บอกได้ตำเดียวว่า ...สุดจึ้ง!
กับเรื่องที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เตรียมปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge: PSC) หรือที่ผู้คนเขาสัพยอกว่า “ค่าหายใจในสนามบิน” ในสนามบินของ ทอท. ทั้ง 6 แห่งอีก 30 บาทต่อคนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป
โดยผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศจาก 700 บาท เป็น 730 บาทต่อคน และผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ จาก 100 บาทเป็น 130 บาทต่อคน ด้วยเหตุผลที่ AOT จำเป็นต้องมีการลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน อาทิ การบริการตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง ยกระดับการให้บริการของเคาน์เตอร์เช็กอิน และบริการเช็กอินด้วยตัวเองอัตโนมัติ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยารที่จะเพิ่มขึ้น รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ประกอบกับ AOT ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่า PSC มาเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว ครั้งล่าสุดเมื่อเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในปี 2549 จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกีรติ มานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า ผลพวงจากการปรับค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะทำให้ AOT มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 3,600 ล้านบาทต่อปี (และคงทำให้ AOT มีกำไรทะลักเกินระดับ 10,000 ล้านบาท) แต่ยืนยันว่าการขอปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการหายใจในสนามบิน ทอท. ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นการย้ายหมวดการจัดเก็บเท่านั้น จากค่าบริการเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินที่เรียกเก็บรวมในค่าตั๋วโดยสารอยู่แล้ว มาเป็นค่า PSC ซึ่งยังคงรวมอยู่ในค่าตั๋วโดยสาร ไม่ได้กระทบต่อรายจ่ายของผู้โดยสารแต่อย่างใด
"ค่า PSC ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยะสำคัญ เป็นการเพิ่มตามปริมาณผู้โดยสาร เช่น ปี 2567 คาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน ทอท. จำนวน 120 ล้านคน จะทำให้ ทอท. มีรายได้เพิ่ม 3,600 ล้านบาทต่อปี”
ฟังคำชี้แจงของฝ่ายบริหาร ทอท. แล้ว ก็ให้นึกชื่นชมผู้ถือหุ้น AOT เสียจริงที่ได้ผู้บริหารวิชั่นไกลลิบโลกได้ซะขนาดนี้ หลังจากขนหัวลุกซู่จากการที่ ทอท. เอื้ออาทรให้กิจการสัมปทานของตนเองจนสำลักไปแล้ว ก็หันมาไถ่บาปด้วยการปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออกแทน
ช่างเป็นการบริหารกิจการอย่างมืออาขีพที่หาไม่ได้แล้วในสามโลกจริง ๆ ว่าไหม ฯพณฯ ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. ที่เคารพ!
ในขณะที่รัฐบาลพยายามขวนขวายหามาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การงัดมาตรการ VISA Free มาใช้ จนทำให้คาดว่า หากสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวคงจะเข้ามายังประเทศไทยทะลักล้น โดยในส่วนของ ทอท. นั้น คาดการณ์ว่า เฉพาะช่วง Winter Schedule และในปี 2567 นี้ ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการผ่าน 6 สนามบินของ ทอท. น่าจะมากกว่า 51.11 ล้านคน เลยทีเดียว
ขณะที่คาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 66 - กันยายน 67) นั้น คาดว่า จะมีถึง 119.78 ล้าน หรือ 120 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.71% แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 49.48 ล้าน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 70.30 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 30%
รัฐบาลยังขวนขวายหามาตรการแบ่งเบาภาระประชาชนในทุกรูปแบบ ทั้งการปรับราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส ราคาพลังงาน ไฟฟ้า และอาจจะรวมไปถึงราคา NGV สำหรับรถสาธารณะในอนาคตอันใกล้ กระทรวงคมนาคมเองก็เร่งขับเคลื่แนนโยบายค่าโยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนผู้ใช้บริการด้วยอีก
แต่ ทอท. กลับมองนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางเหล่านี้เป็น “หมูตู้” หรือไม่ โดยเชือดรายได้เข้าพกเข้าห่อกันแบบนิ่มๆ อะไรมันจะบริหารได้ง่ายเป็น “หมูตู้” ขนาดนี้ แค่ขึ้นค่าบริการสนามบินหรือค่าหายใจ ก็ได้เงินเข้ากระเป๋าแล้ว 3,600 ล้านแล้ว
ท่านกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และ ฯพณฯ รมต.สุริยะ อาจมองว่า มันเป็นแค่เรื่องจิ๊บจ๊อบเล็กน้อยแค่นี้จะอะไรหนักหนา แต่ ทอท. และกระทรวงคมนาคม คงลืมไปว่า ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็มีแผนจะเชือดหมู เอ้ย! เรียกเก็บค่าธรรมเนียม “เหยียบแผ่นดิน” เอาจากนักท่องเที่ยวอีกคนละ 150-300 บาท ซึ่งเดิมทีจะดีเดย์จัดเก็บมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาแล้ว แต่เนื่องจากยังเป็นช่วงสุญญากาศของรัฐบาล เลยกลัวจะงานเข้า จึงต้องเลื่อนแผนจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไปเป็น 1 มกราคมปีหน้า
ก็อีกแค่ขวบเดือนข้างหน้านี่แหละ ฯพณฯ นักท่องเที่ยวที่กำลังฮัมเพลง “เวลคัมทูไทยแลนด์” คงมึนตึ๊บเกาหัวแกร่ก ๆ ๆ ๆ เข้าประเทศไทยไม่ว่าจะทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ ต้องเจอค่าเหยียบแผ่นดินประเดิมกันซะก่อน เดินสุ่มสี่สุ่มห้าในย่านท่องเที่ยว หรือจะแหล่งโลกีย์ ไม่โลกีย์ จะเจอ “หมาต๋า” หลอกไปเชือดอะไรยังไงก็ไปวัดดวงกันเอาเอง อยากจะเซย์กู้ดบายไปล่ะนะประเทศไทย ก็เจอค่าหายใจในสนามบินก่อนเดินทางเข้าไปอีก
ส่วนที่ว่าเงินค่าธรรมเนียมที่ได้นั้น จะทำให้ ทอท. สามารถนำไปพัฒนาระบบ CUPP บริการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบินได้นั้น เราไม่เถียงหรอบครับ ฯพณฯ ท่าน
แต่เผื่อใครไม่รู้ก็จงรู้เอาไว้ซะนะว่า ในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 65 - กันยายน 66) ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ AOT เมื่อ 23 สิงหาคม 2566 เพิ่งจะอนุมัติจ่ายโบนัสให้แก่พนักงาน ทอท. ไม่มากไม่น้อยแค่ 7 เท่าของเงินเดือนเท่านั้นเอง หลังจากผลประกอบการของ ทอท. ในรอบ 9 เดือนสิ้นสุด 30 มิถุยนายน 66 มีรายได้รวม 33,109 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายคาดว่าคงต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้มีกำไรประกอบการไปแล้ว 5,358.94 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุน 9,755.32 ล้านบาท
แต่ล่าสุดนั้น มีรายงานว่า โบนัสที่ให้ไป 7 เดือนนั้นยังน้อยไปนิด ไม่สมกับการรอคอยมาถึง 3 ปีในช่วงวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ นัยว่า บอร์ด AOT จะพิจารณาปรับเพิ่มให้เป็น 7.2 เท่าของเงินเดือนก็แล้วกัน
หากปีหน้าคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ทะลักล้นไปถึง 119.78 ล้าน หรือ 120 ล้านคน ตามที่ฝ่ายบริหารเปิดแถลงข่าวล่าสุด จนทำให้สามารถโขก ประทานโทษ! จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการผู้โดยสารขาออก (ขาเข้ากระทรวงท่องเที่ยวเขาจัดเต็มบริการไปแล้ว) ได้ 3,600 ล้านบาท
โบนัสพนักงานผู้ปฏิบัติงาน ทอท. ไม่อู้ฟู่ทะลักล้นถึง 12 เดือนก็ให้มันรู้ไป จริงไม่จริงท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เคารพ !!!
ว่าแต่ บมจ.แสนสิริ ที่ ฯพณฯ ท่านนายกฯ เคยบริหาร ทำได้อย่างนี้ไหม?