ประเด็น “หมูเถื่อนเกลื่อนเมือง” ยังร้อนฉ่าไม่หยุด โดยล่าสุด ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกมาชี้ชัดๆ ให้เห็นถึง “ห่วงโซ่คอร์รัปชัน “หมูเถื่อน - กรมศุลกากร” โดยระบุว่า..
การลักลอบนำเข้าหมูแช่แข็งเกิดจากการสมรู้ร่วมคิด 3 ฝ่าย หนึ่งคือ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐในกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง สองคือ กลุ่มนักการเมืองใหญ่ สามคือ กลุ่มนายทุนนำเข้า บริษัทชิปปิ้ง โดยมีนายทุนรับซื้อสินค้าไปจำหน่ายหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นผู้ได้ประโยชน์ก้อนโต
นี่คือห่วงโซ่คอร์รัปชันกรณีหมูเถื่อนที่กำลังเป็นข่าว
ความเสียหายจากขบวนการคนชั่วเหล่านี้จะไม่มีวันหมดไป หากหยุดคอร์รัปชันในกรมศุลกากรและสารพัดหน่วยงานที่ยื่นมือมาเกี่ยวข้องไม่ได้
กรมปศุสัตว์ กรมประมง เกี่ยวข้องได้อย่างไร?
เมื่อสินค้าจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาถึงท่าเรือแล้ว กระบวนการคอร์รัปชันจึงเริ่มต้น ส่วนเอกสารที่เอกชนยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเข้าสินค้าก่อนหน้านี้ถือเป็นขั้นเตรียมการ ไม่ว่ารายการสินค้าที่แสดงจะจริงหรือเท็จก็ตาม
โดยปรกติ ศุลกากรคือผู้มีอำนาจดำเนินพิธีการทางภาษี ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและสินค้า แล้วจึงปล่อยสินค้าออกจากด่านฯ
บางครั้งมีหน่วยงานรัฐหลายแห่งขอมา ‘ร่วมตรวจ – ปล่อยสินค้า’ หากเป็นสินค้าที่เขาเป็นผู้ควบคุม – ออกใบอนุญาตนำเข้า ให้ครอบครองหรือให้จำหน่าย เช่น กรณีเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปจากสัตว์ คือ กรมปศุสัตว์ กรมประมง อาจมี สนง. อาหารและยา ด้วย
เป็นที่รู้กันว่า ในทางปฏิบัติคนจากหน่วยงานอื่นที่ว่านี้ อาจมาร่วมตรวจบ้างไม่มาบ้างหรือแจ้งว่าจะมาตรวจเพื่อให้เอกชนโทรศัพท์มาเคลียร์แล้วจบ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของสินค้าล็อตนั้น ขณะที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ขี้ฉ้อจะคำนวณว่าตนมีโอกาสตบทรัพย์มากแค่ไหน
การเข้ามาเกี่ยวข้องของหน่วยราชการอื่นถือเป็นเรื่องดี แต่บ่อยครั้งที่กลายเป็นสิ่งเลวร้ายเมื่อบางคนใช้เป็นช่องทางโกงกินจนบ้านเมืองเสียหาย
ขั้นตอนนี้ คือ การ ‘เปิดประตู’ ให้ของผิดกฎหมายหลุดเข้าประเทศมาได้ เมื่อมีขบวนการรีดไถหรือเรียกรับสินบนแลกกับการปล่อยผ่านสินค้าที่สำแดงรายการเท็จหรือซุกซ่อนสินค้าอื่นปะปนมา ดังกรณีเนื้อหมูแช่แข็งที่สำแดงรายการเป็นปลาทะเลหรือพลาสติก
เอกสารประกอบการนำเข้าสินค้า (Shipping Documents) จากต่างประเทศเป็นเท็จนี้ อาจทำขึ้นในประเทศต้นทางโดยบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า (เป็นไปได้ยากเพราะกฎหมายเขาลงโทษแรง) หรือบริษัทนายหน้า หรือปลอมแปลงขึ้นในประเทศไทย
เอกสารเหล่านี้สามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้ แต่จะกรณีไหนก็ตามแสดงว่าพวกนี้มีการจัดการเป็นขบวนการ
ในแต่ละวันมีสินค้าผ่านด่านศุลกากรจำนวนมหาศาล ย่อมมีของผิดกฎหมายบางส่วนที่หลุดรอดไปได้ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะแลกด้วยเงินก้อนโตที่เอกชนยื่นให้ มีบ่อยครั้งที่เกิดจากการกดดัน ร้องขอ จากผู้มีอำนาจ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานอื่น
เมื่อหมูแช่แข็งผ่านด่านศุลกากรไปแล้ว เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่จะอนุญาตและควบคุมการเคลื่อนย้าย เก็บรักษาซากสัตว์
ในการดำเนินคดีหมูเถื่อน ขณะนี้ดีเอสไอเป็นผู้รับผิดชอบ มี ป.ป.ง. ร่วมสอบเส้นทางการเงิน แต่หากปรากฏว่าคดีใดมีเจ้าหน้าที่รัฐไปเรียกรับสินบนหรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ คดีนั้นจะตกเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.
“กรมศุลกากร” ปกป้องผลประโยชน์บ้านเมือง ?..
กรมศุลกากรเป็นผู้ดูแลประตูเข้าออกสินค้า รักษาผลประโยชน์ของชาติในการจัดเก็บรายได้และป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าต้องห้าม ถ้าข้าราชการตรงไปตรงมา ประชาชนย่อมได้บริการที่ดีและเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการมองว่า กรมศุลกากรมีปัญหาคอร์รัปชันเชิงระบบ (Systematic Corruption) คือระบบเปิดให้มีการโกงง่าย มีธรรมเนียมปฏิบัติทำให้ใครมาก็ตกอยู่ในวังวนคอร์รัปชันหรือรับประโยชน์จากมัน หรืออีกคำ “กินตามน้ำ”
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันในกรมศุลกากร ประกอบด้วย..
1. กฎระเบียบมีมาก ไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อน มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องในแต่ละเรื่อง เป็นผลจากวัฒนธรรมของราชการที่ต้องการควบคุม จนกลายเป็นภาระการติดต่อ ปัญหาเอกสาร ขั้นตอนการอนุญาตอนุมัติ ความล่าช้าไม่มีกำหนด
2. เจ้าหน้าที่มีโอกาสใช้ดุลยพินิจมาก แม้เรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล สถานที่ เวลา ก็ตัดสินต่างกันได้
3. เจ้าหน้าที่ยังมีทางเลือกด้านผลประโยชน์ส่วนตัวว่า หากดำเนินคดีตนจะได้ส่วนแบ่งเงินรางวัลนำจับ แต่หากตกลงกันได้เขาก็ได้เงินเข้ากระเป๋าทันทีเช่นกัน
4. มีการแทรกแซงกดดันจากผู้มีอิทธิพล ผู้มากบารมี เช่น นักการเมือง ข้าราชการใหญ่
5. ในทางปฏิบัติเอกชนกลัวถูกกลั่นแกล้งด้วยการประวิงเวลา ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อธุรกิจ ยิ่งเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ชี้ว่าผิดจะมีบทลงโทษและค่าปรับสูงมาก
6. พฤติกรรมจ่ายเงินของเอกชนเกิดจากความเคยชินผิดๆ หรือหวังผลประโยชน์มิชอบด้วยกฎหมาย บ่อยครั้งที่คนไม่ชอบการติดสินบน กลับต้องจำยอมจ่ายเพราะไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
7. พลวัตที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ตลาด สินค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนถึงนโยบายรัฐ ส่งผลให้หน่วยงานรัฐ กฎหมาย เปลี่ยนแปลงเร็วจนเจ้าหน้าที่รัฐระดับนโยบายและปฏิบัติการตามไม่ทัน
8. หน่วยงานขาดระบบตรวจสอบภายใน เครื่องมือทันสมัยช่วยให้ทำงานรวดเร็ว ระบบบันทึกข้อมูลให้ศึกษาตรวจสอบย้อนหลัง ขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน หากเกิดคดีความผู้บังคับบัญชามักลอยตัวไม่ต้องร่วมรับผิดชอบแม้รู้เห็นร่วมรับผลประโยชน์ด้วยก็ตาม
พฤติกรรมคอร์รัปชันในกรมศุลกากรที่มีการร้องเรียนบ่อย..
1. กลุ่มพฤติกรรมที่เอกชนเสียหายโดยตรง
1.1 รับเงินใต้โต๊ะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจากชิปปิ้ง หรือผู้มาติดต่อในบางกรณี
1.2 ข่มขู่รีดไถผู้ประกอบการ แม้ไม่ผิดอะไรเลยก็ต้องจ่ายเพื่อมิให้ถูกโยกโย้เสียเวลา
1.3 ปล่อยสินค้าจากท่าเรือแล้วไปดักจับตามทางหรือด่านตรวจหรือมีหนังสือเรียกมาสอบสวน
2. กลุ่มพฤติกรรมที่รัฐเสียหาย
2.1 เรียกรับเงินจากเอกชนแลกกับการจ่ายภาษีต่ำกว่าเป็นจริง
2.2 สมรู้ร่วมคิดกับผู้ประกอบการ สำแดงเอกสาร/สินค้าเท็จ เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เลี่ยงภาษี
2.3 สมรู้ร่วมคิดกันเพื่อให้ได้เงินรางวัลนำจับ (สายลับเทียม) มูลค่านับพันล้านบาทต่อปี
2.4 เบียดบังของกลาง/ทรัพย์สินราชการ เช่น ปี 2565 มีคดีนิติกรรับเงินหนึ่งหมื่นบาทแลกกับการลดค่าปรับ, ปี 2566 ผอ.ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ยักยอกของกลางไปขายมูลค่า 460 ล้านบาท
ใครร้องเรียน..
กรมศุลกากรมักถูกร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันโดยนักธุรกิจส่งออก/นำเข้า ทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่วงปี 2545 – 2559 หน่วยงานนี้ถูกร้องเรียนมากติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ
จนมีคำพูดในหมู่นักธุรกิจต่างชาติว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ไทยจะแก้คอร์รัปชันได้ เพราะมันหยั่งลึกในวัฒนธรรมองค์กรและของประเทศแล้ว ร้องเรียนก็ไม่เกิดผล พูดกันแล้วก็ไม่เห็นทำอะไร ผ่านไปเรื่อยๆ มีมาตรการแก้ไขออกมา เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามก็ได้ เมื่อร้องเรียนก็โดนข่มขู่ ครั้นจะติดสินบนก็เกรงกฎหมายประเทศเขาตามมาเอาโทษ อย่างน้อยกฎของบริษัทแม่ในต่างประเทศคอยควบคุมบังคับ
ระบบดี แต่คนโกง ..เป็นไปได้อย่างไร?..
มีผลการประเมินระดับโลกที่สะท้อนว่า กรมศุลกากรของไทยมีระบบ ขั้นตอน การใช้เอกสาร ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ความสะดวก โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่
1. ธนาคารโลกได้ประเมินและจัดอันดับ Logistics Performance Index (LPI) ปี 2023 ไทยได้อันดับที่ 34 จาก 139 ประเทศ โดยมีสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 มาเลเซียอันดับ 26
หากดูเฉพาะด้านศุลกากร จาก 5 คะแนนเต็ม สิงคโปร์ได้ 4.2 คะแนน ไทยและมาเลเซียได้ 3.3 คะแนนเท่ากัน
2. การจัดอันดับ Ease of Doing Business ที่รวมถึงความสะดวกของกระบวนการศุลกากรด้วยเช่นกัน ไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศ
ข้อมูลเชิงบวกเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ถ้าดีอย่างนี้ ทำไมกรมศุลกากรยังถูกร้องเรียนปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง?’
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า ‘มีกลไกคอร์รัปชัน (ของบุคลากร) ที่ทำงานคู่ขนานไปกับระบบของทางการ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วสำหรับผู้ติดต่อใช้บริการ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทชิปปิ้ง
บทสรุป..
เรื่องสีเทาในกรมศุลกากรดังกรณีหมูเถื่อนนั้น การไล่จับคนโกงมาลงโทษอย่างสาสมคือเรื่องจำเป็น แต่ไม่ใช่ทางออกของปัญหาในระยะยาวเพราะเมื่อแต่งตั้งคนใหม่มาแทน เขาผู้นั้นก็จะอยู่ในวังวนกลโกงต่อไป หากไม่ปฏิรูปหรือพัฒนาระบบและสภาพแวดล้อมการทำงาน
การหยุดปัญหาที่หน่วยงานนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของข้าราชการทุกระดับในองค์กร นักธุรกิจและประชาชนที่ติดต่อใช้บริการ ที่สำคัญคือผู้นำประเทศต้องเข้าใจในปัญหา บวกความตั้งใจจริงที่จะต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันทั้งปวง
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
1 ธันวาคม 2566