หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประโคมข่าวการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของการรถไฟครั้งใหญ่ ด้วยการพัฒนาระบบ “จองตั๋วล่วงหน้า” ขยายเวลาเปิดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าจากเดิม 30 วัน เป็นสูงสุดเป็น 90 วัน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสจองซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ยาวนานขึ้น
โดยสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือระบบจองตั๋วโดยสารออนไลน์ D-Ticket ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มนำร่อง 8 ขบวนพรีเมียม ซึ่งเป็นขบวนรถใหม่ล่าสุดของ รฟท. ชุด 115 คัน (CNR) ในเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ก่อน
โดยเส้นทางที่จะเปิดให้บริการ ดังนี้..
สายเหนือ จำนวน 2 ขบวน เที่ยวไป ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีเชียงใหม่ เที่ยวกลับ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 10 สถานีเชียงใหม่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 ขบวน เที่ยวไป ขบวนด่วนพิเศษที่ 23 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอุบลราชธานี เที่ยวกลับ ขบวนด่วนพิเศษที่ 24 สถานีอุบลราชธานี-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เที่ยวไป ขบวนด่วนพิเศษที่ 25 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหนองคาย เที่ยวกลับ ขบวนด่วนพิเศษที่ 26 สถานีหนองคาย-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
สายใต้ จำนวน 2 ขบวน เที่ยวไป ขบวนด่วนพิเศษที่ 31 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหาดใหญ่ เที่ยวกลับ ขบวนด่วนพิเศษที่ 32 สถานีหาดใหญ่-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
แต่หลังจาก “ดีเดย์” ระบบจองตั๋วล่วงหน้าได้แค่ชั่วโมงเดียว ก็ถึงกาลอวสาน โปรดติดตามผลงานอันเลื่องชื่อตอนต่อไปกันทันที!
เพราะระบบจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ว่านั้นไม่เพียงจะสร้างความสับสนให้ผู้คน ที่ต้องมานั่งคำนวนว่า เส้นสถานีที่จะตีตั๋วไปนั้น คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของระยะทาง จะจองได้กี่วัน กี่เดือน สามารถจอง่วงหน้าได้ 30 วัน หรือ 90 วันตามประกาศ ก่อนที่ระบบจองตั๋วออนไลน์จะ “ล่มสนิท” ประชาชนผู้โดยสารไม่สามารถเข้าระบบออนไลน์จนปั่วป่วนได้ และมีข่าวว่า การรถไฟฯ ยังไม่ได้นำเอาขบวนที่เปิดจองล่วงหน้าเข้าระบบ ก่อนที่ต่อมาจะมีกระแสข่าวสะพัดไปอีกว่าเปิดจองตั๋วได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เต็มทุกเที่ยวแล้ว
ที่ผู้คนสับสนจนทัวร์ลง ก็เพราะด้วยเงื่อนไขที่ตั้งไว้ อาทิ หากจะเดินทางไปสายเหนือ ผู้โดยสารที่จะจองตั๋วเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปสถานีลพบุรี ถือเป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทาง จะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้เพียง 1 วันเท่านั้น หากตีตั๋วไปจนถึงสถานีพิษณุโลก จึงจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางตั้งแต่สถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ไปจนสุดสายสถานีเชียงใหม่ จึงจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วันได้
เช่นเดียวกับสายใต้ที่เป็นสายยาวที่สุดนั้น หากผู้โดยสารจองตัวจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปถึงสถานีหัวหิน ประจวบฯ ถือเป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่า 25% ของระยะทางขบวนรถจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้แค่ 1 วันเท่านั้น หากระยะทางเกินจากนั้น ไปจนถึงสถานีชุมพรจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน และผู้โดยสารที่เดินทางสายยาวตั้งแต่สถานีสุราษฎร์ธานีเป็นต้นไป จึงจะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน
“ไม่งงในดงกล้วย” ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว ตกลงแต่ละสายมีรถไฟขบวนเดียวหรืออย่างไร ไม่มีรถไฟไปสิ้นสุด แค่สถานีพิษณุโลก สถานีศิลาอาสน์ หรือสถานี เพชรบุรี -หัวหินหรืออย่างไร ถึงจองตั๋วล่วงหน้าระยะยาวไม่ได้ หากจะวางแผนไปนอนหัวหิน เป็นถิ่นมีหอย ต้องรอซื้อตั๋ววันไปเลยหรือจองล่วงหน้าได้อย่างมากก็แค่ 1 วันเท่านั้นหรือ
มิน่าเล่าสารพัดทัวร์จึงตีตั๋วมาลงการรถไฟฯ จนต้องถอดโฆษณาระบบจองตั๋วล่วงหน้าอันเป็นผลงานชิ้นโบแดงทิ้ง!
และร้อนถึง นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลการรถไฟ ต้องออกมา “ตั้งโต๊ะ” ชี้แจงสื่อมวลชนวันวานให้ปรับระบบจองตั๋วกันใหม่ยกกระบิ เพื่อลดความสับสนของประชาชน โดยระบุว่า ไม่ว่าผู้โดยสารจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล หากอยู่ในเส้นทางของ 8 ขบวนดังกล่าว สามารถจองตั๋วล่วงหน้าใน 90 วัน และหลังจากเปิดให้จองวันแรก เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนเข้าไปจองตั๋วช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือขาไป ช่วงวันที่ 28-31 ธ.ค. 2566 ขากลับวันที่ 1-2 ม.ค. 2567 ครบทั้ง 4,000 ที่นั่งแล้ว ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกับขบวนรถปกติ ซึ่งจะเปิดให้จองก่อนวันเดินทางล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งในช่วงปกติมียอดการเดินทางอยู่แล้ว 80,000 คนต่อวัน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ 20% อย่างไรก็ตาม หากพบว่า มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ทางการรถไฟจะมีการเพิ่มขบวนรถเสริมต่อไป
“เร็วๆ นี้ มีนโยบายให้การรถไฟขยายวันจองตั๋วล่วงหน้าเป็น 6 เดือน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่หลายประเทศใช้รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นการเพิ่มโอกาสในการวางแผนเดินทางล่วงหน้า และมีส่วนช่วยในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและบริการในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย”
นี่แหล่ะหนา ที่เขาว่า รถไฟก็ยังคงเป็นรถไฟ พัฒนาระบบจองตั๋วล่วงหน้าไปต่อไหนถึงไหน ผู้คนก็ยังไปออจองตั๋วล่วงหน้าที่สถานีรถไฟหัวลำโพงกันวันยังค่ำ จริงไม่จริง!