ขณะที่แบงก์ชาติ ตั้งแท่นคัดค้าน-ทักท้วงนโยบายแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเลต” ของรัฐบาล ด้วยข้ออ้าง “ได้ไม่คุ้มเสีย” ไม่ได้เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เป็นการกระตุ้นค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กดดันอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น
จนคณะกรรมการนโยบายการเงิน และ ธปท. ต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดเป็น 2.50 % ก่อนที่แบงก์พาณิชย์จะตบเท้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากตามมายกแผง ทำเอาลูกหนี้เงินกู้และภาคธุรกิจหืดจับ หายใจไม่ทั่วท้อง คนส่งหนี้บ้านออกมาโอดครวญเงินที่ส่งไปถูกตัดเป็นดอกเบี้ยหมด แทบไม่เหลือตัดเงินต้น
แต่ในมุมมองของอดีตคนคลังอย่าง นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ออกมาเตือนล่าสุดว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญภาวะเงินฝืดที่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดของ ธปท.
โดยระบุว่า ขณะนี้สัญญาณเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาที่ -0.31% น่าจะถือเป็นการ “ตบหน้า” ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อ้างเงินเฟ้อสูงในการปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางความตกใจและถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด
“ภาวะเงินฝืดที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมิใช่เป็นผลกระทบจากโลก แต่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดทางนโยบายเป็นหลัก และเป็นความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายสูงมากกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบและน่าจะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องมี Fiscal Stimulus ออกมาแก้ไขความผิดพลาดของแบงก์ชาตินี้”
มุมมองของอดีตคนคลังข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า หากในระยะ 3-6 เดือนจากนี้ หากรัฐบาลยังไม่สามารถทำคลอด ดิจิทัลวอลเลต อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ ก็เห็นทีเศรษฐกิจไทยจะ “กู่ไม่กลับ” แน่
ดังนั้น ความหวังเดียวในอันที่จะประคับประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเดินเครื่องต่อไป จึงอยู่ที่เม็ดเงิน “ดิจิทัล วอลเลต” จำนวน 5-6 แสนล้านบาทนี้ จะดีเดย์ออกมาเมื่อไหร่เท่านั้น
หมายเหตุ:
ประวัติ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จาก University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาหลักสูตร Advanced Management Program จาก Harvard Business School หลักสูตร Financial Institutions Governance Program (FGP) หลักสูตร Role of the Chairman Program (RCP) หลักสูตร Financial Statements for Directors (FSD) และหลักสูตร Director Certification Program (DCP) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
นายพงษ์ภาณุ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานราชการและองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น รองปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ประธาน บริษัท โรงแรมเอราวัณจำกัด (มหาชน) กรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน นอกเหนือจากการเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) นายพงษ์ภาณุ ยังดำรงตำแหน่งในกิจการอื่นที่สำคัญ เช่น กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน บริษัท ฝาจีบ จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท เมกาเคม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)