ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังทุนยักษ์ข้ามชาติยกทัพลงทุนรถไฟฟ้าหรือ EV ในประเทศไทย เพจโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โพสต์ระบุว่า..
หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค รวมทั้งออกมาตรการ EV 3.5 โดยภาครัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ โดยมูลค่าเงินอุดหนุนขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคัน และมูลค่าเงินอุดหนุนสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จาก 8% เหลือ 2%
EEC จึงขอพาไปชมว่า วันนี้เรามีโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในพื้นที่อีอีซี กี่โครงการ และเป็นบริษัทใดบ้าง รวมทั้งจะมีค่ายรถยนต์ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ในระยะต่อไปนั้นมีใครกันบ้าง
ประเดิมด้วย “ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor)” จากจีนแผ่นดินใหญ่ ลงทุน 22,600 ล้านบาท เพื่อปรับโรงงานเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดของภูมิภาค โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat ในปี2567 และจะนำบริษัทในเครือ อย่าง MIND Electronics, HYCET และ Nobo Auto ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบส่งกำลังรถยนต์ และเบาะที่นั่ง เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย
“SAIC Motor (Shanghai Automotive Industry Corporation)” รัฐวิสาหกิจจากจีน เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ MG Motor ซึ่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในไทยไปเมื่อปี 2562 จะลงทุนเพิ่ม 500 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ในประเทศไทย โดยมีแผนจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลางปี 2567
“BYD” จากจีนเช่นกัน ลงทุน 17,900 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในไทย กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี โดยกลางปี 2567 จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในอนาคตจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป
“Changan Automobile” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ ที่ถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของจีน มีแผนลงทุนเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี
“Horizon Plus” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Foxconn Technology Group จากไต้หวัน และบริษัทอรุณพลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดว่า จะสามารถเริ่มผลิตได้ในปี 2568
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากจีนอีกหลายรายที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และได้เริ่มศึกษาถึงการลงทุนอย่างจริงจัง ได้แก่ บริษัท GAC Aion ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทผลิตรถยนต์ Guangzhou Automobile Group กำลังวางแผนลงทุนกว่า 6,400 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีอีซี บริษัท Chery Automobile และบริษัท Geely ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็แสดงความสนใจลงทุนในไทย และวางแผนเข้ามาทำตลาดในไทยภายในต้นปี 2567