เห็นรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ปัดฝุ่นโครงการ “แลนด์บริดจ์-สะพานเศรษฐกิจ” ภาคใต้ ออกมาตีปี๊บขนานใหญ่ หวังจะให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติม แล้วย้อนกลับมาดูโปรเจ็คยักษ์สมัยรัฐบาลลุงตู่ “อีอีซี”..
…
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 มีมติรับทราบหลักการโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (ชุมพร-ระนอง) วงเงินลงทุนกว่า 1,001,206 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ซึ่งจะเชื่อมการขนส่งด้วยรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และท่อขนส่งน้ำมัน ขณะที่รูปแบบการลงทุนนั้น จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ให้สิทธิเอกชนพัฒนาและบริหารเป็นเวลา 50 ปี โดยเฟสแรกจะมูลค่าการลงทุนราว 522,844 ล้านบาท
นัยว่า ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือแลนด์บริดจ์ใหม่นี้ เป็นการโยกโครงการลงทุนจากท่าเรือปากบารา จ.สตูล - ท่าเรือน้ำลึกจะนะ จ.สงขลา ที่ถูกต่อต้านกันก่อนหน้ามายัง “แลนด์บริดจ์” เส้นใหม่ที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร - อ่าวอ่าง จ.ระนอง เป็นโครงการที่จะต่อยอดการลงทุนแบบเดียวกับที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อต่อยอดการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ทำให้ต่างชาติสนใจในการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ นายกฯ เศรษฐา ได้นำโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไป “โรดโชว์” นักลงทุนระหว่างการเยือนจีน และซาอุดีอาระเบีย ช่วงปลายเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งยังเตรียมนำไปเสนอกับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.2566 นี้ และนำเสนอกับผู้นำที่เข้าร่วมประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit ในวันที่ 14-17 ธ.ค.2566 ที่ญี่ปุ่นด้วย
หลายภาคส่วนออกมาขานรับสะพานเศรษฐกิจ “แลนด์บริดจ์” ดังกล่าวขนานใหญ่ ด้วยเห็นว่า จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ และดึงดูดการลงทุนขนานใหญ่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงไม่แน่ใจนักกับการปลุกโครงการแลนด์บริดจ์กลับมาดำเนินการขับเคลื่อนใหม่ในครั้งนี้ เพราะโครงการนี้ถูกพูดถึงมานับทศวรรษ หรือหลายทศวรรษแล้ว แต่ต้องล้มลุกคลุกคลานปรับเปลี่ยนมาไม่รู้กี่แนวทางเพราะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง มีการผุดโครงการใหม่ๆ หรือโยกย้ายจุดก่อสร้างกันไปเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกันการปัดฝุ่นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริดจ์” กลับมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมข้างต้น ยังก่อให้เกิดคำถามถึงนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ที่รัฐบาลชุดก่อนดำเนินการเอาไว้นั้นยังไปต่อหรือไม่ รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญอยู่หรือไม่
เพราะในขณะที่รัฐบาลหันไปให้ความสำคัญกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หอบหิ้วเอาโครงการออกไปตีปี๊บเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศกันอย่างขมักเขม่นนั้น ในส่วนของโครงการอีอีซีกลับเงียบสนิท หน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการลงทุนในอีอีซีกลับไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ให้เห็น ทั้งที่โครงการลงทุนในเขตอีอีซีนั้นหลายต่อหลายโครงการกำลังเผชิญปัญหาอุปสรรคและความไม่แน่ชัดในการลงทุน
อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ที่ สกพอ. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมปทานแก่บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ในเครือ ซีพี. และมีการลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการกันไปตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่จนถึงขณะนี้ที่ผ่านมากว่า 4 ปีเข้าไปแล้ว โครงการกลับยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการขยับเขยื้อนลงทุนใดๆ แม้แต่น้อย
ที่เห็นและเป็นไปก็มีแต่ความพยายามในการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างการรถไฟฯ และบริษัท ขณะที่ สกพอ. ที่ควรจะเป็นองค์กรหลักในการประสานการแก้ไขปัญหาก็กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นรูปธรรม ไม่มีการไล่เบี้ยสัญญาสัมปทาน หรือรายงานความคืบหน้าโครงการเหตุใดจึงเต็มไปด้วยความล่าช้า จะต้องหาวเรอไปอีกกี่ปีกว่าจะเปิดหวูดเดินหน้าโครงการได้ หรือ ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่การส่งมอบที่ดินสัมปทานไม่เป็นไปตามสัญญา หรือบริษัทเอกชนไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินโครงการกันแน่ ทำให้โอกาสที่โครงการนี้จะลงเอยด้วย “ค่าโง่” แบบเดียวกับโครงการโฮปเวลล์ในอดีตจึงมีอยู่สูงมาก
เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่กองทัพเรือให้สัมปทานแก่บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) วงเงินลงทุนร่วม 300,000 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่มีการขยับลงทุนใด ๆ เช่นกัน ด้วยเหตุที่โครงการดังกล่าวผูกติดและยึดโยงอยู่กับโครงการรถไฟความเร็วสูง หากโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่เกิดขึ้นหรือล้มไป ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกโดยปริยาย
แม้แต่โครงการจัดหาน้ำในเขตอีอีซี ที่กรมธนารักษ์เปิดประมูลให้สัมปทานแก่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แทนบริษัทบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก หรือ อิสต์วอเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นกิจการของรัฐเอง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการส่งมอบโครงข่ายน้ำและพื้นที่ทับซ้อนของการให้บริการ จนส่อจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของการลงทุนในเขตอีอีซี หากโครงการเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข
สิ่งเหล่านี้ กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่เห็นตัวเลขาธิการอีอีซี จะลงไปแก้ไขปัญหาอะไรให้เป็นรูปธรรม ต่างโยนให้เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่น ทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบที่มี่กฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะ จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การที่รัฐบาลออกไป "ตีปี๊บ" ป่าวประกาศที่่จะปลุกโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ "แลนด์บริดจ์" ขึ้นมาดำเนินการเสียใหญ่โตเพื่อหวังจะให้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวใหม่นั้น จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
ก็ขนาดโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ที่มีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และทุ่มเทโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ลงไปมากแล้ว มีแผนลงทุนที่ชัดเจนจนสามารถเชื้อเชิญนักลงทุนเข้ามาลงทุนกันเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทแล้ว แต่เหตุใดกลับยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้โครงการต่าง ๆ เหล่านี้เดินไปตามเป้าหมายได้
แม้วันวาน นายกฯ เศรษฐา ยังสู้อุตส่าห์นั่งรถไฟลงตรวจความคืบหน้าโครงการลงทุนในเขตอีอีซี เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนในอีอีซีนี้ หาไม่แล้วผู้คนคงคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ “ลอยแพ” โครงการลงทุนในอีอีซีไปแล้วแน่ ! แต่ก็อย่างที่บอกขนาดโครงการลงทุนที่เซ็นสัญญากันไปตั้งแต่ปีมะโว้ 3-4 ปีมาแล้วยังแป๊กย่ำอยู่กับที่ แล้วจะไปคาดหวังอะไรเอากับโครงการทียังคงอยู่ในแผ่นกระดาษ ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมใด ๆ หรือยังไม่มีแม้กฏหมายรองรับ หรือหน่วยงานรองรับใด ๆ
ไม่ว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร โครงการอีอีซีก็เดินทางมาไกลเกินกว่าจะ “ยูเทิร์น” กลับไปแล้ว และถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศไปแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการเชื้อเชิญนักลงทุนไทย-เทศให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีนี้ คิดเป็นมูลค่าลงทุนนับหมื่นหรือหลายแสนล้านบาทเข้าไปแล้ว มีการตรากฎหมาย พ.ร.บ.อีอีซี และจัดตั้งสำนักงาน อีอีซี หรือ สกพอ. ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ในทุกรูปแบบไปหมดแล้ว
ผิดกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ แลนด์บริดจ์ ที่โครงการดังกล่าวยังคงอยู่ในแผ่นกระดาษ ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมใด ๆ จนถึงขนาดที่ รศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ซคอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด ยังออกมาประเมินศักยภาพของแลนด์บริดจ์ เมื่อเปรียบเทียบกับอีอีซี โดยระบุว่า ศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์นั้นน้อยกว่าอีอีซี หลายเท่าตัว
ดังนั้น หากผู้บริหารหน่วยงานและรับผิดชอบโครงการยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่เช่นนี้ ท่านนายกฯ จะเก็บไว้ทำซากอะไร สู้จัดทัพปรับผู้รับผิดชอบใหม่ไปเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราวกันไปไม่ดีกว่าหรือ จะได้เดินหน้าขับเคลื่อนลงทุนลงทุนที่เดินทางมาไกลแล้วให้เดินหน้าไปถึงฝั่งได้เสียที จริงไม่จริง !!!