สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่าด้วยเงิน “ดิจิทัล วอลเลต”
“เคลียร์-คัด-ชัดเจน” กับโครงการดิจิทัล วอลเลตของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปวันวาน
เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมานับทศวรรษ ด้วยการเติมเงินเข้าไปในระบบผ่านสิทธิ์การใช้จ่าย “ดิจิทัล วอลเลต” (เหมือนให้เครดิตบัตรรูดปึ้ด ๆ ในการซื้อสินค้า-บริการแก่ประชาชน) ไม่ใช่แจกเงินแบบสงเคราะห์เฉพาะผู้มีรายได้น้อยอย่างที่เข้าใจ
แต่ดิจิทัล วอลเลตที่รัฐบาลกำลังจะดีเดย์ออกมาใช้ในเดือนพฤษภาคม 67 นั้น ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ได้รับเงิน และเกณฑ์การจับจ่ายใช้สอยใหม่
จากที่จะแจกถ้วนหน้า มาเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้เงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่นบาท และไม่มีเงินฝากในธนาคารรวมทุกธนาคารเกิน 5 แสน (หากใครมีเงินฝากจากวัยเกษียณเก็บดอกออกผลนับล้านก็อดไป)
ส่วนหลักเกณฑ์การใช้จ่ายที่ปรับใหม่ให้ยืดหยุ่นขึ้น เป็นขยายใช้จ่ายได้ทั่วทั้งเขต-อำเภอ ยังร้านค้าชุมชนหรือร้านค้าทั่วไป จะซื้อสินค้า-บริการใดก็ได้ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ หรือสินค้าฟุ่มเฟือย ประเภทหยิบหยองทองหยอง อัญมณี เครื่องประดับทั้งหลาย หรือจะไปจ่ายหนี้จ่ายสิน ชำระค่าน้ำค่าไฟเลยไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของดิจิทัล วอลเลตนั้นต้องการให้ประชาชนนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายแหล่เป็นหลัก
จะร้านค้าในชุมชน ร้านรวงในตลาดทั้งในระบบ นอกระบบอย่างไรก็ได้ แต่ในส่วนของร้านค้าชุมชน ร้านรวงที่จะเข้าร่วมต้องลงทะเบียนรับสิทธิ์เท่านั้น
ด้วยเม็ดเงิน 5 แสนล้าน กับงบประมาณอีก 1 แสนล้าน ที่รัฐสนับสนุนโครงการนี้หรือรวมแล้วกว่า 6 แสนล้านบาทนั้น ภายใต้เงื่อนไขข้างต้นเหล่านี้ มีหรือที่จะไม่ทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจสะพัดขึ้นมา แบบที่เราเรียกว่าเงินกำลังจะหมุนไปอไรนั่นแหล่ะ
แค่ดิจิทัล วอลเลตหมุนไป 2-3 รอบ ก็สร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว และอาจจะสะพัดไปได้ถึง 2-3 ล้านล้าน ในระยะ 3 ปีของโครงการที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดเอาไว้ในเดือนเมษายน 2570
ตลอดระยะเวลาร่วมทศวรรษ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า “ถอยหลังลงคลอง” อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเหลือแต่กำลังขับเคลื่อนของภาครัฐเท่านั้น
ขณะที่ภาคการลงทุนเอกชน และภาคครัวเรือนนั้นยังคงอยู่ในภาวะหืดจับ หายใจไม่ทั่วท้อง แม้รัฐบาลจะพยายามเข็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ โครงการลงทุนทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้หรือแลนด์บริดจ์ แต่โครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล
การจะหวังพึ่งการบริโภคในภาคครัวเรือนโดยตรงในภาวะเศรษฐกิจปัจุบันที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ไม่มีความชัดเจนเพียงพอนั้น รัฐจำเป็นต้องสร้างแรงกระตุ้น อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนจับจ่ายใช้สอยได้เต็มที่
หนทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยยามนี้ จึงต้องมาลงเอยที่ “ดิจิทัล วอลเลต” เป็นคำตอบสุดท้าย
ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องตรา ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินมารองรับการดำเนินการโดยตรง หลังจากแสวงหาหนทางในอันที่จะใช้เม็ดเงินในช่องทางอื่น ๆ แล้วพบว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหันมาใช้การกู้เงินมาดำเนินการ
แม้การกู้เงินมาดำเนินการในลักษณะนี้หลายฝ่ายจะมองว่าไม่ต่างไปจากที่รัฐบาลชุดก่อน “กู้มาแจก” เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ได้ไม่คุ้มเสีย แต่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ขณะที่ภาครัฐเองยังมีโครงการที่จะดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงการดิจิทัล วอลเลต อย่าง e-Refund คืนภาษีให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการที่ไม่ได้สิทธิดิจิทัล วอลเลต ปัจจัยเกื้อหนุนเหล่านี้ จะทำให้ประชาชนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยตามมาแน่ ผิดกับในอนาคตที่เม็ดเงินที่ได้มานั้น จะถูกเก็บเป็นเงินสำรอง เพราะไม่มั่นใจในระบบเศรษฐกิจ!
แก่งหิน เพิง