย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ แม้จะอ้างว่าได้ปรับลดลงจากแนวทางเดิมแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงนั้นเห็นได้ชัดว่า ยังคงถูกครอบงำโดยระบบราชการยิ่งกว่าเดิม
ผุด “ซูเปอร์บอร์ด” รสก.เหนือ คนร.?
ล่าสุด คนร. ที่มีนายกฯ เป็นประธานเพิ่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมกลั่นกรอง มี นายประสงค์ พูลธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมกรรมการกลั่นกรอง ตามที่ถูกกำหนดโครงสร้างไว้ตามกฎหมาย ประกอบด้วย นายอัชพร จารุจินดา , นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ , นายกุลิศ สมบัติศิริ , นางปานทิพย์ ศรีพิมล , นายพิชัย ชุณหวชิร , นายสมชาย คูวิจิตรสุวรรณ , นายไกรสร บารมีอวยชัย เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงาน คนร. เป็นกรรมการและเลขานุการ
“แค่เห็นรายชื่อกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ ฝ่ายการเมืองก็อึ้งกิมกี่แล้ว เพราะสะท้อนให้เห็นถึงระบบราชการโดยแท้ เป็นการกำหนดโครงสร้าง “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มีอำนาจเหนือ คนร. เสียอีก เพราะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองและกำหนดรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาทั้งหมด เรียกได้ว่าฝ่ายการเมืองจะเสนอใครเข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจก็ต้องมาผ่านด่านนี้เท่านั้น”
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตัวกรรมการกลั่นกรองตามกฎหมายนั้น ถูกวางหมากเอาไว้ให้ต้องมีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล็อคสเปคเอาไว้เบ็ดเสร็จ ทั้งที่กรรมการกลั่นกรองบางคนนั้นได้ชื่อว่าเป็น “ร่างทรง” กลุ่มทุนธุรกิจที่ผูกขาดกิจการสัมปทานของรัฐ และมีส่วนทำให้รัฐและกระทรวงการคลังสูญเสียเม็ดเงินผลประโยชน์ไปมหาศาล
ขณะที่ขั้นตอนการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นแม้จะอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจใหม่ ปี 2562 แต่ในข้อเท็จจริง สคร. กลับยังคงติดยึดอยู่กับขั้นตอนเดิมที่อิงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2560 เป็นหลัก ผ่านกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำสมรรถนะของกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Skill Matrix) และขั้นตอนการแต่งตั้งที่ยังคงวนไปวนมาเช่นเดิม โดย สคร. และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพิจารณาทบทวนและกำหนด Skill Matrix ของหน่วยงาน ก่อนที่รัฐวิสาหกิจจะเสนอรายชื่อผู้ที่จะเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจจำนวน 2 เท่ามายัง สคร.และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
“จึงไม่แปลกใจ ที่แม้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะเข้ามาบริหารประเทศกว่า 2 เดือนเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถแต่งตั้ง ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจได้แม้สักแห่งเดียวก็แล้วกัน”
แนะนายกฯ หยุดทัวร์นอกลงมาดูปัญหา
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คนร. โดยตำแหน่ง และรัฐมนตรีคลัง ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ได้ตั้งแต่ต้น หากจะหยุดทัวร์นอกสักระยะแล้วลงมาดูแลปัญหานี้ด้วยตนเอง เพื่อนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการ คนร. กำกับดูแลและติดตามปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้ข้าราชการประจำพิจารณากระบวนการพิจารณารายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ โดยไม่อินังขังขอบในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน และปล่อยให้รัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องดิ้นรน แก้ไขปัญหากันเองในการผลักดันคนที่เหมาะสมที่จะเข้ามานั่งในแต่ละรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ หากนายกฯ ในฐานะ รมว.คลัง และ ประธาน คนร. ลงมานั่งหัวโต๊ะเร่งรัดกระบวนการเหล่านี้ ก็สามารถเร่งรัดกระบวนการพิจารณารายชื่อกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ว่านี้ได้ เพราะใน พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ปี 2562 ก็มีทางออกกรณีเร่งด่วนให้รัฐวิสาหกิจ และ สคร. ต่างเสนอตัวบุคคลให้อนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาได้เลย และการกำหนด Skill Matrix และคู่เทียบก็ใช้คนเดิมเป็นฐานได้ ไม่ต้องเริ่มใหม่
นอกจากนี้ คนร. ยังสามารถมอบอำนาจให้ประธาน คนร. (นายกฯ) ตัดสินใจแทน คนร. ได้เลย ไม่ต้องรอประชุมทั้งคณะ หรือจะออก มติ ครม. หรือพระราชกฤษฎีกา มาลดขั้นตอนก็พิจารณาได้ ซึ่งระยะเวลาที่สูญเสียไปกว่า 2 เดือนนั้นหากจะนับ 1 ใหม่วันนี้ก็ยังดีกว่าไม่ได้ริเริ่มทำอะไรเลย
เพราะหากยิ่งปล่อบให้ระบบราชการครอบงำอยู่เช่นนี้ และดึงระยะเวลาการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจทอดยาวออกไป 2-3 เดือน ย่อมจะส่งผลต่อการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนรัฐวิสาหกิจที่จะต้องสนองตอบนโยบายรัฐบาลได้กระทบผลงานของรัฐบาลและนายกฯ อย่างมาก