ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ศึกษาแนวเส้นทางและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) อำเภอสิชล ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย รองรับการเติบโตของอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในอนาคต
ทช. ได้ดำเนินโครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ อำเภอสิชล, ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 2 ในพื้นที่จังหวัด (ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา) โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ออกแบบเชิงหลักการ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับ ทล.401 บริเวณ กม.ที่ 242+500 บริเวณวัดปากด่าน ตามแนวถนนทางเข้าบ้านคงคาวดี จากนั้นเลี้ยวไปทางบริเวณหมู่ 2 ตำบลเสาเภา แล้วไปทางถนนเลียบชายทะเล ผ่านคลองเสาเภา แนวเส้นทางจะเลี้ยวขนานแนวชายฝั่งแล้วออกแบบเป็นสะพานข้ามคลองหิน ถัดมาจึงออกแบบเป็นสะพานข้ามคลองกลาย จนไปบรรจบกับถนนทางหลวงชนบทสาย นศ.3008 แล้วเลี้ยวผ่านวัดโคกตะเคียน ไปยังถนนทางหลวงชนบทสาย นศ.3027 เลียบแนวชายหาดอีกครั้ง ผ่านวัดทางขึ้น พิพิธภัณฑ์หาดทรายแก้ว ตรงบริเวณนี้ได้ออกแบบเป็นสะพานข้ามคลองบ่อนนท์ แล้วไปสิ้นสุดแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับ ทล.401 บริเวณ กม.ที่ 271 รวมระยะทางโครงการประมาณ 31 กิโลเมตร
โดยรูปแบบทั่วไปของโครงการออกแบบเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างเขตทาง 6-15 เมตร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3 เมตร มีทั้งถนนแบบที่มีไหล่ทาง กว้างข้างละ 1.5 เมตร และถนนแบบไม่มีไหล่ทาง แนวสายทางส่วนใหญ่อยู่บนแนวถนนเดิม เพื่อลดผลกระทบด้านการขออุทิศที่ดินของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด รวมถึงยังได้ดำเนินการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรม บริเวณคลองหินและบริเวณคลองกลายเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีแนวคิดการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ส่งเสริมอัตลักษณ์ของท้องถิ่นสามารถเชื่อมต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ ทช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯ ความเป็นมา ลักษณะโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน ขอบเขตการศึกษา พร้อมทั้งได้ตอบข้อซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว จำนวน 4 ครั้ง ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยถึงแนวทางในการพัฒนาถนนสายดังกล่าว