เทศกาลลอยกระทง...ลอยโคม...รวมถึงอีกหลายเมนูอาหารไทย และฉากถ่ายทำที่สำคัญในละคร “พรหมลิขิต” ล้วนขึ้นชั้น “ซอฟท์พาวเวอร์” ให้ “รัฐบาลเศรษฐา” ได้ตักตวง ผ่านแผนยุทธศาสตร์ หนุน “11 สาขาในอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์” กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในห้วงปลายปี คาดเงินสะพัดหลายหมื่นล้านบาทและผู้คนไทย – เทศ ต่างตบเท้าร่วมงานเทศกาลสำคัญฯ อีกหลายสิบล้านคน
การปลุกกระแส “ไทย - ซอฟท์ พาวเวอร์” ของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งได้มีการจัดประชุมนัดแรกไปเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ถือว่าเลือกทำได้ตรงและเข้ากับกระแส “ออเจ้า ฟีเวอร์” ในละคร “พรหมลิขิต” ที่เริ่มแพร่ภาพตอนแรกไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเช่นกัน
11 สาขาที่อยู่ในข่ายจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน กระทั่งได้รับการพัฒนาให้เป็น อุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ ประกอบด้วย...สาขาทางด้าน 1. อาหาร 2. กีฬา 3. เฟสติวัล 4. ท่องเที่ยว 5. ดนตรี 6. หนังสือ 7. ภาพยนตร์ 8. เกม 9. ศิลปะ 10. การออกแบบ และ 11. แฟชั่น
หลายสิ่งในนั้น ละคร “พรหมลิขิต” ได้สอดแทรกไว้ในเนื้อหาไปแล้ว โดยเฉพาะหลากหลายเมนูอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็น... หมูกระทะ กุ้งเผา น้ำจิ้มซีฟู้ด ปลาตะเพียนทอด ปลาช่อนเผาเกลือ หมูสล่ง กะเพราไข่ดาว ข้าวราดไข่เจียวฟู ต้มจับฉ่าย ฯลฯ รวมถึง ขนมหวาน “อิงความรัก” อีก 4 เมนู ที่ “พ่อริด” ทำให้สาวคนรักอย่าง “แม่พุดตาน” ได้ทานนั้น
ล้วนแล้วแต่ทำให้ “แฟนละคร” ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่แอบเข้าไปชมละครสุดฮิตของเมืองไทยเรื่องนี้...อดน้ำลายไหลไม่ได้ หลายคนตามรอยทั้งกลับไปทำกินกันเองและเดินตามหาร้านอาหารอร่อยๆ เพื่อสั่งบรรดาเมนูอาหารข้างต้นมารับประทาน จนกลายเป็นกระแสอยู่ในเวลานี้
รวมถึง “ซอฟท์ พาวเวอร์” ด้านการท่องเที่ยวและเสื้อผ้าแฟชั่น ที่แฟนละครหลายคน ต่างเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองกรุงเก่า “อยุธยา” รวมถึงเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ อีกสถานที่สำคัญในการถ่ายทำละครเรื่องนี้ จนอุ่นหนาฝาคั่ง ด้วยชุดเสื้อผ้าไทยย้อนยุค
แน่นอน...พระปรางค์วัดอรุณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ก็ถือเป็นอีก “ฉากหลังสำคัญ” ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชุดไทยโบราณ ที่ต่างก็แห่แหนกันเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ในห้วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ก็เช่นกัน ในละคร “พรหมลิขิต” ได้จัดแสดงฉากยิ่งใหญ่สุดอลังการ ในงาน “พระราชพิธีจองเปรียง” ฉากที่ได้ระดมพลบรรดานักแสดงตัวละครสำคัญ ตั้งแต่...พระเจ้าท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” (เจ้าฟ้าพร) บรรดาอัครมเหสี มเหสี พระราชโอรส พระบรมวงศานุวง รวมถึงบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่
แน่นอน ตัวพระ (พ่อริด) – นาง (แม่พุดตาน) และ บรรดาพระรอง-นางรอง ทั้งหลาย ยัน บ่าวไพร่ ต่างร่วมแสดงในซีนนี้อย่างล้นหลาม กลายเป็นอีก “ไฮไลต์สำคัญ” ของละครเรื่องนี้
“พระราชพิธีจองเปรียง” หรือ “ลอยกระทงพระประทีป” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย หรือเมื่อกว่า 700 ปีก่อนนั้น ถือว่าเป็น “ต้นแบบ” ของเทศกาลลอยกระทงในเวลาต่อมา และจัดเป็น “งานเฟสติวัล” หนึ่งใน 11 แผนโปรโมท “ไทย - ซอฟท์ พาวเวอร์” ของรัฐบาลเศรษฐาในวันนี้
เช่นกัน กระแสเทศกาล “ลอยกระทง” ที่รวมเอาการ “ลอยโคม” ในภาคเหนือ และอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทย เข้าไว้ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ กลายเป็นการถวิลหาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งที่เคยมีประสบการณ์ตรง จากการเข้าร่วมงานฯในปีก่อนๆ
รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่เคยสัมผัสและมีโอกาสเข้าร่วมทั้งงาน “ลอยกระทง” และ “ลอยโคม” แต่ได้รู้ได้เห็นจากคลิปต่างๆ ที่เพื่อนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ได้ถ่ายทำและนำเสนอผ่านช่องทางเครือข่ายโซเชียลมีเดีย กระทั่งจนต้องเดินมาสัมผัสและเห็นกับตาของตัวเอง
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในห้วงเวลานี้ มีมากมายหลายไฟต์บิน จนแน่นสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งแถลงผ่านสื่อมวลชนเมื่อไม่กี่วันก่อน ถึงการจัดเทศกาล “ลอยกระทง” ในปี 2566 นี้ ว่า จากข้อมูลการค้นหา “คำสำคัญ” ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ พบการรายงานผลการค้นหา “ที่พัก” ในประเทศไทยบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 17 ในช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2566 โดย “กรุงเทพฯ” ติดอันดับจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของไทย ตามมาด้วย...เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เกาะสมุย หัวหิน เกาะพะงัน และกระบี่
จากข้อมูลการจองที่พักบน แพลตฟอร์ม Airbnb ในประเทศไทย พบว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนค้นหาที่พักเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 และมียอดจองที่พักในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ การค้นที่พักของชาวออสเตรเลียเพื่อเดินทางมาประเทศไทยช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16
ทั้งนี้ ในปี 2566 มียอดการจองที่พักในประเทศไทยผ่าน Airbnb ทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย ผู้บริหารของ Airbnb กล่าวว่า “ความน่าดึงดูดของประเทศไทยในระดับนานาชาติยังคงแข็งแกร่ง โดยนักเดินทางจากทั่วโลกมีความสนใจที่จะได้มาสัมผัสกับเอกลักษณ์ของไทย ทั้งการต้อนรับ วัฒนธรรม อาหาร และประเพณีของไทย”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังอ้างอิงคำพูดของ นายกฯ เศรษฐา ด้วยว่า... “นายกรัฐมนตรีหวังว่าประเทศไทยจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินการกำหนดนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ตรงจุด ทันกระแสความนิยม รวมทั้งหวังว่านโยบายเชิงรุกด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล จะเป็นแรงขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้”
พร้อมกันนี้ นายชัย ยังขอให้ชาวไทยทุกคนร่วมกันเป็น “เจ้าบ้านที่ดี” ในช่วงเทศกาลลอยกระทง และในห้วงเทศกาล High Season ของปีนี้ เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมายังประเทศไทยอีกในปีต่อๆ ไป
สำหรับประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวและปริมาณเงินที่จะหมุนเวียนสะพัดในห้วงเทศกาลสำคัญ “หนึ่งปี...มีครั้งเดียวและจัดในวัน (คืน) เดียว” นั้น หากไม่นับรวมนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีเกินหลัก “สิบล้านคน” แล้ว คาดว่า... จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในประเทศไทยอีกหลายแสนคน จะเดินทางไปร่วมงานเทศกาล “ลอยกระทง” ในจังหวัดและพื้นที่ต่างๆ
นอกจาก... กรุงเทพมหานคร แล้ว จังหวัดสุโขทัย “ต้นแบบ” ของประเพณีนี้ และ จังหวัดอยุธยา สถานที่ที่ละคร “พรหมลิขิต” พูดถึงเกือบตลอดทั้งเรื่อง ถือเป็น 2 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างลงชื่อจองเข้าร่วมงาน...จังหวัดละหลายแสนคน
จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่มีประเพณี “ลอยโคม” ไปพร้อมกับพิธี “ลอยกระทง” ต่างก็ถูก “ปักหมุด” จับจองโดยนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติไปอีกหลายแสนคนเช่นกัน
จังหวัดสำคัญของภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงภาคใต้ อย่าง...ภูเก็ต พังงา ฯลฯ ล้วนตกเป็น “เป้าหมายสำคัญ” ของการเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศงานพิธี “ลอยกระทง” และ “ลอยโคม” ในสัดส่วนที่ไม่ต่างจากจังหวัดสำคัญๆ สักเท่าใด
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลโพลล์ที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของหนุ่มสาวชาวไทยในห้วงเทศกาล “ลอยกระทง” เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า...
“ลอยกระทงปีนี้ การใช้จ่ายตามกิจกรรมต่อคน จะเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1,900-2,000 บาท เพื่อมาจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวในช่วงวันลอยกระทง ส่งผลให้ปี 2566 เงินสะพัดจากเทศกาลลอยกระทงจะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ถือว่าดีขึ้นในรอบ 8 ปี และมองว่าเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหวแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจไทยเริ่มที่จะกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่าจะฟื้นตัวเต็มทีในช่วงครึ่งหลังของปี 2567”
ทั้งหมด! คือ... อิทธิพล “ไทย - ซอฟท์พาวเวอร์” ที่อาจเป็นอีกหนึ่งใน “กุญแจดอกสำคัญ” ต่อการนำมาใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ให้กลับคืนมาอยู่ในระดับ “แถวหน้า” ของชาติอาเซียน เช่นที่ “รัฐบาลเศรษฐา” คาดหวังเอาไว้ก็เป็นได้!!!